จากหนุ่มชื่อ “วา” ถึงชายชื่อ “กระแสร์”...สะท้อนอะไรในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา?

เนาวรัตน์ เสือสอาด 27 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2488 ครั้ง


ฉันนั่งดู live ของเพจดัง “อีจัน” ที่ถ่ายทอดสดวินาทีที่แพะคนหนึ่งที่ชื่อ “วา” ได้รับอิสรภาพออกจากเรือนจำอุบลราชธานี ได้สวมกอดแม่ เมีย พี่สาวและอุ้มลูกสาวตัวน้อยไว้แนบอก วินาทีที่วาก้าวออกมาจากเรือนจำและก้มลงกราบผู้เป็นแม่ ทั้งสองร้องไห้และสวมกอดกัน ฉันกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ สะอื้นไห้ราวกับว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง หลังจากนั้นญาติผู้ใหญ่มารายล้อมผูกข้อไม้ข้อมือรับขวัญตามธรรมเนียมของคนอีสานพร้อมเอาน้ำมนต์ 9 วัดมาราดตัวเพื่อล้างความซวยที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา

วา หรือวรวิทย์ สินทองน้อย คือแพะคนล่าสุดที่ฉันได้รู้จัก เขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตในคดีร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นเสียชีวิต ต่อมาศาลฎีกายกฟ้อง โดยได้รับความช่วยเหลือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยใช้หลักนิติวิทยาศาตร์เข้ามาช่วย เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ความซวยยังไม่หมดแค่นั้น

ในวันเดียวกันนั้นเอง วาถูกตำรวจอายัดตัวในคดียาเสพติดต่ออีกหนึ่งคดี โดยอ้างว่าเขาใช้มือถือในเรือนจำโทรไปสั่งยาเสพติด ซึ่งทางดีเอสไอก็ได้ลงพื้นที่เพิ่มเติมจนพิสูจน์ได้ว่า วาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดภายนอกเรือนจำ และยังพบว่าผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี มีคนชื่อวรวิทย์ ซ้ำกันถึง 6 คน โดย 5 คน เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด มีวาเพียงคนเดียวเป็นผู้ต้องในคดีฆ่าผู้อื่น เขาถึงรอดมาได้และกลับสู่อ้อมกอดของคนในครอบครัวอีกครั้ง

ดูจบรำพึงกับตัวเองว่า “อยากให้เขาเป็นแพะคนสุดท้ายของประเทศไทย”...ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันอาจจะไม่เป็นจริง...

เมื่อพูดถึง “แพะ” ทำให้ฉันอดคิดถึง “แพะคนสุดท้ายของคดีเชอรรี่แอน” ไม่ได้ เขาเป็นแพะคนแรกที่ฉันได้รู้จัก ได้พูดคุย ได้ช่วยสนับสนุนอาชีพของเขา และได้แม้กระทั่งไปร่วมไว้อาลัยในวาระสุดท้ายของชีวิตเขา กระแสร์ พลอยกลุ่ม อดีตหัวหน้า รปภ. และเสาหลักของครอบครัวที่ถูกปรักปรำด้วยการสร้างพยานเท็จในคดีฆ่าเชอรี่แอน เด็กสาววัยรุ่นลูกครึ่งเชื้อชาติ ไทย-อเมริกัน เมื่อปี 2529 ส่งผลให้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตพร้อมเพื่อนอีก 3 คน จนกระทั่งตำรวจอีกชุดสามารถสืบสวนจนจับผู้ร้ายตัวจริงได้

7 ปี กับชีวิตนักโทษประหารส่งผลทำให้ครอบครัวพังพินาศ ภรรยาเครียดจัดจนเสียชีวิต ลูกสาววัย 17 ที่กำลังเตรียมสอบชิงทุนไปญี่ปุ่น ถูกฆ่าข่มขืนโดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับตัวผู้ที่กระทำความผิดได้ ในขณะที่ลูกชายคนเล็กก็หายสาปสูญ ส่วนตัวเขาเองถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพทำให้ต้องพิการเนื่องจากกระดูกสันหลังร้าวจึงต้องไปรับยาจากโรงพยาบาลทุกเดือนผลจากการถูกตำรวจทรมานด้วยวิธีการต่างๆ นานา จนกลายเป็นภาพหลอนฝังแน่นในจิตใจ

“ผมเห็นตำรวจก็ยังกลัวอยู่ กลัวถูกทรมานในคุกอีก”

ส่วนเพื่อนอีก 3 คนก็สูญเสียไม่แพ้กัน คนหนึ่งถูกโรคประจำตัวรุมเร้าเพราะร่างกายและจิตใจอ่อนแอ บวกกับความทุกข์ระทมจนตรอมใจเสียชีวิตในเรือนจำ อีกคนติดโรคจากในคุกและเสียชีวิตไม่นานหลังหลุดคดี ส่วนอีกคนหนึ่งรอดออกมาในสภาพสมบูรณ์แต่ก็หมดโอกาสในชีวิตไปมากมายและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเวลาต่อมา ท้ายสุดคดีนี้คุณกระแสร์และครอบครัวผู้เสียหายทั้งหมดได้ยื่นฟ้องแพ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาลมีคำสั่งชดเชยค่าเสียหายให้ทั้ง 4 คน จำนวน 26 ล้านบาท เมื่อปี 2546  

ฉันมีโอกาสได้พบกระแสร์ในปี 2554 ได้ชวนเขามาคุยเกี่ยวกับการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขายืนยันอย่างหนักแน่นว่าการทรมานไม่ใช่วิธีการที่ทำให้ได้รับความจริง เพราะเมื่อถูกทรมานมากๆ ผู้ต้องหาก็พร้อมจะพูดอะไรก็ได้ที่ตำรวจอยากได้ยิน เพื่อยุติการทรมานที่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการจับแพะนั่นเอง

ในที่สุดกระแสร์ก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ภรรยา (คนใหม่พบกันหลังหลุดคดี) ของเขาเล่าให้ฟังว่าหลังจากกินข้าวเย็นเสร็จ นั่งดูทีวีกับครอบครัวเขาก็ล้มฟุบไปและเสียชีวิตในเวลาต่อมา สิ้นสุดความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจที่ตามหลอกหลอนเขามากว่า 26 ปี

ขณะนี้นายกรัฐมนตรีกำลังให้ความสนใจเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ขอยกมือสนับสนุนและหวังว่าจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนแค่ระบบโครงสร้างเท่านั้น คุณภาพในการทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงฝันอยากให้ทีมสืบสวนของไทยเน้นใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยมากขึ้น หาพยานหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถมัดตัวผู้กระทำผิดให้แน่นหนามากกว่าแค่คำรับสารภาพหรือคำบอกเล่าของพยานบุคคล และที่สำคัญต้องสลายมายาคติเก่าที่ว่าผู้ร้ายมักจะปากแข็ง ไม่ยอมรับสารภาพแต่โดยดี จึงต้องทรมานให้รับสารภาพ พาเข้าเซฟเฮ้าส์เพื่อรีดเค้นความจริง เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องตามหลักกระบวนการยุติธรรม

เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมส่งผลมากกว่าที่เราคิด กระบวนการสอบสวนที่มีการทรมานร่วมอยู่ด้วย ไม่สามารถค้นหาความจริงได้ และเสี่ยงที่จะลงโทษผิดคน และทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องกลายเป็นแพะรับบาป ดังนั้นอาจต้องยอม “ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับหรือลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” สุภาษิตทางกฎหมายที่ยึดถือกันทั่วโลกนี้ควรถูกนำมาปฏิบัติใช้ในบ้านเมืองของเราด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Amnesty International Thailand

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Amnesty International

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: