เปิดปมทุนข้ามชาติ กับควันพิษข้ามพรมแดน

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ 26 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 83394 ครั้ง

เกษตรกรในรัฐฉานประเทศพม่า กับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการเกษตรพันธะสัญญา (ที่มาภาพ: Kevin Woods)

ภาคเหนือของประเทศไทย เผชิญปัญหามลพิษจากหมอกควันซ้ำซากทุกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปี ทั้งที่ภาครัฐและประชาชนชนประสานกำลังแก้ไขปัญหามานานปีก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เหตุเพราะต้นตอใหญ่คือผลพวงจากเกษตรพันธสัญญา ที่ทุนข้ามชาติเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งต่อไปขายยังประเทศจีน กระทบกระเทือนวิถีชีวิตประชาชนทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ลามไปถึงการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของจังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่และเชียงราย แม้รัฐและเอกชนจะร่วมมือบูรณาการการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง มีการณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งมาตรการลงโทษผู้ที่เผาป่า ผู้เตรียมปรับพื้นที่ทำการเกษตรด้วยการเผาเศษวัสดุเหลือใช้และวัชพืช และมาตรการส่งเสริมให้มีการรักษาป่า ปลูกป่า และอีกสารพัด

แม้เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับควันพิษที่มีในท้องถิ่นได้ดีเพียงใด แต่หากต้นกำเนิดของมลพิษทางอากาศมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราคงไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว

มลพิษอากาศมาจากไหน ?

ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนไม่ใช่ปัญหาใหม่ ทุกภาคส่วนล้วนระบุว่าเป็นต้นเหตุหนึ่งในภาพรวมของปัญหาหมอกควันภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม มิตินี้ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร แต่เรามักพูดถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องการเผาป่า การทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา เกษตรพันธสัญญาของเกษตรกรในภาคเหนือ เนื่องจากหมอกควันข้ามแดนเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัด ทั้งยังยากที่จะหาวิธีการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากพิจารณาสถิติการเกิด ฮอตสปอต (Hotspot) ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่ทั่วๆ ไปจากภาพถ่ายดาวเทียม แม้บริเวณที่เป็นจุดฮอตสปอต จะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นจุดที่เกิดไฟป่า เป็นจุดที่มีศักยภาพที่อาจจะเกิดไฟป่า หรือเป็นจุดที่มีการเผาทำลายวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่เป็นที่ยืนยันแล้วว่าจำนวนฮอตสปอตนั้นแปรผันตามมลพิษทางอากาศ ดังนั้น พื้นที่ที่มีจำนวนฮอตสปอตมาก หมายความว่าพื้นที่นั้นเป็นจุดกำเนิดของมลพิษทางอากาศสูงนั่นเอง

เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังทั้งรายปีและรายเดือน พบว่า จำนวนและความหนาแน่นของฮอตสปอตในประเทศพม่า โดยเฉพาะในบริเวณที่ติดกับภาคเหนือของประเทศไทย คือในบริเวณพื้นที่รัฐฉาน มีจำนวนฮอตสปอตสูงกว่าบริเวณภาคเหนือของไทยอย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าของจำนวนฮอตสปอตที่เกิดในประเทศไทยแทบทุกปี ข้อมูลนี้อาจทำให้พออนุมานได้ว่า หากเราแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จระดับที่ไม่มีฮอตสปอตเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย เราก็ลดสาเหตุได้เพียงไม่เกินหนึ่งในสามเท่านั้นเอง

กราฟแสดงจำนวนฮอตสปอตที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศย้อนหลังรายปี (ที่มา: ASEAN Specialised Meteorological Centre)

กราฟแสดงจำนวนฮอตสปอตที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศรายเดือนในปี 2016 (ที่มา: ASEAN Specialised Meteorological Centre)

กราฟฟิคแสดงจำนวนฮอตสปอตและทิศทางลมที่ได้จากดาวเทียมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 (ที่มา: ASEAN Specialised Meteorological Centre)

และหากพิจารณาทิศทางลมและสภาพภูมิศาสตร์ ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอใกล้เคียง ที่มีภูมิศาสตร์คล้ายแอ่งกระทะคือมีภูเขาล้อมรอบ จะเป็นจุดที่ควันพิษถูกพัดพามารวมกันและถูกกักสะสมอยู่ในแอ่ง เนื่องจากลมที่พัดผ่านในบริเวณที่มีความหนาแน่นของจุดฮอตสปอตสูง มีทิศทางพัดเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยจากทุกทิศทุกทาง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ผู้ร้ายตัวจริงหรือจำเลยสังคม ?

หนึ่งในสาเหตุที่มักถูกระบุว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญหาหมอกควัน ก็คือการปลูกข้าวโพด ข้าวโพดถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสำหรับสัตว์แทนที่เศษข้าวหักเนื่องจากมีราคาถูกกว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น คนไทยบริโภคเนื้อสุกรต่อหัวเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ จาก 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2538 เป็น 14.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2554 ทำให้การปลูกข้าวโพดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

มูลนิธิชีววิถี (Biothai) ได้ทำการเปรียบเทียบราคารับซื้อของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับจำนวนการเกิดฮอตสปอต พบว่าราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความแปรผันตรงกับจำนวนฮอตสปอต ปีใดที่บริษัทอาหารสัตว์มีความต้องการวัตถุดิบข้าวโพดมาก (ราคาข้าวโพดที่บริษัทอาหารสัตว์รับซื้อจากเกษตรกรในราคาสูง) ปีนั้นจำนวนฮอตสปอตจะสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่นในปี 2555 ราคาข้าวโพดมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 9.35 บาท ในปีนั้นมีจำนวนฮอตสปอตสูงที่สุดถึง 27,033 จุด และเมื่อราคาข้าวโพดปรับระดับลดลงในปี 2555-2556 จำนวนฮอตสปอตก็ลดลงตามไปด้วย

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปีละประมาณ 5 ล้านตันและใช้ผลิตอาหารสัตว์สำหรับปศุสัตว์ภายใน ประเทศเกือบทั้งหมด ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละราว 1 ล้านตัน และใช้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด คือ 7-8 แสนตัน ที่เหลือจึงส่งมาขายยังประเทศไทย[1] ขณะที่ประเทศพม่าผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศเพียงส่วนน้อย ส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 70-80 ของผลผลิต และส่งมาขายยังประเทศไทยเล็กน้อยเท่านั้น และการปลูกข้าวโพดในพม่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ดำเนินการโดยบริษัท Myanmar CP Livestock Company (MCPLC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของไทย[2] และเป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่าคือพื้นที่ในบริเวณรัฐฉาน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับภาคเหนือของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่เกิดจำนวนฮอตสปอตสูงที่สุดในแต่ละปี 

ทำไมจึงเป็นรัฐฉาน ?

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มต้นประกอบธุรกิจด้วยการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชขึ้นที่ย่านถนนทรงวาด เยาวราช ในปี 2464 โดยเป็นผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศจีนเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย โดยผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นต้นตระกูล ’เจียรวนนท์’ ได้อพยพจากประเทศจีนมาตั้งรกรากประกอบการค้าในประเทศไทย หลังจากนั้นได้ขยายอาณาจักรธุรกิจจากภาคการเกษตร สู่ปศุสัตว์ ค้าส่ง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ การสื่อสารโทรคมนาคมและอื่นๆ แนวทางการขยายกิจการมุ่งเน้นการต่อยอดและขยายบทบาทตัวเองในวงจรห่วงโซ่อุปทานให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งแนวทางนี้ในบางครั้งก็ถูกมองว่าก้ำกึ่งกับการทำตัวเป็นผู้ผูกขาดในแต่ละอุตสาหกรรม

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เริ่มลงทุนในประเทศจีนครั้งแรกเมื่อจีนปรับนโยบายทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง ภายใต้นโยบาย ‘เปิดประตู’ ของจีน ในปี 2522 เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ลงทุนจากต่างชาติรายแรกๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) และได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในทุนข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจใหญ่ที่สุดในจีน โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในปี 2531 เครือเจริญโภคภัณฑ์ สามารถระดมทุนในตลาดทุนได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำบริษัท CP Pokphand หนึ่งในบริษัทลูก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็งของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดทุนชั้นนำของโลกได้สำเร็จ ส่งผลให้บริษัทสามารถระดมทุนจำนวนมากเพื่อลงทุนในประเทศจีน ในปี 2544 เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดในจีนสูงถึง 1ใน 4 และเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจมากมายกว่า 300 บริษัทในประเทศจีน ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 110,000 ล้านหยวน (5.5 แสนล้านบาท) ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 80,000 ตำแหน่ง และมียอดขายต่อปีของทุกธุรกิจ รวมประมาณ 100,000 ล้านหยวน (5 แสนล้านบาท)[3]

เมื่ออุปสงค์ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างอุปทานเพื่อตอบสนอง อุปสงค์ในประเทศไทยเองก็มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน จากการขยายตัวของประชากรและปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ค่าแรงและต้นทุนในปัจจัยการผลิตอื่นๆในประเทศไทยมีราคาสูง เช่น ปุ๋ยที่ใช้สำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ทำให้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยเป็นไปเพื่อสนองตอบความต้องการภายใน ประเทศ ไม่เหลือพอที่จะส่งไปยังประเทศอื่น เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาวัตถุดิบเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้เปรียบได้กับ ‘ยานแม่’ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์

เควิน วู้ดส์ (Kevin Woods) นักศึกษาปริญญาเอก University of California, Berkeley ทำการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉานของเครือเจริญโภคภัณฑ์[4] พบว่ามีจุดเริ่มต้นจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เสนอให้การปลูกข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ และรณรงค์ให้ปลูกข้าวโพดทดแทนการปลูกฝิ่นในพื้นที่รัฐฉานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 รัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าในขณะนั้น ได้นำที่ดินมาจัดสรรใหม่ให้เกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในรัฐฉาน ทำสัญญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในบางพื้นที่ก็เป็นหน่วยงานกองกำลังของทหารเองที่เป็นผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินของชาวบ้าน[5]

แต่จุดผกผันที่ทำให้การปลูกข้าวโพดแพร่ขยายอย่างกว้างขวางนั้น เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) ของประเทศกัมพูชา พม่า ลาว และไทย ซึ่งริเริ่มในปี 2546 โดย นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยุทธศาสตร์ ACMECS นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวเอื้อให้เกิดการขยายการลงทุนในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน วู้ดส์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะผู้ผลักดันให้เกิดข้อตกลงนี้ด้วยตนเอง เนื่องจากหนึ่งในคณะผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ เป็นผู้นั่งในตำแหน่งประธานสภาธุรกิจ ACMECS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผลักดันอย่างแข็งขันในการเสนอให้รวมเอาเกษตรพันธสัญญา เข้าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ ACMECS รวมทั้งผลักดันให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดระหว่างกัน และนับจากนั้นเป็นต้นมา การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญาก็ได้เริ่มขึ้น และขยายตัวอย่างกว้างขวางใน ประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ ACMECS รัฐบาลไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลเผด็จการทหารของพม่าในขณะนั้น ที่จะพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าและไม่ได้ทำประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวโพดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ 1.73 ล้านเอเคอร์ (4.325 ล้านไร่)

ประเทศพม่า โดยเฉพาะรัฐฉาน มีอาณาเขตติดกับประเทศจีน ตั้งแต่ยุคอาณานิคมต่อเนื่องถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางติดต่อระหว่างพม่ากับประเทศจีนเป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานในนาม ’Burma Road’ ในฐานะเส้นทางที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าและทางทหาร เปรียบได้กับเป็นประตูหลังบ้านของจีน

จีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ตามข้อมูลจากหน่วยงานการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่าจีนผลิตเนื้อสุกรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผลิตเนื้อไก่เป็นอันดับสองของโลก ผลิตไข่ไก่มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผลิตเนื้อเป็ดมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่นับรวมปศุสัตว์อื่นๆ รัฐฉานเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศเหมาะกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แรงงานภาคเกษตรมีมากและราคาถูก ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้รัฐฉานเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ป้อนตลาดจีน

ข้าวโพดพันธสัญญา วังวนแห่งปัญหาที่ไม่จบสิ้น

ในปี 2557 ข้อมูลจากทางการของรัฐฉานระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตฉานเหนือและฉานใต้รวม 460,000 เอเคอร์ (1.15 ล้านไร่) แต่ในรายงานของวู้ดส์ ซึ่งได้สัมภาษณ์ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ในรัฐฉาน ระบุว่าจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่บริษัทจำหน่ายแปรกลับไปเป็นพื้นที่ปลูกได้ประมาณ 750,000 เอเคอร์ (1.875 ล้านไร่) มูลค่าอย่างเป็นทางการของการส่งออกเมล็ดข้าวโพดโดยไม่นับรวมการลักลอบค้า มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (7000 ล้านบาท) เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดในพม่า มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 4 แห่ง คือที่ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ตองจี และเจ๊าก์เหม่ (ตอนเหนือของรัฐฉาน)

ดูเหมือนว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะสร้างผลประกอบการและกำไรให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะนอกจากจะขายเมล็ดพันธ์และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และอื่นๆ บริษัทยังทำกำไรจากการรับซื้อผลผลิตไปขายต่อให้กับบริษัทในเครือ สร้างความมั่นคงในแง่การจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของตนเอง ซึ่งเอื้อต่อธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์ครบวงจรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในแง่ของวัตถุดิบและการควบคุมต้นทุน ทว่า เกษตรกรกลับเผชิญกับภาวะเสี่ยงที่จะเป็นหนี้สิน สูญเสียที่ดินทำกิน และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย

ในรายงานวิจัยของวู้ดส์ ซึ่งลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในรัฐฉาน พบว่าเกษตรกรจำนวนมากไม่มีเงินลงทุนที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เนื่องจากระบบธนาคารและสินเชื่อในพม่าเองยังไม่เพียงพอ มีเพียงเกษตรกรรายใหญ่ซึ่งมีราว 10% เท่านั้นที่เข้าถึงแหล่งทุนสถาบัน เกษตรกรรายย่อยจึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินนอกระบบ เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาแบบไร้ทางเลือก และเป็นเกษตรพันธสัญญาแบบนอกระบบ คือไม่ได้มีการทำสัญญากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์และเป็นผู้รับซื้อ แต่เป็นสัญญาที่ทำกับตัวแทนในท้องถิ่น ที่แสวงหากำไรอีกต่อหนึ่ง

 

ภาพแสดงวงจรกระบวนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในรัฐฉาน (ที่มา: Kevin Woods)

วู้ดส์พบว่า สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการลงทุนและต้องกู้ยืมจากนายหน้าท้องถิ่น จะลงทุนในการผลิตต่อไร่ต่ำกว่าถึง 60% คือประมาณ 3,150 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่เข้าถึงแหล่งทุน ที่ลงทุน 4,984 บาทต่อไร่ การลงทุนที่น้อยกว่าไม่ใช่ผลดี เพราะทำให้ผลผลิตต่อไร่ที่ได้มีน้อยกว่าถึง 120% ราคาขายผลผลิตก็ถูกกดจากนายหน้าท้องถิ่นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด การศึกษาของวู้ดส์พบว่า รายได้จากการขายผลผลิตของเกษตรกรที่ไม่มีทุนทรัพย์และเข้าไม่ถึงทุน ต่างจากเกษตรกรที่เข้าถึงทุนถึง 250% ยังไม่นับที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในราคาที่สูงกว่ามาก เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้จึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเสียที่ดินทำกินให้แก่นายทุน เสี่ยงต่อภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการถูกแย่งยึดที่ดินโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทัพ ดังที่ได้มีกรณีคำตัดสินของศาลเมื่อปีที่ผ่านมา ให้ที่ดินในหมู่บ้าน เย บู ประมาณ 10,000 ไร่ ตกเป็นของกองทัพ และจำคุกเกษตรกร 72 ราย[6] นอกจากนี้ปัญหาการแย่งยึดที่ดินยังนำไปสู่ปัญหาใหม่ในรัฐฉาน คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน ซึ่งพบว่าในรัฐฉานมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสูงที่สุดในประเทศพม่า ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมอกควันที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ (เป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด) และการเผาป่าเพื่อทำกิน จึงยังคงมีอยู่ต่อไปในรัฐฉาน

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านโครงการ “ประชารัฐ” ประกาศที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ล้านไร่ เพื่อทดแทนการทำนาข้าว โดยเอกชนจะทำการประกันราคารับซื้อข้าวโพดความชื้นไม่เกิน 14.5% ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์เองก็ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นโครงการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยบริษัทจะเปิดจุดรับซื้อทั่วประเทศ 15 จุด[7] แต่ปรากฏว่า ราคาเฉลี่ยรับซื้อข้าวโพดความชื้นไม่เกิน 14.5% รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.09 บาทเท่านั้น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่ามกลางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในยุคที่ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์เอง กลับส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย หากไม่มองภาพรวมในระดับภูมิภาค และละเลยที่จะกล่าวถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหาซึ่งมาจากการขยายตัวของ ’ทุน’ ที่มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การทำกำไรในรูปของตัวเงิน ทรัพย์สิน และความมั่งคั่ง ไม่ใช่ความอยู่ดีมีสุขหรือคุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์

อ้างอิง

[1] กลุ่มประสานงานสหกรณ์อาเซียน กองแผนงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์

[2] Gain Report, USDA Foreign Agricultural Service, GAIN Report No.: BM 6002

[3] ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ CP Group ในประเทศจีน 

[4] Kevin Woods(2015), CP maize contract farming in Shan State, Myanmar: A regional case of place-based corporation agro-feed system,

[5] รายงานข่าวของ Reuter

[6] รายงานข่าวของ Reuter 

[7] รายงานข่าวของ Manager Online 

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
จับตา: คุณภาพอากาศจังหวัดภาคเหนือช่วงหมอกควัน (1 ม.ค. - 30 เม.ษ.)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: