คลังเตรียมศึกษาการจ่ายเงินสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เปิดให้ลงทะเบียนอีกรอบสำหรับมีรายชื่อรอบแรก เพื่อรับเงินเข้าบัญชี ยอมรับผู้ลงทะเบียนมีทั้งระดับ ดร.ลงทะเบียนถึง 600 คน ระดับปริญญาโทกว่า 1,000 คน จึงต้องพิจารณาดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาอย่างไรบ้างจึงมาลงทะเบียน ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การคัดเลือกคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยให้ตรงตามกำหนดจากยอดทั้งหมด 14 ล้านคน เหลือ 11.6 ล้านคน เนื่องจากมีที่ดิน ทรัพย์สิน และรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี เกินกว่าที่กำหนด ยอมรับว่าผู้ลงทะเบียนมีทั้งระดับ ดร.ลงทะเบียนถึง 600 คน ระดับปริญญาโทกว่า 1,000 คน จึงต้องพิจารณาดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาอย่างไรบ้างจึงมาลงทะเบียน เมื่อรัฐบาลจัดสรรสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยระยะแรกแล้ว ตามความจำเป็นพื้นฐานค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จากนั้นระยะ 2 เตรียมพิจารณาจ่ายเงินเข้าบัญชีสำหรับผู้รายได้น้อยต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท เบื้องต้นกำหนดให้กลุ่มคนที่ลงทะเบียนแล้วกลับมาลงทะเบียนอีกรอบผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เพื่อยืนยันตัวตน เพื่อเสนอ ครม.คาดว่าการจ่ายเงินจะเริ่มได้ต้นปีหน้า
ด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัติด้านต่าง ๆ ทั้งการทำบัญชีครัวเรือน การฝึกอบรมทำอาชีพให้ความรู้ และต้องมีรายได้สูงกว่าเดิมในปีถัดไปเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำตามข้อกำหนด รวมทั้งการศึกษามาตรการดูแลกลุ่มคนพิการ คนชรา ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ เหล่านี้คงทำงานเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ จึงต้องมีแนวทางช่วยเหลือแตกต่างกัน ยอมรับว่าข้อมูลการช่วยเหลือของรัฐบาลเริ่มช่วยเหลือถูกตัวตนมากขึ้น จึงทำให้ประหยัดงบประมาณจำนวนมากและนำมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนจึงสามารถบริจาคเงินเข้ากองทุนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ เพราะเข้าข่ายการบริจาคผ่านกองทุน มูลนิธิ สำหรับฐานข้อมูลผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจคุณสมบัติ 11.6 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนมีสัดส่วน 1/3 ของผู้ลงทะเบียน และผู้พิการ 300,000 คน เป็นผู้ไม่มีรายได้สัดส่วน 1/5 ของผู้ลงทะเบียน เกษตรกร 4 ล้านคน รับจ้างอิสระและค้าขาย 3 ล้านคน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติม จากตัวเลขจีดีพีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 3.7 คาดว่าครึ่งปีหลังจีดีพีจะดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเงินลงทุนภาครัฐที่ค้างอยู่ไตรมาส 2 หลายโครงการเริ่มออกสู่ระบบไตรมาส 3-4 ทำให้เม็ดเงินลงทุนออกสู่ระบบชัดเจนขึ้น แม้ว่าตัวเลขผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะออกมา แต่มองว่ากระทบไม่มากเพียงร้อยละ 0.01 ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ดี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ