จับตา: โพลล์หลังรัฐประหาร 3 ปี ‘ความสุขลดลง-ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า’

ทีมข่าว TCIJ : 28 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3664 ครั้ง


สำรวจความคิดเห็นคนไทยจาก 3 โพลล์ ‘นิด้า-สวนดุสิต-อัสสัมชัญ’ ในช่วงสัปดาห์ครบรอบการรัฐประหารของ คสช. 3 ปี พบคนไทยมีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลงค่าครองชีพสูง มีการบังคับใช้กฎหมายและจำกัดสิทธิเสรีภาพ กลุ่ม Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดมากที่สุด

นิด้าโพลล์: “3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ”

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลล์” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจาย ทั่วทุกภูมิภาคและระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 3 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.00 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 32.64 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ ไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น คณะทำงาน คสช. มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงาน เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหายาเสพติด การก่ออาชญากรรม การทุจริตคอร์รัปชัน ลดลง เป็นต้น ขณะที่ ร้อยละ 21.76 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป นโยบายบางอย่างยังไม่ชัดเจน แต่ปัญหาต่าง ๆ กลับมีเพิ่มมากขึ้น และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย ร้อยละ 2.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ บางอย่างมีความสุขเพิ่มขึ้น บางอย่างมีความสุขลดลง และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 2 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 37.68 เป็นร้อยละ 32.64) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 43.28 เป็นร้อยละ 42.00) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลง กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 18.24 เป็น 21.76)

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานราชการแผ่นดินครบรอบ 3 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่างๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.20 ระบุว่า เป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 15.28 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 10.72 ระบุว่า เป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 8.32 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 3.68 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 3.44 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 2.88 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 1.04 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพมากขึ้น ร้อยละ 1.44 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหายาเสพติด ความเหลื่อมล้ำในสังคม การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการใช้กฎหมายที่เด็ดขาด และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานราชการแผ่นดินครบรอบ 3 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.80 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 14.16 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 13.28 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 8.40 ระบุว่า เป็นการที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 6.40 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 6.00 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.32 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 2.16 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน ร้อยละ 4.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหา ยาเสพติด ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาอาชญากรรม สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม การบังคับใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไป และการแก้ไขปัญหาของประเทศในบางเรื่องที่ยังไม่เป็นรูปธรรม และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สวนดุสิตโพล: 3 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรดีขึ้นอะไรแย่ลง?

จากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศจะครบ 3 ปี ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเหลือเวลาอีก 1 ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้งก็ตาม รัฐบาลเองก็ควรเปิดกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างผลงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพลล์” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,264 คน ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2560 สรุปผลได้ ดังนี้

  1. ประชาชนคิดว่า 3 ปี ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรดีขึ้นบ้าง อันดับ 1 การควบคุมดูแลไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ 73.81% อันดับ 2 การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น 71.84% อันดับ 3 การจัดระเบียบสังคม /ทวงคืนผืนป่า 66.06% อันดับ 4 การทำงานตามโรดแมป การตัดสินใจเด็ดขาด 55.30% อันดับ 5 การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ /การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 52.85%
  2. ประชาชนคิดว่า 3 ปี ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อะไรแย่ลงบ้าง อันดับ 1 สภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค /ชีวิตความเป็นอยู่ 77.06% อันดับ 2 การบังคับใช้กฎหมาย การจำกัดสิทธิเสรีภาพ 72.39% อันดับ 3 ราคาและผลผลิตทางการเกษตร 69.30% อันดับ 4 การบริหารบ้านเมือง /การใช้งบประมาณ 60.76% อันดับ 5 การก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 57.91%
  3. เหลือเวลาอีก 1 ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ประชาชนอยากให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรบ้าง อันดับ 1 เร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาปากท้อง 83.70% อันดับ 2 ช่วยเหลือดูแลสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ช่วยเหลือคนตกงาน ว่างงาน 82.75% อันดับ 3 ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นให้ลดลง 74.37% อันดับ 4 เดินหน้าบริหารบ้านเมืองตามโรดแมปต่อไป 71.52% อันดับ 5 แก้ไขกฎหมายที่สำคัญ ๆ พิจารณาบทลงโทษให้เหมาะสม เป็นธรรม 70.97%

เอยูโพลล์: ดัชนีความเครียดของคนไทย

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพลล์) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,006 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่าตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.99 เป็นหญิง และร้อยละ 45.01 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็น เจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 6.69 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.52 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.36 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-36 ปี) ร้อยละ 30.69 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 28.74 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี)

ผลสำรวจในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 70.59) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 62.86) รู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 49.46) และไม่อยากพบปะผู้คน (ร้อยละ 41.82) เป็นครั้งคราวถึงบ่อยๆ โดยในภาพรวมพบว่า ประชาชนมีความเครียดน้อย มีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.26 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อครั้งที่ผ่านมาในเดือนมกราคม 2560 ที่มีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.18 คะแนน โดยเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน(คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.87) โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับราคาสินค้าแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นต้นรองลงมา คือ เรื่องการเรียน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.85 คะแนน) โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับผลการเรียน การศึกษาต่อ และเนื้อหาการเรียน เป็นต้น อีกด้านหนึ่งที่ประชาชน มีความเครียดสูง คือ เรื่องการงาน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.73) โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับสวัสดิการและค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพ และปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบ เป็นต้น

ผลสำรวจยังพบว่าประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.36 คะแนน) สูงกว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.18 คะแนน) โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความเครียดในเรื่องต่างๆ คือ มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียดในเรื่องต่างๆ คือ มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องการงานตามลำดับ ซึ่งผลการสำรวจที่ได้ในครั้งนี้ ไม่แตกต่างจากผลการสำรวจในครั้งที่แล้ว (มกราคม 2560) ที่ประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียดสูงกว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในครั้งจะเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพงและปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประชาชนเกิดความเครียดต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้น้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเครียดแต่ละเรื่องในกลุ่มประชาชนแต่ละวัย (Generation) พบว่า ประชาชนในกลุ่ม Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดมากที่สุด รองลงมา คือ Gen M (อายุ 19-24 ปี) (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.34 และ 2.31 คะแนนตามลำดับ) ส่วนกลุ่มที่มีความเครียดน้อยที่สุด คือ ประชาชนในกลุ่ม Gen X (อายุ 36-50 ปี) (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.17 คะแนน) และเมื่อพิจารณารายละเอียดความเครียดในแต่ละเรื่องของกลุ่มประชาชนแต่ละวัย พบว่า - Gen Z (อายุ 15-18 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องความรัก และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 3.00, 2.72 และ 2.66 คะแนนตามลำดับ  - Gen M (อายุ 19-24 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.85, 2.70 และ 2.69 คะแนนตามลำดับ) - Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.89, 2.75 และ 2.63 คะแนนตามลำดับ) - Gen X (อายุ 36-50 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องความรักกับสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.97, 2.85 และ 2.71 คะแนนตามลำดับ) - Gen B (อายุ 51-69 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องความรักตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ2.93, 2.73 และ 2.66 คะแนนตามลำดับ)

ส่วนวิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อตนเองรู้สึกเครียดในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน เรื่องการเรียน และเรื่องการงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเครียด ในภาพรวมพบว่า เมื่อประชาชนรู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำอาชีพเสริมทำงานให้มากขึ้นและหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรกทำ เป็นต้น ส่วนในเรื่องการงานจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรก ตั้งใจและรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด และลาออกหางานใหม่ เป็นต้น สำหรับในเรื่องการเรียนจะแก้ปัญหาโดยการขยันและตั้งใจเรียนมากขึ้น การทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกเพื่อคลายเครียด และยอมรับความเป็นจริงและรู้จักปล่อยวาง เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: