ผลักดัน 'จระเข้ไทยก้าวไกลสู่จระเข้โลก'

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2218 ครั้ง

ผลักดัน 'จระเข้ไทยก้าวไกลสู่จระเข้โลก'

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดประชุม 'จระเข้ไทยก้าวไกลสู่จระเข้โลก' เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อมูลด้านการอนุรักษ์ การเลี้ยง โรคระบาด และแนวทางการกำกับดูแล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมจระเข้ตลอดสายการผลิต ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผ่านเว็บไซต์ thaigov.go.th ว่านายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุม เรื่อง จระเข้ไทยก้าวไกลสู่จระเข้โลก ณ กรมประมง ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวนมาก ทั้งเพื่อการค้า เพื่อการจัดแสดง หรือแม้แต่เป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ชนิดที่สามารถนำอวัยวะมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งหนัง เนื้อ เลือด และไขมัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากหนังจระเข้ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดระหว่างประเทศจำนวนมาก สามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่ผู้เพาะเลี้ยง และผู้ประกอบการจระเข้ โดยการส่งออกในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท และจากข้อมูลการสำรวจในประเทศมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธ์ ค้า และครอบครอง จำนวน 1,200 ราย มีจระเข้ที่เพาะเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งทางการค้าของไทยเกิดขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยง และการผลักดันธุรกิจการส่งออกจระเข้ของไทยในตลาดโลก ควบคู่กับการอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงจระเข้ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงร่วมกับผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ จัดการประชุมดังกล่าว เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อมูลด้านการอนุรักษ์ การเลี้ยง โรคระบาดที่เกิดกับจระเข้ และแนวทางการกำกับดูแลการเพาะเลี้ยงจระเข้ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมจระเข้ตลอดสายการผลิต

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรจระเข้ในธรรมชาติ ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้จะเปลี่ยนแปลงไป แต่หากกรมประมงได้ทำการศึกษาวิจัย และสามารถดำเนินการปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติในแหล่งที่มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ย่อมส่งผลต่อการดำรงไว้ซึ่งชนิดพันธุ์จระเข้ในธรรมชาติ นอกจาการส่งเสริมด้านการค้าและการอนุรักษ์แล้ว การควบคุมและบริหารจัดการจระเข้ภายในประเทศ ก็ไม่สามารถละเลยได้ ผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบแก่ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

"การที่จะทำให้ผลิตภัณ์จากจระเข้ของไทยได้รับการยอมรับจากตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยต้องพิสูจให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะอนุสัญญาไซเตส ได้เห็นว่าประเทศไทยมีแหล่งที่จะอนุรักษ์ให้จระเข้พันธุ์ไทยได้อยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่กรมประมงร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำจระเข้ไปปล่อยในพื้นที่เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไว้ จะทำให้ประชาคมโลกมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นที่เห็นความตั้งใจจริงของประเทศไทยทั้งในเรื่องการค้าและการอนุรักษ์พันธุ์จระเข้ด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ประกอบการทั้งผู้เลี้ยงและผู้แปรรูป รวมถึงผู้ที่เข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ให้ช่วยกันในการเป็นหัวขบวนเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรที่อยู่โดยรอบที่จะให้สถานประกอบการมีโอกาสได้เลี้ยงจระเข้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เป็นการเติบโตที่กระจายตัว เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรรายย่อยด้วย ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของทางรัฐบาลที่อยากเห็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรนำพาพี่น้องเกษตรกรรายอื่นที่ปลูกสินค้าเกษตรไม่ประสบผลสำเร็จ มาผลิตสินค้าเกษตรที่มีโอกาสที่มีความมั่นคงมากกว่าเดิม" นายลักษณ์ กล่าว

นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพาะเลี้ยงจระเข้ทุกชนิด ถูกกำหนดให้เป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งกรมประมงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้การเพาะเลี้ยงจระเข้และอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดสายการผลิตเติบโตและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ ช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และยังทำให้ผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้อุตสาหกรรมจระเข้ของไทยให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งพร้อมที่จะก้าวสู่ตลาดโลกต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: