ส่องตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจ 3 ปี คสช. 'เลิกจ้าง-ปิดกิจการ-ทุนไหลออก'

ทีมข่าว TCIJ : 28 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 35226 ครั้ง

หลังรัฐประหาร 3 ปี พบรายได้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพิ่ม ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นำมาสู่การก่อหนี้ อัตราว่างงานไต่ระดับสูงขึ้น เลิกจ้างมากที่สุดตั้งแต่ปี 2556 ในช่วง ต.ค. 2559 จดทะเบียนนิติบุคคลน้อยลง เลิกกิจการเพิ่มขึ้น ฯลฯ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เดือน พ.ค. 2560 นี้ถือเป็นวาระครบรอบ 3 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) TCIJ ได้รวบรวมตัวเลขสำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอ

อัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น: ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (250-2559) อัตราการว่างงานของไทยเคยสูงที่สุดในช่วงปี 2552 ที่ 1.5% ได้ลดระดับลงมาเรื่อย ๆ และคงตัวในระดับต่ำกว่า 1% แต่หลังการรัฐประหารกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เพิ่มมาเป็น 0.8% 0.9% และ 1% ในปี 2557 2558 และ 2559 ตามลำดับ สำหรับตัวเลขการว่างงานที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ประเมินว่าไทยมีอัตราว่างงานต่ำกว่า 1 % มาโดยตลอดในช่วงหลังนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีอัตราส่วนแรงงานสูงถึง 64% จากจำนวนแรงงานทั้งหมด (ข้อมูลปี 2556) สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่สามารถดูดซับแรงงานที่หลุดจากการจ้างงานในระบบ แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบยังรวมถึงร้านค้ารถเข็น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลบางจำพวก ประกอบกับไทยไม่มีโครงสร้างสวัสดิการเพื่อรองรับผู้ว่างงาน จึงไม่มีแรงจูงใจต่อภาวะตกงานเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดจึงต้องไปเข้าตลาดแรงงานนอกระบบซึ่งจะไม่ถูกนับเป็นบุคคลว่างงาน รวมทั้งประชากรไทยมากกว่า 40% ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร โดยภาคส่วนนี้จะมีสัดส่วนของแรงงานไม่เต็มเวลา (Underemployment) และอัตราว่างงานนอกฤดูเกษตรกรรมสูง โดยแรงงานไม่เต็มเวลาถูกรวมอยู่กับแรงงานปกติ และมีสัดส่วนถึง 0.5% ยกตัวอย่างเช่น คนตกงานที่กลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกนับว่าได้รับการว่าจ้าง [1]

ตัวเลขผู้ประกันตนว่างงานหลังรัฐประหาร: หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ม.33 ของระบบประกันสังคมขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ส.ค. 2559 ที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 161,012 คน จากลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมดจำนวน 10,511,821 คน (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559)

เลิกจ้างผู้ประกันตนสูงสุดหลังรัฐประหาร: หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ตัวเลขการเลิกจ้างผู้ประกันตน ม.33 ของระบบประกันสังคมขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค. 2559 ที่ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง 31,570 คน ซึ่งยังถือเป็นสถิติที่สูงสุดก่อนการรัฐประหารมาตั้งแต่ ม.ค. 2556 อีกด้วย ทั้งนี้การเลิกจ้างผู้ประกันตนตั้งแต่เดือน ม.ค. 2556 ยังไม่เคยแตะระดับ 30,000 คนเลยจนมาถึงในช่วงปลายปี 2559 ที่เริ่มเพิ่มสูงทะลุ 30,000 คน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ที่ 31,570 คน เพิ่มสูงสุด ณ เดือน ต.ค. 2559 ที่ 31,570 คน ลดลงมาที่ 30,594 คน ในเดือน พ.ย. 2559 และลดลงต่ำกว่า 30,000 คน ในเดือน ธ.ค. 2559 ที่ 29,748 คน (ดูเพิ่มเติม [2] [3]) จากลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม ม.33 ทั้งหมดจำนวน 10,511,821 คน (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559)

เปิดกิจการใหม่ลด-เลิกกิจการเพิ่มหลังรัฐประหาร: ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อพิจารณาจากจำนวนและทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งปี 2556-2559 พบว่าในปี 2557 ที่เกิดรัฐประหาร มีจำนวนผู้จดทะเบียนธุรกิจลดลงจากปี 2556 ที่ 67,302 รายมาเป็น 59,468 ราย จากนั้นค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นที่ 60,174 รายและ 64,288 รายในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับช่วงปีก่อนรัฐประหาร ในทางกลับจากกันจำนวนและทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกกิจการปี 2556-2559 พบว่าหลังการรัฐประหารในปี 2557 ตัวเลขการเลิกกิจการกลับเพิ่มขึ้นจากการเลิกกิจการในปี 17,435 ราย เพิ่มมาเป็น 18,968 ราย 22,576 ราย และ 20,983 ราย ในปี 2557 2558 และ 2559 ตามลำดับ

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง: ข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปี 2557-2559 ที่ทำการสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมลดลงมาเรื่อย ๆ จากปี 2557 ที่ 65.0 เหลือ 64.8 และ 62.3  ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตก็ลดลงเช่นกันจาก 91.7 ในปี 2557 ลดลงมาที่ 91.5 และ 89.6 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พบว่าตัวเลขทยอยลดลงจาก 87.4, 85.6 และ 85.4 ในปี 2557, 2558 และ 2559 ตามลำดับ

นักเศรษฐศาสตร์หวังประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย-เชื่อเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. และภาวะเศรษฐกิจ [4] ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบัน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจ 3 ปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัว หรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้

การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้กระเตื้องขึ้น และมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น ขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์ และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย และได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้มีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียน และยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่อง ฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช. เข้ายึดอำนาจในเดือน พ.ค. 2557 และรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศในเดือน ก.ย. 2557

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้ประเมินผลงานเศรษฐกิจว่ามีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐ ควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลง รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ทั้งนี้ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย โดยอนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก “ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก และอนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับพลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช. ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้ โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดพลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภา จะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน”

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: โพลล์หลังรัฐประหาร 3 ปี ‘ความสุขลดลง-ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: