‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ สร้างปัญหาด้าน ‘สุขภาพ’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ทั่วเอเชีย

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 28 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7297 ครั้ง

‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ สร้างปัญหาด้าน ‘สุขภาพ’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ทั่วเอเชีย

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังสร้างปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับแหล่งทิ้งและคัดแยกขยะเหล่านี้ในเอเชีย โดยการเผาและการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ปลอดภัยส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนงาน คนในชุมชนใกล้เคียง ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ขยะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแถบเอเชียตะวันออก ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมากหากไม่มีการกำจัดขยะอย่างปลอดภัย ประเด็นสำคัญคือจำนวนขยะกว่า 12 ล้านตันถูกทิ้งในประเทศ 12 ประเทศ และหลายประเทศขาดกฎหมายรองรับเรื่องนี้ สำหรับประเทศจีนเป็นแหล่งทิ้งขยะที่ใหญ่ที่สุด มีขยะเพิ่มถึงสองเท่าในห้าปี

รายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนเอเชีย ประชากรคนหนุ่มสาวที่มีมากขึ้นสินค้าเทคโนโลยีก็ล้าสมัยอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแฟชั่นไปเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น และมีการค้าขยะที่ผิดกฎหมายด้วย จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ประเทศจีนทิ้งขยะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด แต่เกือบทุกประเทศในภูมิภาคนี้มีขยะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2010-2015 เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ทีวี เครื่องปรับอากาศและอื่น ๆ ทั้งนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน 12 ประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ใน 3 ในช่วง 5 ปีนี้คือรวมทั้งสิ้น 12.3 ล้านตันในปี 2015 เท่านั้น

ผลการศึกษายังบอกว่า ผู้บริโภคในเอเชียเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยมาก และสินค้าก็ถูกผลิตมาในราคาต้นทุนต่ำ ไม่คุ้มค่าที่จะซ่อมแซม และนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งรัฐบาลควรต้องมีกฎหมายรองรับการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด มีเพียงรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวันที่มีระบบรีไซเคิลขยะมานานนับตั้งแต่ออกกฎหมายเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1990

การเปิดพื้นที่ทิ้งขยะจำพวกอุปกรณ์ที่มีสารตะกั่ว ปรอท การเผาขยะ พลาสติกเพื่อสกัดเอาทองแดงและการจัดการขยะหลังบ้านที่ไม่ปลอดภัยเพื่อสกัดเอาโลหะมีค่ากลายเป็นบรรทัดฐานของประเทศส่วนใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชา ที่ไม่มีกฎหมายจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ซึ่งการเผาและการรีไซเคิลขยะที่ไม่ปลอดภัยส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนงาน คนในชุมชนใกล้เคียง เช่น ภาวะไม่เจริญพันธุ์ มีบุตรยาก พัฒนาการเด็กไม่สมบูรณ์ การทำงานของปอดบกพร่อง ตับและไตเสียหาย รวมถึงพันธุกรรมและปัญหาสุขภาพจิตด้วย โดยส่วนใหญ่กระบวนการรีไซเคิลมักจะทำที่หลังบ้าน คนงานต้องการสกัดเอาทอง เงิน ทองแดง แร่แพลเลเดียม ที่อยู่ในแผงวงจรไฟฟ้า PC แต่กระบวนการสกัดด้วยอ่างแช่กรดจะปล่อยควันพิษออกมา

ภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดซื้อขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และจึงผลิตขยะมากที่สุดด้วย เช่น เมืองชนบทอย่างกุ้ยหยู (Guiyu) ของจีน คนงานเชี่ยวชาญในการรื้ออุปกรณ์ ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนนำเข้ามาจากประเทศร่ำรวย กำลังเผชิญปัญหามลพิษอย่างมาก ทางรัฐบาลจีนได้ทำความสะอาดกองขยะที่กุ้ยหยูและเมืองอื่น ๆ แต่เครือข่าย Basel Action Network ที่ตีแผ่เรื่องกุ้ยหยูสู่สากลกล่าวว่า กุ้ยหยูยังอันตรายแม้ว่าจะได้นำขยะจำนวนมากไปทิ้งในพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่แถบชานเมืองแล้วก็ตาม โดยผู้ทำการศึกษานี้ระบุว่าจำนวนขยะมีมากขึ้นเกินที่รัฐประมาณการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการนิยามที่แคบ ผู้จัดทำนโยบายและผู้บริโภคควรหันมากังวลกับเรื่องนี้ และถ้าหากยังคงต้องบริโภคสินค้าเทคโนโลยีอยู่ ก็ต้องหาทางนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Mountains of discarded smartphones, electronics raise health and environmental concerns across Asia, abc.net.au, 15/1/2017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: