เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กเตรียมรวมโครงข่ายลดต้นทุน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 2362 ครั้ง

เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กเตรียมรวมโครงข่ายลดต้นทุน

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กที่ไม่มีความสามารถในการลงทุนระบบดิจิทัลปิดตัวลงราว 100 ราย จากทั้งหมด 300 ราย ขณะที่จำนวนสมาชิกจาก 3 ล้านครัวเรือน ลดลงเหลือ 2 ล้านครัวเรือน เตรียมรวมโครงข่ายลดต้นทุน ที่มาภาพประกอบ: Lindsey Turner (CC BY 2.0)

เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2560 การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านจากการออกอากาศ “ทีวีดิจิทัล” ช่องใหม่ ที่สามารถรับชมได้ฟรีจำนวน 22 ช่องในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมเสพสื่อและคอนเทนท์ออนไลน์ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจ“เพย์ทีวี”ต้องปรับตัวรับมือตลาดเปลี่ยน

นายเกษม อินทร์แก้ว อดีตนายกสมาคมสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการ บริษัทนวมินทร์ เคเบิลทีวี เน็ตเวิร์ค จำกัด เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นได้รับผลกระทบ แต่ยังมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวที่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อทั้งระบบ

ช่วงที่ 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กที่ไม่มีความสามารถในการลงทุนระบบดิจิทัล ได้ปิดตัวลงราว 100 ราย จากทั้งหมด 300 ราย ขณะที่จำนวนสมาชิกจาก 3 ล้านครัวเรือน ลดลงเหลือ 2 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนกิจการเคเบิลท้องถิ่นให้อยู่รอดในยุคนี้ กลุ่มอดีตนายกสมาคมเคเบิลฯ รวมทั้งผู้ประกอบการเคเบิลรายใหญ่ เช่น เจริญเคเบิลทีวี ได้หารือแนวทางความร่วมมือพัฒนาธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นร่วมกัน โดยจัดตั้ง“กลุ่มสี่ห้า”เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การร่วมกลุ่มกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นหลังจากนี้

รูปแบบการดำเนินธุรกิจจะเป็นการรวมกลุ่มเป็น โครงข่ายเดียว(One Network) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเภท มีทั้งรายจังหวัด, จังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง, รายภาค มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่เป็น“ผู้นำ” โดยดึงผู้ประกอบการรายเล็กและกลางเข้ามารวมกลุ่ม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและลดต้นทุนโครงข่ายส่งสัญญาณและห้องส่ง(Headend) ปัจจุบันรายเล็กใช้งบลงทุนห้องส่งละ 1-2 ล้านบาท รายใหญ่ 5-10 ล้านบาท

การรวมกลุ่มเพื่อใช้โครงข่ายเดียว จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ต้องลงทุนใหม่ จากการปรับเทคโนโลยีระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล เพื่อรับมือการแข่งขันในยุคนี้ รูปแบบดังกล่าวเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการเคเบิลในเกาหลี ไต้หวัน ที่ประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้

นายเกษม กล่าววอีกว่าแนวทางการรวมกลุ่มดังกล่าว ยังได้พิจารณาการซื้อคอนเทนท์หรือช่องรายการร่วมกัน เพื่ออำนาจเจรจาต่อรองราคา โดยมีความสนใจซื้อคอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมอย่างช่องฟ็อกซ์ และกลุ่มเอชบีโอ บางช่องด้วยเช่นกัน ขณะที่รูปแบบการทำตลาดหาสมาชิก จะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย ที่จะมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่

“แนวทางรวมกลุ่มครั้งนี้ ได้ใช้บทเรียน ซีทีเอช มาปรับใช้ โดยรวมกันเฉพาะด้านโครงข่ายและการซื้อคอนเทนท์เพื่อลดต้นทุน ส่วนการทำตลาดละพื้นที่แยกกันดูแล”

รูปแบบการทำงานในครั้งนี้ หากผู้ประกอบการกลุ่มใด ที่มีความแข็งแรงทั้งฐานสมาชิกและรายได้ วางเป้าหมายนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป และหากผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายเล็กต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการเข้าตลาดฯ จะร่วมเป็นผู้ถือหุ้นกับเคเบิลทีวีรายใหญ่

ปัจจุบันกลุ่มที่มีโอกาสเข้าตลาดฯ คือ เจริญเคเบิลทีวี ที่มีฐานสมาชิกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลราวจำนวนมาก ดังนั้นเคเบิลรายเล็กที่ต้องการเป็นลูกข่ายสามารถเข้าร่วมธุรกิจและร่วมเป็นผู้ถือหุ้น โมเดลดังกล่าวอาจมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ 3-4 จังหวัดเพื่อนำกิจการเคเบิลทีวี เข้าตลาดฯได้เช่นกัน

“เชื่อว่าแนวทางการปรับตัวเคเบิลท้องถิ่น ทั้งการรวมโครงข่ายการซื้อคอนเทนท์ที่แตกต่าง ราคารายเดือนที่คุ้มค่า จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสอยู่รอดได้ เพราะผู้ชมยังต้องการดูคอนเทนท์ที่นอกเหนือจากช่องฟรีทีวี” นายเกษม กล่าว

นายณัฏฐชัย อักษรดิษฐ ประธาน บริษัทเอ็มเอสเอส เคเบิล เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี พื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.พิษณุโลก จ.ปทุมธานี ตอนเหนือของกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวลงทุนส่งสัญญาณด้วยไฟเบอร์ออพติก พร้อมบริการบรอดแบนด์ Dots Ultra Broadband FIBER ในพื้นที่ให้บริการเคเบิลทีวี ด้วยราคา 599 บาท พร้อมรับชมคอนเทนท์เคเบิลทีวีฟรี

ปีที่ผ่านมาสัดส่วน 50% เป็นลูกค้าใหม่ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 200-300% ซึ่งทำให้ได้ฐานผู้ชมเคเบิลทีวีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ได้ปรับตัวขยายฐานผู้ชมผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.msscabletv.com รวมทั้งยูทูบและโซเชียล มีเดีย ไปพร้อมกัน

“เชื่อว่าการปรับตัวดังกล่าวตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ จะทำให้เคเบิลทีวีท้องถิ่น สามารถรับมือการแข่งขันและอยู่รอดได้”

นายณัฏฐชัย กล่าวอีกว่ากลุ่มเคเบิลท้องถิ่น ยังได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งบริษัทไทย เคเบิล บรอดแคสติ้ง จำกัด หรือ ทีซีบี ซึ่งเป็นช่องข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่จะผลิตข่าวส่งมาออกอากาศที่ช่อง ทีซีบี และเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศจะนำช่องทางดังกล่าวไปออกอากาศ ซึ่งจะมีผู้ชมจากฐานสมาชิกเคเบิลทั่วประเทศทันที 2 ล้านครัวเรือน และมีโอกาสหารายได้จากโฆษณา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: