จูงใจเอกชน 'จ้างงานคนจน' ลดภาษี 2 เท่า

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3581 ครั้ง

จูงใจเอกชน 'จ้างงานคนจน' ลดภาษี 2 เท่า

เอาใจคนจน ดีเดย์ ต.ค. 2560 ก.คลังจัดสวัสดิการเติมเงินผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี พร้อมสิทธิลด "ค่าน้ำ-ค่าไฟ" ชูนิติบุคคลหักภาษีได้ 2 เท่าสำหรับจ้างงานผู้มีรายได้น้อย พร้อมให้แบงก์รัฐจัดมาตรการสร้างงาน-สร้างอาชีพ ที่มาภาพประกอบ: mcot.net

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2560 ว่านายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้ได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหารือการให้สวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไว้กว่า 14 ล้านคน ให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ โดยแนวทางขณะนี้คือรัฐบาลจะแจกบัตรสวัสดิการให้เริ่มใช้ในเดือน ต.ค. 2560 นี้ และกรณีผู้มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ปี หรือกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ รวมถึงให้สิทธิสวัสดิการอื่น ๆ ด้วย

"คนที่มีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาท เราก็จะเติมให้ถึง 3 หมื่นบาท ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ ก็ได้ด้วย" นายสมชัยกล่าว

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่ขอไว้ในรูปของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะมีการนำมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน อาทิ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิต

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างรวบรวมสอบถามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจึงจะมาสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการจัดสวัสดิการอีกที ทั้งนี้คาดว่าจะรวบรวมข้อมูลเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้

ที่ผ่านมาทางกรมบัญชีกลางได้พิจารณาในส่วนของการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา สำหรับเจ้าของมิเตอร์ที่ได้รับสิทธิสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการให้สวัสดิการอื่นเพิ่มเติม เช่น ส่วนลดการซื้อสินค้าร้านธงฟ้า แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารรถไฟ และค่าโดยสารรถ บขส. เป็นต้น

นอกจากการให้สวัสดิการแล้ว นโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังต้องการให้สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการด้วย โดยให้มีการจัดทำแพ็กเกจสินเชื่อสำหรับการประกอบอาชีพ รวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ

"จะมีมาตรการภาษีที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้มีรายได้น้อยด้วย คือบริษัทที่จ้างงานคนที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและผ่านคุณสมบัติแล้ว นำรายจ่ายค่าจ้างมาหักภาษีได้ 2 เท่า" แหล่งข่าวกล่าว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติและจำแนกกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อเสร็จแล้วหากพบว่ามีภาระหนี้สินก็จะมีมาตรการแก้ไขหนี้ก่อน จากนั้นก็จะเป็นการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งกรณีเกษตรกร ธ.ก.ส.จะสนับสนุนให้เข้าสู่ซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารให้ความสำคัญอยู่

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะเน้นเรื่องการสร้างรายได้ สร้างอาชีพมากกว่าการให้สินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อยอาจจะไม่มีความสามารถในการกู้ ดังนั้นระยะแรกธนาคารจะมีโครงการเดินสายฝึกอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ การประกอบอาหาร หัตถกรรม นวด เป็นต้น

ขณะที่นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการและผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารจะเน้นสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย โดยการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ที่มีวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: