ทำไมต้องมีชาติ: บันทึกการเดินทางร่วมงานฉลอง 70 ปีวันชาติรัฐฉาน ดอยไตแลง (ตอนแรก)

สมคิด แสงจันทร์ 28 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 5384 ครั้ง


...“ใคร ๆ ก็อยากมีชาติเป็นของตัวเองทั้งนั้นแหละ”... คำพูดที่แว่วผ่านสายลมมาระหว่างเดินเที่ยวงานบนดอยไตแลง

ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานฉลอง 70 ปีวันชาติรัฐฉานที่ดอยไตแลง ร่วมกับเพื่อน ๆ ชาวไทใหญ่ของผม ตลอดเส้นทางกว่า 250 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงยอดดอยไตแลง ผ่านหลายร้อยโค้ง ผ่านถนนลาดยาง คอนกรีต ลูกลัง และดินแดง บางโค้งฝุ่นคลุ้งตลบ บางโค้งสูงชัน จนผู้โดยสารที่มาด้วยกันต้องสวดมนต์ขอพรจากเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อนบางคนถึงกับกล่าวขึ้นว่า “หากไม่มีใจรักชาติจริง คงไม่มีใครยอมเอาชีวิตมาเสี่ยงกับทางแบบนี้หรอก”

เส้นทางบางแห่งสูงชัน พื้นถนนเป็นฝุ่นหนา จำเป็นต้องทยอยขึ้น-ลง ทีละคัน และต้องรอให้ฝุ่นจางลงเสียก่อน

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง ก็มาบริเวณยอดดอยไตแลง เมื่อมาถึงเราจะมองเห็นทิวยอดเขาสลับเป็นทุ่งกว้างสุดลูกหูลูกตา มีร้านค้ามุงด้วยผ้าพลาสติกสีน้ำเงินตั้งอยู่ตามไหล่เขาสองข้างทางเป็นแนวยาวกว่า 50 ร้านค้า พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่จากหลากหลายที่ ทั้งในรัฐฉาน หรือในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กรุงเทพ ร้านค้าส่วนมากเป็นร้านขายอาหารไทใหญ่ เสื้อผ้าและชุดไทใหญ่ บางร้านนำของขึ้นชื่อของรัฐฉานมาขาย เช่น ดาบฮามงาย จากเมืองกึ๋ง อันเป็นแหล่งผลิตดาบที่มีชื่อเสียงของรัฐฉาน

ร้านค้าสองข้างทางบนดอยไตแลง

 ร้านค้าสองข้างทางบนดอยไตแลง 

เมื่อจัดที่พักเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาเดินเที่ยวงาน เวลาเริ่มค่ำ แสงไฟจากร้านค้าเริ่มสว่าง อากาศเริ่มหนาวเย็น วันนี้ยังไม่ใช่วันงานจริง ผู้คนในงานจึงไม่ค่อยคึกคัก แต่ก็มีวัยรุ่นหนุ่มสาวเดินเล่น ถ่ายรูปกันเป็นกลุ่ม ๆ ผมเดินผ่านวัยกลุ่มหนึ่งที่ยกมือถือขึ้นถ่ายทอดสดผ่าน facebook เขาพูดทักทายเพื่อน ๆ ในเฟสว่า “สวัสดีครับทุกคน ที่นี่ประเทศไต” ระหว่างเดินเที่ยวผมบังเอิญพบกับเพื่อนชาวไทใหญ่ด้วยกันที่ขึ้นมาฝึกนายร้อย เราได้พูดคุยกันถึงการฝึกทหารของเขา เขาชี้ไปที่ดอยโน้น ดอยนี้ เพื่อให้ดูว่าเขาฝึกที่ไหนอย่างไร เขายังบอกอีกว่า ตอนนี้เจ้ายอดศึกมีโปรเจ็คยักษ์ คือ กำลังจะสร้าง มหาวิทยาลัยแห่งชาติรัฐฉานขึ้น พร้อมกับชี้ให้ดูยอดเขาลูกหนึ่งที่มีการปรับยอดดอยให้โล่งเตียนว่านั่นแหละคือสถานที่จะใช้สร้างมหาวิทยาลัย ฯ ผมเดินมาจนถึงซุ้มประตูทางเข้างานที่เราขับรถผ่านมา ผมได้ยินเสียงพระกำลังสวดให้พรอะไรสักอย่าง ผมจึงมองตามเสียงไปก็พบซุ้มรับบริจาคเงินช่วยชาติ มีพระชาวไทใหญ่นั่งอยู่ในซุ้มประมาณ 7 รูป ผมจึงมาหยุดฟังอยู่หน้าซุ้มเพราะเสียงสวดไม่คุ้น และไม่รู้ว่าพระเขาสวดบทอะไร ทำไมมันยาวจัง ผมลองตั้งใจฟังดู จับใจความได้ตอนหนึ่งว่า “พ่อก็ไม่ใช่ของเรา แม่ก็ไม่ใช่ของเรา เมียก็ไม่ใช่ของเรา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ข้าวก็ไม่ใช่ของเรา นาก็ไม่ใช่ของเรา พม่ามาแย่งชิงไปหมดแล้ว” บทต่อไปผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว

ซุ้มด้านซ้ายมือคือที่รับบริจาคเงินช่วยชาติ

บรรยากาศภายในซุ้มรับบริจาค 

พวกเราแวะร้านโน้นร้านนี้ตลอดทาง โดยเฉพาะร้านที่มีสาว ๆ สวย ๆ ก็จะแวะนานหน่อย เพื่อน ๆ ที่มาด้วยกัน ชวนแวะร้านเกมปาขวด เป็นการนำเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น เบียร์ เหล้า น้ำดื่ม อื่น ๆ มาวางไว้บนไม้แป้น เป็นแถว ๆ เป็นชั้น ๆ ห่างออกมาประมาณ 3-4 เมตร ก็จะมีรั้วไม่ไผ่กั้น เป็นที่ให้คนมาปาลูกเทนนิสหากปาโดนขวดไหนตกก็รับเครื่องดื่มชนิดนั้นไป ลูกเทนนิส 3 ลูก 50 บาท พวกเราเล่นไปทั้งหมด 200 บาท ปาได้เบียร์ช้าง 2 ขวด น้ำเปล่าหนึ่งขวด น้อง ๆ ได้ไลน์ ได้เบอร์สาวประจำร้านอีกสองสามคน ก็เดินกันเที่ยวกันต่อ

บรรยากาศการเล่นเกมปาขวด บนดอยไตแลง

พวกเราแวะเข้าร้านอาหารร้านหนึ่ง หลังจากปรึกษากันแล้วทุกคนก็ตัดสินใจว่า วันนี้ต้องเมา และเที่ยวให้เต็มที่เพราะพรุ่งนี้มีงานต้องทำ น้ำแข็ง น้ำเปล่า โซดา และสุรา ถูกนำมาจัดบนโต๊ะโดยสาวเจ้าของร้าน ในขณะที่น้อง ๆ กำลังเกี้ยวแม่ค้า ถึงได้รู้ว่าที่อาหารในร้านต่าง ๆ ค่อนข้างแพงเพราะแม่ค้าเดินทางมาไกล อย่างแม่ค้าร้านนี้เดินทางมาจากเมืองกึ๋ง มาถึงดอยไตแลงตั้งแต่ 28 มกราคม บรรยากาศในวงเหล้าสนุกสนาน จนลืมไปเลยว่าเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาพวกเราลำบากกับการเดินทางมากขนาดไหน เสี่ยงตายมากี่โค้งกี่เนิน

สิ่งหนึ่งที่สร้างความสนุกให้กับวงเหล้าของพวกเราก็คือ เกมจับผิดคำ กติกามีอยู่ว่า หากใครหลุดพูดภาษาไทยออกมาปนกับภาษาไทใหญ่ จะโดนปรับคำละ 2 บาท เมื่อลงไปถึงเชียงใหม่แล้วก็จะรวบรวมเงินค่าปรับไปกินเลี้ยงกันต่อ ที่จริงเกมนี้น้อง ๆ เขาเล่นกันตั้งแต่ออกเดินทางจากเชียงใหม่แล้ว เล่นกันมาตลอดทาง แต่ผมนั่งหน้ารถเลยไม่ได้เล่นกับพวกเขา น้อง ๆ จึงชวนผมเล่นด้วย ผมตอบตกเล่นด้วย เมื่อมีคนพูดผิดจะมีเสียงหัวเราะ เสียงคัดค้าน เสียงกร่นด่าที่โดนหลอกให้พูด ผมพยายามพูดให้น้อยที่สุด เพราะรู้ตัวว่าเวลาพูดไทใหญ่ผมจะชอบหลุดคำเมือง คำไทยเข้ามาบ่อย ๆ และออกตัวว่า ผมเป็นไตจากเชียงตุง เพราะฉะนั้นคำบางคำใช้เหมือนคนเมือง เราก็เลยได้ข้อแม้ใหม่ว่า หากคำที่เราพูดเป็นคำท้องถิ่นของใครของมันก็จะละเว้นไว้ ส่วนมากจะโดนเก็บจากคำง่าย ๆ เช่นคำว่า “แต่” “ถ้า” “ร้อย” “พัน” “ไป” “ขวด” เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้มันไม่มีในภาษาไทใหญ่ แต่พวกเรามักหลุดออกมาบ่อย ๆ

บทสรุปของเกมจับผิดคำเมื่อลงมาถึงเชียงใหม่ “พี่จาย” คือผมเอง

ค่ำคืนของวันที่ 5 ผ่านไปด้วยเสียงหัวเราะ การได้พบปะเพื่อนฝูง การล้อมวงร้องเพลงไทใหญ่รอบกองไฟ กับสายลมของความหนาวเย็น ที่ไม่อาจทะลายกำแพงของความอบอุ่นของมิตรไมตรีได้

วันที่ 6 เด็ก ๆ

ภารกิจหลักของวันนี้ก็คือ เดินทางเอาสิ่งของเครื่องใช้ จำพวก เสื้อผ้า หมวก และรองเท้าให้กับเด็ก ๆ บนโรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา มีนักเรียนกว่า 800 คน ทั้งหมดเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบและเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กกำพร้า เวลา 10.30 รถมาจอดอยู่หลังสนามฟุตบอล หน้าห้องเรียนและบางส่วนเป็นห้องนอนของเด็ก ๆ บนดอยไตแลง ไม่ได้มีแค่กลุ่มของพวกเราเท่านั้นที่ขึ้นมาทำกิจกรรมบนโรงเรียน ข้าง ๆ ที่พวกผมนั่งอยู่ มีกลุ่ม 4*4 จากกรุงเทพ ฯ มาจัดกิจกรรมแจกของให้เด็ก ๆ ด้วย โดยเอาปืนลูกยางมาให้เด็ก ๆ ยิงของรางวัลหากยิงโดนตัวไหนก็ได้ตัวนั้นไป ส่วนใหญ่เป็นกระปุ๊กออมสิน หากใครยิงได้กระปุ๊กออมสินพี่ ๆ ก็จะเอาเหรียญสิบหยอดให้ด้วย เท่าที่สังเกตโรงเรียนจะแบ่งออกเป็นสามโซนโซนแรกคือตั้งแต่หน้าป้ายโรงเรียนลงมาจะเป็นอาคารเรียน มีเสาธงอยู่หน้าอาคารเรียนมาจนถึงห้องสมุด โซนที่สองถัดจากห้องสมุดลงมาเป็นสนามฟุตบอลลานกว้าง ที่ ๆ เราจอดรถอยู่ตอนนี้ โซนที่สามถัดจากสนามไปจะเป็นเนินสูง ด้านบนมีอาคารค่อนข้างใหม่ เป็นห้องรูม (Room) ใช้เป็นห้องพักครู และห้องทำงานของคุณครู อย่างแรกที่เราจะรับรู้ได้เมื่อลงมาจากรถคือ ฝุ่นและความร้อน หลังคาโรงเรียนส่วนมากเป็นสังกะสีสีเขียวสด โครงสร้างด้านบนเป็นไม้ กำแพงและพื้นเป็นปูนซีเมน ฝุ่นคละคลุ้งไปทั่วสนาม หลังคาโรงเรียนเมื่อมองจากด้านบนราวกะฉาบทาด้วยฝุ่นหนาเตอะ เมื่อแหงนมองจากด้านล่างถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วหลังคาโรงเรียนเป็นสีเขียวสด พื้นซีเมนท์หน้าห้องเรียน กับพื้นดินบนสนามดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ จริง ๆ ไม่ว่าส่วนไหน -ผนังห้อง กำแพง ขอบหน้าต่าง- ทุกที่ล้วนเขรอะไปด้วยฝุ่น

โรงเรียนแห่งชาติดอยไตแลงเมื่อมองจากมุมสูง

แผ่นดินเมืองไต หรือ แผนที่รัฐฉาน บนโรงเรียน ฯ

ตอนเช้าที่โรงเรียนระหว่างรอแจกของผมถือโอกาสเดินสำรวจทั่วโรงเรียน นักข่าว ช่างภาพ นักสารคดี กล้องกว่า 10 ตัว เดินให้ทั่วโรงเรียน ภาพของพวกเขาในไม่กี่นาทีต่อมาได้ถูกแชร์ขึ้นในเฟสบุ๊ด ในหน้าข่าวออนไลน์ มีคนกดไลค์ กดแชร์ หลายพัน ผมเดินไปทางกลุ่มผู้ชมซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ บางทีผมอาจมาขัดจังหวะช่างภาพที่กำลังจะกดชัตเตอร์เด็กกลุ่มนี้อยู่ก็ได้ เขากวักมือไล่ผม เขาคงไม่ต้องการ "สิ่งที่ไม่แปลกต่าง" ในเฟรม ผมเดินถอยออกมารอสักพัก เมื่อช่างภาพกดชัดเตอร์จนแน่ใจแล้วว่าได้ภาพที่ดีที่สุด เขาจึงยกมือขึ้นเป็นสัญญาณว่า "โอเค มึงเดินเข้ามาได้" ผมจึงขยับเข้าไปหาเด็ก ๆ "พี่ขอนั่งด้วยได้ไหม" ผมพูดกับน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งด้วยภาษาไทใหญ่ ผมนั่งคุยกับเด็ก ๆ อยู่พักหนึ่ง พยายามไม่คุยถึงที่มาของเด็ก ๆ เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าที่มาของแต่ละคนนั้นซ่อนด้วยบาดแผล เราคุยเรื่องอาหารการกิน การเรียน ความฝัน

ช่างภาพกำลังถ่ายรูปเด็ก ๆ ที่นั่งดูฟุตบอล

เด็ก ๆ กลุ่มที่ผมไปนั่งคุยด้วย

การเดินสำรวจของผมยังดำเนินต่อไป ผมเดินลัดเลาะมาด้านหลังห้องเรียน ซึ่งมีห้องอีกหลายห้องติด ๆ กัน ผมเดินมาจนถึงห้องหนึ่ง มีคนอยู่ข้างในเยอะมาก สงสัยอยู่ว่าเขาทำอะไรกัน แต่ก็ไม่อยากไปรบกวน ไม่รู้ว่าเขาจะอนุญาตให้เข้าหรือเปล่า ผมหยุดยืนอ่านป้ายหน้าห้อง ใช้ความรู้ภาษาไทใหญ่นิด ๆ หน่อย ๆ อ่านป้ายสีฟ้าก็เลยรู้ว่า เป็นห้องตัดเย็บเสื้อผ้า คิดว่าคงไม่ใช่ห้องลับอะไร จึงตัดสินใจเดินไปหน้าห้อง เจอผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 20 ปี ยืนอยู่ข้างประตู ดูท่าทางเข้มขรึม เขาอนุญาตให้เข้าไปดูได้ จากการพูดคุยกัน เขาเล่าให้ฟังว่าห้องนี้เป็นห้องตัดเย็บ ซ่อมแซมเสื้อผ้า วันนี้เด็ก ๆ เอาเสื้อผ้า หมวก ของตัวเอง มาเย็บ/ซ่อม เพื่อร่วมเดินขบวนวันพรุ่งนี้ ผ้าและเครื่องจักรที่ใช้ตัดเย็บได้มาจากผู้ใจบุญที่เขาบริจาคมา จากรุงเทพบ้าง จากเชียงใหม่บ้าง ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาพยายามสอนให้เด็ก ๆ มีวิชาชีพติดตัว วันหน้าหากจบไปแล้ว พวกเขาจะได้มีงานทำ บางปีหากมีเวลาเด็ก ๆ จะช่วยกันตัดเย็บชุดไตไปขายในงานด้วย แต่ปีนี้เป็นงานใหญ่ น้อง ๆ มีหน้าที่ต้องทำงานอย่างอื่นกันหมด จึงไม่มีเวลาตัดชุดมาขายในงาน

เด็กนักเรียนบนดอยไตแลงกำลังขะมักเขม้น ในการตัดเย็บเสื้อผ้าของตัวเอง

ที่ดอยไตแลงแห่งนี้ ปัญหาใหญ่คือเรื่องน้ำ และไฟฟ้า ที่ยังมีไม่พอใช้ ฉะนั้น กฎเหล็กของที่นี่ ก็คือ เปิดปิดน้ำ-ไฟ เป็นเวลา โดยจะเปิดช่วง 6 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืนของทุกวัน หลังจากนั้นก็จะปิดทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่มีงานแบบนี้ ฉะนั้นใครขึ้นมาบนดอยไตแลง อาจจะต้องพกแบตเตอรรี สำรองมาให้เพียงพอ และต้องระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ อากาศตอนกลางวันมักร้อนสุดขั้ว ในขณะที่กลางคืนมักจะหนาวสุดขั้วเช่นเดียวกัน อาจจะต้องพกทั้งร่ม และเสื้อกันหนาวมาใครคราวเดียวกัน ที่สำคัญ บนดอยไตแลงแห่งนี้ถนนยังเป็นถนนดินแดง เมื่อมีรถขับผ่านไปมา ก็จะมีฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ตลอดเวลา ไม่แนะนำสำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ และทางที่ดีหากจะมาก็ควรพกผ้าปิดปาก ปิดจมูกมาด้วย

จากนั้นตอนเย็น พวกเราก็ลงมาที่ลานหน้าเวที มาดูความพร้อม ลานหน้าเวทีจัดโต๊ะจีน ไว้ห้าแถว แถวละ 10 โต๊ะ โต๊ะหนึ่งนั่งประมาณ 6 คน ถ้านั่งเต็มก็จะมีถึง 300 คนเลยทีเดียว ผมสงสัยอยู่ว่าทำไมปีนี้ถึงมีการจดโต๊ะจีนเยอะแบบนี้ เพราะทุกปีที่ตามดูข่าวจะมีเพียงสองสามแถว เอาไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เพิ่งมารู้ตอนนั้นเองว่าปีนี้ มีความพิเศษหลายอย่าง นอกจากครบรอบ 70 ปีวันชาติแล้ว แล้วยังครบรอบ 20 ปีที่เจ้ายอดศึกไม่ยอมวางอาวุธ และครบรอบอายุ 60 ปีของเจ้ายอดศึกด้วย ข้างเวทีจะมีโต๊ะสำหรับลงทะเบียนเขียนคำอวยพรวันเกิดให้เจ้ายอดศึก สามารถเขียนอวยพรได้ทุกภาษา

จัดโต๊ะรับรองแขกบ้านแขกเมืองสำหรับอาหารค่ำ

ซุ้มสำหรับอวยพรวันเกิดเจ้ายอดศึก

ค่ำคืนของวันที่ 6 ผ่านไปด้วยเสียงเพลงจากเวที เรื่องเล่ารอบกองไฟ และค่ำคืนอันเย็นยะเหยือก เพื่อรอให้ถึงวันพรุ่งนี้ วันที่ทุกคนรอคอย #ติดตามบันทึกตอนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: