กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ชงทบทวนโครงการใน 'แคนาดา-โมซัมบิก-ออสเตรเลีย-แอลจีเรีย-พม่า'

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2017 ครั้ง

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ชงทบทวนโครงการใน 'แคนาดา-โมซัมบิก-ออสเตรเลีย-แอลจีเรีย-พม่า'

'พงศธร ทวีสิน' กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.คนใหม่ เตรียมปรับตัวรับ Disruptive Technology ประกาศทบทวน 5 โครงการลงทุน ในต่างประเทศ ประกอบด้วยโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในประเทศแคนนาดา, โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ประเทศโมซัมบิก, โครงการแคชเมเปิลในออสเตรเลีย, โครงการฮัสซีเบอราเกซ ในแอลจีเรีย และโครงการเมียนมาร์ เอ็ม 3 ในประเทศพม่า โดยจะหันมาเน้นการลงทุนในไทยและอาเซียนเป็นหลัก ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2560 ที่ผ่านมาว่านายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กรภายในใหม่และได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แทนนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ที่ปัจจุบันนั่งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดยนายพงศธร กล่าวว่า การเข้าบริหารงานใหม่ในครั้งนี้ จะมีการทบทวนการลงทุน 5 โครงการในต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในประเทศแคนนาดา ,โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ประเทศโมซัมบิก,โครงการแคชเมเปิลในออสเตรเลีย ,โครงการฮัสซีเบอราเกซ ในแอลจีเรีย และโครงการเมียนมาร์ เอ็ม 3 ในประเทศเมียนมา ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายปัจจัยอยู่เหนือการควบคุม อีกทั้งราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำจึงต้องดูความเหมาะสมในการลงทุน อย่างไรก็ตามคาดเรื่องของการทบทวนการลงทุนใน5โครงการดังกล่าวจะเสนอเข้าคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)พิจารณาในเดือน ธ.ค. 2560 และจะมีข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปี 2561

นายพงศธร กล่าวว่า ปตท.สผ.จะหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศและในอาเซียนเป็นหลัก โดยในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ขณะนี้ได้หารือกับพันธมิตรรายเดิมแล้วและพร้อมเข้าไปร่วมประมูล โดยรอให้ภาครัฐออกเงื่อนไขการประมูล (TOR) ให้เกิดความชัดเจนก่อน แต่มั่นใจว่าการเป็นผู้ผลิตในแหล่งบงกชมาตั้งแต่ต้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีต่อการเข้าแข่งขันประมูลในครั้งนี้

นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในการประมูลแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่ภาครัฐจะเปิดหลังจากประมูลแหล่งบงกช เอราวัณไปแล้ว ส่วนในปี 2561 ปตท.สผ.จะขุดเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมในแหล่งสิริกิติ์(S1) เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า หลังจากปัญหาการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ของภาครัฐได้ให้ความชัดเจนมาแล้ว โดยจะเพิ่มการขุดเจาะเป็น 150-180 หลุม เพิ่มจากปี 2560 ที่เจาะได้ 60 หลุม และทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.5 หมื่นบาร์เรลต่อวันแน่นอน

นายพงศธร กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในอาเซียนนั้น กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับนำมาผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ทั้งในประเทศมาเลเซียและเมียนมา อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.จะใช้เวลา 3 ปี (2560-2562) ในการปรับตัวรับ Disruptive Technology และทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยในระยะ 3 ปีดังกล่าว ปตท.สผ.จะใช้นโยบายคงเป้าหมายยอดขายปิโตรเลียมไว้เท่าเดิมที่ 3 แสนบาร์เรลต่อวันไปก่อน

ทั้งนี้ ทิศทางพลังงานทดแทนที่โลกให้ความสำคัญ กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลลดน้อยลง และเป็นช่วงที่เทคโนโลยีกำลังก้าวมามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านทิศทางพลังงานโลก หรือกระแสของ Disruptive Technology ดังนั้น ปตท.สผ.จึงอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัว โดยในอนาคตจะไม่เป็นเพียงผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) 100% เหมือนในอดีต แต่จะมองหาธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะจะมาลงทุนด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: