เปิดชื่อ 'ทุนใกล้ชิดองคมนตรี' คดีฟ้องยึดที่ 'ชาวบ้านดอยเทวดา'

TCIJ School รุ่นที่ 4 : 27 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 28623 ครั้ง

จากพื้นที่ที่เคยอาศัยและใช้สอยทำกิน บัดนี้กลุ่มชาวบ้านดอยเทวดา จ.พะเยา ต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินของตนให้แก่ ‘บริษัท เชียงคำฟาร์ม’ ที่ใช้วิธีการต่าง ๆ เข้ามาครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเกือบ 300 ไร่

ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ทั้งจากนโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายปฏิรูปที่ดิน นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดจนการรุกคืบเข้าซื้อ-ครอบครองที่ดินจากกลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ กรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้านหมู่บ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา กับ ‘บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด’ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งนายทุน นักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพล ชาวบ้านใช้เวลาต่อสู้อย่างยาวนานมากว่า 15 ปี ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้กลุ่มชาวบ้านซึ่งตกเป็นจำเลย แพ้คดีในคดีบุกรุกที่ดินที่พวกเขาใช้อยู่อาศัยและทำมาหากิน

เมื่อชาวบ้านถูกยึดที่ดินตัวเอง

หมู่บ้านดอยเทวดา ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยอยู่จำนวน 41 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ โดยที่ดินลักษณะเป็นเนินหัวไร่ปลายนา เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี 2460 มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินเป็นจำนวน 300 ไร่ และมีหลักฐานการประชุมหารือเกี่ยวกับขอบเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปี 2489  ชาวบ้านบางส่วนได้มีการดำเนินการแจ้งความประสงค์เพื่อขอครอบครองที่ดิน หลังจากนั้นได้มีการจัดเก็บภาษีดอกหญ้า จนกระทั่งในปี 2520 ได้มีการสำรวจการถือครองที่ดินทำกินของชาวบ้านเพื่อเตรียมออกเอกสาร ภบท. 6 (ทะเบียนที่ดินเพื่อจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และใบเสร็จรับเงินบำรุงท้องที่ที่ได้ข้อมูลมาจากการคัดลอกรายละเอียดจากแบบสำรวจ ภบท.5 นำมาลงไว้ในทะเบียน)

จากนั้น เริ่มมีบุคคลภายนอกเจ้ามาเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเมื่อปี 2532-2533 ในขณะที่พื้นที่ทั้งในเขต อ.เชียงคำ และ อ.ภูซาง กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เพาะปลูกทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ต่อมาปี 2536 นาย หน้ากลุ่มเดิมได้ให้นายหน้าอีกกลุ่มเข้ามาซื้อที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์จากชาวบ้าน โดยไม่มีรายละเอียดการซื้อขายหรือตำแหน่งที่ชัดเจน

ปี 2545 มีการปรากฏตัวขึ้นของตัวแทน ‘บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด’ ความขัดแย้งเริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น โดยชาวบ้านเล่าว่าทางตัวแทนบริษัทฯ กระทำการข่มขู่และขับไล่ให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่หลากหลายรูปแบบ บางครอบครัวเกิดความกลัวจึงย้ายออกไป ปี 2548  มีบุคคลภายนอกเข้ามาหว่านล้อมชาวบ้านให้เซ็นต์เอกสาร  มีบางส่วนหลงเชื่อ หลังจากนั้นในปีถัดไป ปี 2549 ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดเป็นเนื้อที่ประมาณ 321 ไร่ และในปี 2550 ที่ดินจำนวน 247 ไร่ ถูกออกเป็นโฉนดให้ทางบริษัทฯ พร้อมกันนั้นก็ได้ฟ้องร้องชาวบ้านในคดีแพ่ง (บุกรุกที่ดิน) จำนวน 8 คดีความ และเสนอแบ่งที่ดินจำนวน 74 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านร้องเรียนได้อีกในอนาคต

เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งข้างต้นขึ้น จึงเกิดกระบวนการแก้ไขมากมายหลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เช่น ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเข้าร่วม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกเอกสารสิทธิ์ของบริษัทฯ จนกระทั่งผ่านกระบวนการของทั้งศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลฎีกาในปี 2557 ศาลได้พิพากษาให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ ถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด

ที่มาภาพ: สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

ชาวบ้านยังอยู่อย่างยากลำบาก

ที่มาภาพ: landjustice4thai.org

นับตั้งแต่ก่อนการพิจารณาข้อขัดแย้งนี้ในชั้นศาล  ชาวบ้านในหมู่บ้านเล่าว่า เคยถูกข่มขู่และไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งการขู่ทางวาจาและการใช้อาวุธปืน  มาตั้งแต่หลังปี 2543 เมื่อทางบริษัทฯ ได้เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินว่าได้กว้านซื้อมาตั้งแต่ปี 2533

เมื่อสอบถามไปยังกลุ่มชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้อง ชาวบ้านเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความเป็นอยู่หลังจากที่ถูกยึดเอาที่ดินทำกินไปว่า วิถีชีวิตเมื่อตอนก่อนถูกดำเนินคดีนั้น  มีการใช้สอยพื้นที่ทำกินนั้นทำสวนและไร่ เช่นปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ลำไย และสับปะรด หลังจากที่ดินถูกยึดและถูกไถหน้าดินไปแล้วบางส่วน ก็ไม่สามารถใช้สอยเป็นพื้นที่ทำกินได้อีกเลย แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่พอจะยังชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ด้วยการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู และไก่ ไว้ภายในบริเวณบ้านของตนเอง และทำอาชีพเสริมอื่น ๆ

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี  ในปัจจุบันจำนวนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือมีอยู่จำนวน 24 ราย ลดลงจากเดิมที่เคยมีอยู่ถึง 40 กว่าราย สมาชิกบางรายได้เสียชีวิตลงระหว่างระยะเวลาการต่อสู้คดี และสมาชิกที่ถอนตัวออกไปนั้น มีเหตุมาจากการที่พวกเขาได้รับโฉนดที่ดินเป็นของตนเองแล้ว ทำให้สมาชิกที่เหลือต้องเกาะกลุ่มหาทางต่อสู้เรื่อยมา ซ้ำในสมัยที่ความขัดแย้งกับบริษัทคู่กรณีกำลังเริ่มขึ้น  ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคดีความมากเท่าที่ควร  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ จากผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันอยู่บ้าง  

ล่าสุด เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา แกนนำชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้เข้าประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางในอนาคต ร่วมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้ให้ข้อคิดเห็นแก่แกนนำสมาชิกว่า ในทางคดี ชาวบ้านดอยเทวดายังจะต้องต่อสู้ไปอีกเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยาและส่งเสริมอาชีพของชาวบ้าน รายชื่อของชาวบ้านดอยเทวดา 10 คนที่ไม่มีที่ดินทำกินจะถูกบรรจุเข้าไปในแผนที่ 2 ของธนาคารที่ดิน เพื่อทำการขอซื้อคืนที่ดินซึ่งเคยใช้สอยเป็นที่ปลูกพืชไร่และผลไม้ ทั้งลำไย มะม่วง และสวนยางพารา เนื้อที่จำนวน 11 ไร่ เป็นจำนวนเงินกว่า 2.5 ล้านบาท  ในขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชนได้ถูกลงทะเบียนและจัดตั้งคณะกรรมการไว้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบลได้ ซึ่งเข้าเกณฑ์และเงื่อนไขของธนาคารที่ดิน

ทำความรู้จัก ‘บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด’

เมื่อนำที่ตั้งของ บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด ที่สืบค้นจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  คือ 1126/1 อาคารวานิช 1 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ ไปสืบค้นใน Google Map แล้วพบว่าเป็นที่ตั้งเดียวกับ บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด

จากการสืบค้นในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560) พบว่าบริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105532090806 สถานะยังดำเนินกิจการอยู่ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 78 ล้านบาท  ตั้งที่ 1126/1 อาคารวานิช ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ 68104 การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ ตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย

โดยวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการจากงบการเงินปีล่าสุดนั้น ระบุว่า 'ให้เช่าที่ดิน' (สังเกตได้ว่าชื่อ ‘เชียงคำฟาร์ม’ คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นองค์กรธุรกิจทางการเกษตร เช่นเดียวกับที่กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจมาตลอด) และเมื่อพิจารณาข้อมูลงบกำไรขาดทุนในปี 2558 และ 2559 พบว่าบริษัทฯ มีรายได้รวมในปี 2558 ที่ 404,699 บาท ปี 2559 ที่ 469,968.50 บาท แต่การดำเนินการใน 2 ปีหลังพบว่าขาดทุนมาโดยตลอด โดยขาดทุนสุทธิในปี 2558 ที่ 809,735.85 บาท ปี 2559 ที่ 842,173.64 บาท

พบ ‘ยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์’ กรรมการเชียงคำฟาร์ม เป็น 1 ใน ‘คณะ 11’ นักธุรกิจใกล้ชิดพลเอกเปรม

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังระบุถึงคณะกรรมการบริษัท เชียงคำฟาร์ม 7 รายชื่อ ได้แก่ 1. นายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ 2. นายวิสุทธิ์ คณาธนะวนิชย์ 3. นางสาวอรพินท์ คณาธนะวนิชย์ 4. นายวิชัย คณาธนะวนิชย์ 5. นางสาวอัจฉรพรรณ คณาธนะวนิชย์ 6. นางสาวพัชรี วิศวาจารย์ และ 7. นายสุริมิตร เพ็กทรัพย์/ ส่วนคณะกรรมการลงชื่อผูกพัน ประกอบไปด้วย นายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ ลงลายมือชื่อ ร่วมกับ นางสาวอัจฉรพรรณ คณาธนะวนิชย์ และประทับตราสำคัญของบริษัท หรือนางสาวอรพินท์ คณาธนะวนิชย์ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายวิชัย คณาธนะวนิชย์และประทับตราสำคัญของบริษัท หรือ นางสาวพัชรี วิศวาจารย์ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายสุริมิตร เพ็กทรัพย์ และประทับตราสำคัญของบริษัท/

เมื่อนำชื่อ ‘นายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์’ ซึ่งเป็นรายชื่อแรกในคณะกรรมการบริษัท เชียงคำฟาร์ม ไปสืบค้นในระบบสืบค้นทั่วไป พบว่านายยงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560) รวมทั้งในการนำเสนอบทวิเคราะห์ของทีมข่าวการเมืองเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ. 2553 ยังพบชื่อของนายยงศักดิ์ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคล 'คณะ 11' อันเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ใกล้ชิดพลเอกเปรม โดยกลุ่ม คณะ 11 นี้ ประกอบไปด้วย 1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ 2. นพ.ประสพ รัตนากร อดีตสมาชิกวุฒิสภา และประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ 3. ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมในเครือดุสิตธานี 4. ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เทวา สตูดิโอ จำกัด เจ้าของโรงแรมเลอเมริเดียน หาดกะรน ภูเก็ต อดีต ส.ว. แต่งตั้ง 5. ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคาร 6. ดิลก มหาดำรงกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ บริษัท เลอ คองคอร์ด โฮเต็ล จำกัด 7. พลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช อดีต ผบ.ทร. อดีต สนช. และกรรมการมูลนิธิรัฐบุรุษ 8. กัลยาณี พรรณเชษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล 9. ร.ต.ท.ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยยุคบุกเบิก และอดีต ส.ว. แต่งตั้ง 10. ยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ ประธานกลุ่มบริษัทแหลมทองสหการ และ 11.วีระ รมยะรูป อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ยุคบุกเบิก (อ่านเพิ่มเติม: 'ล่อเป้า “เปรม-คณะ11” สงครามทุนใหม่VSทุนสามานย์')

และเมื่อนำชื่อ ‘บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด’ ไปสืบค้นต่อในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105516000709 (เลขทะเบียนเดิม 70/2516 ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2516) ทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ในฟาร์ม มีที่ตั้ง1126/1 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งยังเป็นที่ตั้งเดียวกับบริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด และกรรมการของบริษัท แหลมทองสหการ จำกัด ซึ่งประกอบไปด้วย 1. นายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ 2. นายวิสุทธิ์ คณาธนะวนิชย์ 3. นางสาวอรพินท์ คณาธนะวนิชย์ 4. นายวิชัย คณาธนะวนิชย์ 5. นางสาวอัจฉรพรรณ คณาธนะวนิชย์ และ 6. นายกมล พันพรสิน ซึ่งรายชื่อนี้ส่วนใหญ่เป็นก็เป็นกรรมการของบริษัท เชียงคำฟาร์ม อีกด้วย


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ข้อมูลทั่วไป 'บริษัท เชียงคำฟาร์ม จำกัด'

ข่าวการต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินของชาวบ้านดอยเทวดาจากสื่อต่าง ๆ
ปัญหาการแย่งยึดที่ดินบ้านดอยเทวดา (มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, ไม่ระบุวันเดือนปีที่เผยแพร่)
ชาวภูซางเมืองกว๊านฯ ฮือประท้วง - ร้องผู้ว่าฯ ถูกอดีตข้าราชการ-นายทุนไล่ที่ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5/8/2550)
กรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินของชาวบ้านดอยเทวดา (TNN, 2/12/2558)
รายงานพิเศษ ชาวบ้านดอยเทวดาถูกดำเนินคดีบุกรุก(ในที่ดินของตนเอง) (สำนักข่าวประชาธรรม, 9/8/2559)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: