Book Review: Blood and Guts in High School แด่เลือดเนื้อและน้ำตาของผู้หญิง

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ 26 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3423 ครั้ง


Blood and Guts in High School โดยนักเขียนแนวสตรีนิยมชื่อดัง Kathy Acker ราวทศวรรษ 1970 เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กหญิงวัยสิบสี่ที่ตายด้วยโรคมะเร็ง เจนนี่ (Janey) ผู้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับจอห์น พ่อแท้ๆของตัวเอง ถูกส่งจากเม็กซิโกบ้านเดิม ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนในอเมริกาหลังจากเเสดงความหึงหวงพ่อกับแฟนใหม่จนผู้เป็นพ่อทนไม่ได้ เธอเข้าร่วมกลุ่มเด็กข้างถนน ใช้ชีวิตทางเพศไม่เลือกหน้า ทำแท้งหลายหนและถูกจับไปขายเป็นทาสกาม นายหน้าค้าทาสสอนให้เธอกลายเป็นโสเภณี ก่อนจะพบว่าเธอเป็นมะเร็ง ใช้การไม่ได้ และส่งเธอออกจากซ่อง เจนนี่ไปพบกับผู้กำกับชาวตะวันตกในดินเเดนแถบอียิปต์ เดินทางท่องเที่ยวกันสักพักก่อนที่เขาจะทิ้งเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้ เธอตายในท้ายที่สุดอย่างโดดเดี่ยว

Kathy Acker เขียนเรื่องนี้ด้วยแนวคิด Mimesis ของ Luce Irigaray ที่เสนอว่าการเขียนของผู้หญิงควรจะเป็นการเขียนที่ลอกเลียนแบบจากการเขียนของผู้ชาย และมองหาการใช้คำและความหมายที่จะสั่นคลอนอำนาจดั้งเดิมของระบอบปิตาธิปไตยให้ได้ แทนที่จะพยายามค้นหาการเขียนในแบบของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ตลอดทั้งเรื่อง หากเราจะอ่านในมุมมองที่ว่า เจนนี่เป็นเด็กใจแตก ไม่ยอมไปเรียนหนังสือ เอาแต่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มมากมายและจบชีวิตลงอย่างไม่มีใครสนใจ ก็คงจะได้ แต่ถ้าเราจะอ่านในอีกมุมหนึ่ง Acker เลือกที่จะเขียนชีวิตของเจนนี่อย่างเหยียดหยาม เจนนี่เป็นเด็กหญิงที่ไม่เคยคิดอะไร หรือถ้าจะพูดให้ถูก คือเธอไม่อยู่ในฐานะจะคิดอะไรได้นอกจากความฝันเฟื่องเเฟนตาซีทางเพศ การไขว่คว้าหาความรักในรูปแบบของเพศจากพ่อและผู้ชาย เหล่านี้ก็คงจะทำให้คนอ่านสะอึกอยู่ไม่น้อย อย่างไม่นึกว่านี่จะเป็นนิยายจากนักสตรีนิยม

ในตอนเเรก พ่อคือโลกของเจนนี่ ย่อหน้าแรกของนิยายบรรยายว่า ในสายตาของเด็กหญิง พ่อของเธอคือ "เพื่อนชาย,พี่ชาย,พี่สาว,เเหล่งเงิน,ความสนุก และพ่อ" (7) “boyfriend, brother, sister, money, amusement, and father." หากจะดูจากการเรียงลำดับความสำคัญ หน้าที่ของจอห์น ผู้เป็นพ่อ ก็ดูจะเริ่มจากเพื่อนชาย จนมาสุดท้ายที่ความเป็นพ่อ และก็ถูกที่ว่าตลอดช่วงเเรกของนิยายจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างลูกสาวและพ่อ (incestuous sexual relationship) แต่ความสัมพันธ์ทางเพศของทั้งคู่ไม่ได้เป็นไปอย่างสุขสม จอห์นเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์กับลูกสาวเฉพาะในเวลาที่เปลี่ยวอย่างถึงที่สุดถ้าไม่ได้ออกไปเจอกับเเฟนสาว และสำหรับเจนนี่เธอไม่ได้มีความสุขแม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่มีคือความเจ็บปวดจากการร่วมเพศ อย่างชนิดที่เรียกว่า "เจ็บอย่างกับนรก" “hurts her like hell” (10) เนื่องจากเธอติดโรคจากเพศสัมพันธ์

ฉากหนึ่งที่ Acker บรรยายได้อย่างสุดโต่ง เป็นภาพตัดกันระหว่างความงามและการร่วมเพศอันทรมาน คือสภาพห้องนอนของเจนนี่และการร่วมเพศของคนทั้งคู่ "เงาของต้นไม้ในห้องที่ทับซ้อนไปมาดูสวยอย่างประหลาด มันดูสะอาดและชวนฝัน เขาร่วมเพศกับเธอจากข้างหลังเพราะการติดเชื้อทำให้อวัยวะเพศของเธอเจ็บปวดอย่างมาก แม้ว่าเธอจะไม่ได้บอกเขาว่ามันเจ็บปวดอย่างที่่สุดก็ตาม เพราะเธอต้องการที่จะสัมผัสกับความรักของเขามากกว่าจะรู้สึกเจ็บปวด" (18)

“The plants in her room cast strange, beautiful shadows over the other shadows. It was clean, dreamlike room. He fucked her in her asshole cause the infection made her cunt hurt too much to fuck there, though she didn’t tell him it hurt badly there, too, cause she wanted to fuck love more than she felt pain.”

Acker ไม่ได้อธิบายว่าทำไมจอห์นจึงเลือกจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับลูกสาวตัวเอง และตลอดทั้งเรื่อง เหตุผลก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่เธอเลือกบรรยายให้เรื่องดำเนินไปอย่างมีตรรกะ ความผิดบาปของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกและประเด็นทางศีลธรรมไม่ได้รับการเอ่ยถึงในนิยายเรื่องนี้ Acker เขียนให้เราเข้าใจว่าความรุนแรงและการกดขี่จนทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาในระดับจิตใต้สำนึกชนิดที่ว่าไม่ต้องมีคำอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเด็ก การมีเพศสัมพันธ์กับพ่อ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศ การถูกจับและส่งไปขายที่ซ่องและตายด้วยโรคมะเร็งในอายุเพียงสิบสี่ปี สิ่งที่เจนนี่เป็น คือ เด็กหญิงวัยสิบปีที่ "แม้จะสาวกว่าแฟนของพ่อ แต่เธอเป็นเพียงเนื้อที่เน่าเปื่อย ไม่สามารถที่จะเป็นผู้หญิงที่สวยและมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับผู้หญิงอีกคนได้เลย" (18) หรืออีกนัยหนึ่ง เจนนี่ถูกทำให้เป็น “ผู้หญิง” ที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้เลย เธอไม่ได้มีความหมายอะไรหากปราศจากความรักจากพ่อ

และแม้เมื่อออกจากบ้านมาแล้ว การโหยหาความรักจากเพศชายของเจนนี่ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เธอตกหลุมรักนายหน้าค้าทาสกามและวิงวอนไม่ให้เขาปล่อยเธอออกจากซ่องและแต่งงานกับเธอ อย่างไรก็ตาม ความรักที่เธอต้องการมากที่สุดคือความรัก (หรืออวัยวะเพศของพ่อ) เธอโหยหามันอย่างสิ้นหวัง เมื่อรู้ว่าเขาไม่ต้องการเธออีกต่อไป และแม้เเต่การฝันถึงอวัยวะเพศของพ่อ "เธอเพียงต้องการสัมผัสมันอีกซักครั้งแค่เสี้ยววินาที แค่ได้จูบสั้นๆ" (70) ตลอดทั้งชีวิตของเจนนี่ เพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลากหลายและอวัยวะเพศของพ่อคือตัวแทนของความรักที่เธอต้องการจะได้รับ แม้มันจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด เธอก็ยังเชื่อว่ามันคือความรักที่เธอปรารถนาทั้งที่ความเป็นจริง เพศชายคือสิ่งที่กดขี่และทำร้ายเธอ

วิธีที่ Acker ใช้บรรยายความรู้สึกเจ็บปวดของเจนนี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เจนนี่รู้สึกถึงความเจ็บปวดระหว่างการร่วมเพศกับพ่อ แต่ความเจ็บปวดนี้อธิบายไม่ได้และเธอรู้สึกกับมันเสมือนเป็นยาเสพติด ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไหร่เธอก็ยิ่งอยากจะมีความสัมพันธ์ทางเพศมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Acker ไม่ได้บรรยายว่าเด็กหญิงรู้สึกเช่นนี้กับการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นที่ตนเองเป็นฝ่ายเลือกที่จะมีความสัมพันธ์ด้วยเพื่อแทนที่ความสัมพันธ์กับพ่อ หากเราจะยึดคำนิยามของ "พ่อ" อย่างที่ผู้เขียนเน้นไว้ในตอนเเรกว่าเป็นทั้งเพื่อนชาย พี่ชาย พี่สาว เเหล่งเงิน ความสนุก และพ่อ ก็อาจจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นถึงสิ่งที่ Acker มองเห็นการกดทับของสังคมต่อผู้หญิง ที่ทำให้เจนนี่มีสภาวะประหนึ่งผู้ถูกข่มขืนภายใต้มายาคติของความรัก เจนนี่รู้ว่าตัวเองเจ็บปวดอย่างมากเมื่อต้องร่วมเพศ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องอธิบายความรู้สึกนั้น มันกลับปนเปไปด้วยความรู้สึกของการโหยหา ไขว่คว้าและพยายามที่จะให้ได้มันมาอีกครั้งและอีกครั้ง ความปรารถนาทางเพศอย่างไม่จำกัดเป็นเพียงหนทางที่นำไปสู่ความรู้สึกนั้นเท่านั้นและเเม้ว่าจะเจ็บปวดมากเพียงใด

"เธอยังคงพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะร่วมเพศอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อที่จะได้รับความรัก" “I didn’t know how much these abortions hurt me physically and mentally. I was desperate to fuck more and more so I could finally get love.” (35)

วงจรของเจนนี่จึงดูเป็นวัฎจักรที่ไม่สิ้นสุดของการร่วมเพศ เจ็บปวด ทำแท้ง ร่วมเพศอีกครั้งและอีกครั้งอย่างขูดรีดตัวตนภายในและร่างกายของเธอเอง Acker ได้เสนอประเด็นเหล่านี้ด้วยภาพแทนของเด็กหญิงที่ทำให้ผู้อ่านต้องหยุดคิดอย่างมากหลังจากที่พยายามเข้าใจว่าทำไมเธอจึงรู้สึกเสพติดกับความเจ็บปวดได้มากขนาดนี้ และนี่คือความเป็นจริงของผู้หญิงที่วิ่งตามหาความรักที่มาพร้อมกับการถูกกดขี่และข่มขืนจากสังคมชายเป็นใหญ่ใช่หรือไม่ แทนที่จะเสนอภาพของการกดทับของระบอบปิตาธิปไตย Acker กลับเลือกที่จะเขียนเกี่ยวกับการไล่ล่าหาความรักของผู้หญิงที่มาพร้อมกับการเสียเลือดเนื้อและน้ำตาไปอย่างสุดโต่ง ไม่ต่างจากนิยายทั่วไปที่พยายามกล่อมเกลาให้ผู้หญิงรู้สึกว่าต้องเสียสละตนเองเพื่อความรัก Acker ไปไกลกว่านั้น และปล่อยให้เรื่องราวของเจนนี่ สุดท้ายได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามและท้าทายต่อมุมมองเกี่ยวกับ “ความรัก” ของผู้หญิง

ประเด็นสุดท้ายจากนิยายเรื่องนี้ คือ ความเป็นทาสและอิสรภาพ นอกจากการคิดถึงพ่อและความรักที่ต้องการจากพ่อที่ฝังอยู่ในจิตใจของเจนนี่จนดูจะเป็นการจองจำเธอในรูปแบบหนึ่ง Acker ทำให้เราเห็นการขบคิดของเด็กหญิงหลังจากที่เธอออกจากบ้านและต้องทำแท้งครั้งแรก พร้อมกับคำถามที่ย้อนถามถึงเหล่านักสตรีนิยมในประเด็นเรื่องสิทธิเหนือร่างกายของตนเองว่าจริงๆแล้วการมีอิสรภาพของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องที่ดีงามจริงหรือ ก่อนจะทำแท้ง เจนนี่กล่าวอย่างมีพลังในคราบของนักสตรีนิยมต่อคนอ่านว่า "นี่เป็นวันของการปลดปล่อยของผู้หญิง เราโตเเล้วและกำลังจะต้องดูแลตัวเองเพราะไม่มีใครที่จะมาดูแลคุณหรอก" (33) ก่อนจะเหตุการณ์จะจบลงด้วยความเจ็บปวดด้วยฉากประหนึ่งโรงฆ่าสัตว์ของคลีนิคเก่าๆ เสื้อคลุมราคาถูกและขาหยั่งเหล็กเย็นเฉียบ สาวๆเลือดโชกจากการถูกขูดมดลูกอย่างไม่ปราณีจากหมอเถื่อนและพยาบาล เมื่อรวมเข้ากับความจริงที่ว่าตลอดทั้งเรื่องเรือนร่างของเจนนี่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศและความรักจากผู้ชายเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากความสุขของเธอเอง ทั้งหมดนี้เราจะเรียกมันว่าชัยชนะของผู้หญิงต่อร่างกายของเราเองได้อย่างนั้นหรือ

ในซ่อง เจนนี่ค้นพบดินสอและใช้มันเพื่อฝึกเขียนภาษาเปอร์เซียนจากหนังสือที่เธอพบมันถูกวางทิ้งอยู่ ในวันหนึ่งๆเธอเเทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากรออยู่ในห้อง ก่อนที่นายหน้าค้ากามจะเข้ามาสอนการเป็นโสเภณีให้ เธออธิบายสถานการณ์นี้ว่า

"เราทุกคน (ผู้หญิงในซ่อง) ไม่รู้ว่าเรากำลังอยู่ในคุกหรอก" (65) และการที่จะอยู่ในห้องที่ปิดตายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอเลย "เพราะมันหมายความว่าคุณแค่มีอารมณ์เดิมๆความคิดแบบเดิมๆและร่างกายเดิม และเมื่อคุณเริ่มรู้สึกแบบนั้น นั้นเเหละคือการเป็นทาส ทาส ทาส สิ่งเดียวที่ฉันต้องการในตอนนี้คือการเป็นอิสระ แต่พูดตามตรงนะ มันหมายความว่าอะไรฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน" I mean you have the same emotions over and over again, the same thoughts, the same body and after a while you see it’s all in your mind…SLAVESLAVESLAVE. The only thing I want is freedom. Let me tell you: I don’t have any idea what that means. (112) สภาวะการถูกจองจำของผู้หญิงโดยผู้ชาย จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเองก็ไม่ได้ตระหนักถึง และถูกกล่อมเกล่าให้เชื่องจนกลายเป็นทาสโดยไม่รู้ตัว

ตอนท้ายของเรื่องเมื่อพบกับผู้กำกับที่พาเธอไปเที่ยวในอียิปต์ เจนนี่ดูจะเรียนรู้ได้ในที่สุดถึงความเป็นหญิงที่ควรจะเป็นในสังคมชายเป็นใหญ่ เธอเรียนรู้ที่จะ "ทำตัวให้ล่องหนเสมือนเงาในยามที่เขาคิดว่าเธอเป็นเพียงสิ่งไร้ค่า" (131) และด้วยเหตุนี้เอง เจนนี่จึงรำพันก่อนที่ความตายจะมาเยือนว่า "ฉันไม่ต้องการที่จะฆ่าตัวตายอีกต่อไป อย่างที่เคยทำ ฉันต้องการที่จะข้ามผ่านความตายนี้ไปให้ได้" (134)

เจนนี่ เด็กสาวที่ไม่มีวันเติบโตเป็นหญิงสาว เด็กสาวที่ถูกทึ้งเอาความบริสุทธิ์สดใสออกไปก่อนเวลาอันควรโดยพ่อของเธอเอง กลายมาเป็นความไม่สมบูรณ์ ความไม่เป็นตัวของตัวเอง และชีวิตขึ้นอยู่กับ “พ่อ” และความรักของพ่อเท่านั้นจึงเป็นเสมือนภาพแทนของผู้หญิงภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยที่กล่อมเกลาผู้หญิงให้เชื่อง ตัวเอกในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นฮีโร่หญิงที่สวมบทบาทนักสตรีนิยม ไม่มีแม้แต่บรรทัดเดียวที่เจนนี่จะพูดอะไรฉลาดๆหรือสิทธิความเป็นหญิง สิ่งเดียวที่เธอสนใจคือการร่วมเพศ ร่วมเพศและร่วมเพศกับใครก็ได้ ซึ่งถ้าจะให้ดีคือพ่อของเธอ และเเม้ว่ามันจะเจ็บปวด แม้ว่าเธอไม่รู้ว่าจะหยุดความคิดนี้อย่างไร เจนนี่ก็ยังคงพยายามตั้งแต่ต้นจนจบที่จะตามหาความรักที่มาพร้อมกับความสัมพันธ์ทางเพศ สิ่งที่ Kathy Acker ทำ คือการเล่าเรื่องอันสิ้นหวังของเด็กหญิงคนหนึ่ง ไม่ใส่ความสงสาร ไม่ใส่การวิจารณ์ สิ่งที่เธอเขียนคือการบรรยายสลับกับการเปิดเปลือยให้เห็นความคิดของเจนนี่ผ่านการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เจนนี่คือนิยามของเด็กใจแตก แต่เจนนี่ก็ทำให้ผู้อ่านเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ใต้ความใจแตกและความกระหายทางเพศ เราเหล่าผู้หญิงทั้งหลายก็กำลังเป็นเช่นเดียวกับเจนนี่ ที่ไม่แม้แต่จะฉุกคิดถึงสภาวะของตนเองในโลกของผู้ชายใช่หรือไม่

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Human Cylinders

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: