“รัฏฐา หิ ปชาย นาโถ” : รัฐแลเป็นที่พึ่งของประชาชน

สมคิด แสงจันทร์ 29 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2697 ครั้ง


อ่านข่าวที่ TCIJ นำเสนอเรื่องการจ้างงานผู้สูงวัยของไทยรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า (อ่าน "ธุรกิจไทยเริ่มจ้างพนักงานสูงวัย แต่พบ ‘งานทักษะต่ำ-สัญญาจ้างปีต่อปี’") แล้วก็น่าตกใจอยู่บ้าง แต่ในตอนท้ายกลับไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร รายงานข่าวพบว่า ผู้สูงอายุของเราที่ยังทำงานอยู่มีเกือบ 4 ล้านคน ทำงานในระบบเพียงน้อยนิด ที่เหลือกว่า 3 ล้าน 4 แสนคน เป็นแรงงานนอกระบบ  เช่น การเกษตร เป็นต้น นอกจากนั้นในรายงานข่าวยังพูดถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐไทยที่กำลังจะทำเพื่อผู้สูงอายุ  ถือว่าเป็นงานที่อยากชวนอ่านไว้ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะรากฐานของนโยบายในปัจจุบันก็จะกลายเป็นรากฐานของนโยบายในอนาคต และเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เมื่อแก่ตัวลงจะต้องพานพบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเคยมองข้ามในวัยนี้ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเราเมื่อวัยชรา

สำหรับบางคนอาจจะสนใจว่า รัฐไทยกำลังมีโครงการอะไรเพื่อคนสูงวัยของไทยบ้าง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นผมอยากชวนให้มามอง “ทัศนคติ” ที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐมองมาที่ประชาชนอย่างเราเสียก่อน  เพราะกระบวนทัศน์หรือกรอบคิดที่รัฐมีต่อประชาชน  ย่อมเป็นตัวกำกับนโยบายที่พวกเขาจะทำให้กับประชาชนของตัวเองเช่นกัน

ทันทีที่อ่านข่าวนี้จบ ผมอดนึกถึงหรือเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ตัวเองไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาไม่ได้  ครั้งแรกที่ผมเดินเข้าร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ผมตกใจมากที่พนักงานส่วนมากของหลาย ๆ ร้าน เป็นผู้สูงอายุหมดเลย ที่สำคัญพนักงานเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ใช้เทคโนโลยีก็ไม่ค่อยคล่อง ยังมีงานและอาชีพอีกจำนวนมากที่ให้ผู้สูงอายุมาทำงาน แต่ข้อจำกัดเรื่องอายุ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลยกับการทำงาน  เพราะโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเขาวางมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนทุกวัยสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ตั้งแต่ถนนหนทาง เครื่องไม้เครื่องมือ ต่าง ๆ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คุณลุงคุณป้าก็หันหน้าจอคอมมาให้เราอ่าน มีหลายภาษา (จอคอมในร้านหมุนได้ด้วย) เทคโนโลยีก็ออกแบบให้เข้าใจง่าย ใช้รูปภาพ รูปวาด แทนตัวหนังสือ หรือทำปุ่มให้น้อยลง เพื่อเหมาะสมกับการใช้งาน

รู้สึกว่า ประเทศที่ดี ๆ เขาไม่มาคาดคั้นกับ "ทักษะ" ของประชาชน หรือโยนความรับผิดชอบให้ประชาชนต้องไปฝึกทักษะหรือพัฒนาตัวเองเสียก่อนรัฐจึงจะช่วย ไม่มีแนวคิดแบบ อัตตา หิ อัตตาโน นาโถ หรอก อันนั้นมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้ว แต่รัฐเขาจะพยายามออกแบบและพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อคนทุกระดับ ใครไม่มีทักษะ รัฐก็ออกแบบให้สามารถมีชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ 

หลายคนอาจจะมองว่า ก็ประเทศเขาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ประเทศเรายังไม่พัฒนาถึงขั้นนั้น และหลายคนก็หวังว่า ถ้าประเทศเราปฏิรูปและปรับปรุงขึ้นก็จะสามารถทำได้เช่นนั้นเหมือนกัน คำถามของผมก็คือ เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ที่ว่าหากประเทศเรากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วจะสามารถดูแลชีวิตของประชาชนได้อย่างประเทศญี่ปุ่นหรือ อื่น ๆ หัวใจของการดูแลประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ตรงไหน สำหรับผมมองเห็นสิ่งหนึ่ง หัวใจของพวกเขาอยู่ที่รัฐของเขามองตัวเองเป็นผู้บริการประชาชน  มีทัศนคติในแง่บวกต่อประชาชน

ในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐของญี่ปุ่น อ่อนน้อมถ่อมตนกับชาวบ้าน ผมสังเกตได้ตั้งแต่เมื่อเราย่างกรายเข้าแผ่นดินเขา พนักงานสนามบิน จะคอยให้บริการ เดินมาหาเราก่อน ไม่ต้องรอให้เราเข้าไปหา นายรถไฟ ตำรวจ คนขับรถแท็กซี่ และอื่น ๆ อีกมาก หากเราเข้าไปขอความช่วยเหลือ เราจะพบกับความอ่อนน้อม ถ่อมตน และเคารพต่อประชาชนของพวกเขา เมื่อคุณถามอะไรสักอย่าง ยากมากที่เขาจะตอบปัดว่าไม่รู้ สิ่งที่เราเห็นคือ เขาจะยืนคิดนานมาก และกังวลมากสุด ๆ หากเขาไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ เมื่อคิดจนสุดความสามารถแล้ว ยังตอบคำถามเราไม่ได้ เขาจะวิ่งไปถามคนอื่น ๆ หากไม่ได้จริง ๆ เขาก็จะขอโทษเราอย่างจริงจัง เพราะงานของพวกเขาคือ "งานบริการ" ภาพของนายตำรวจยืนผายมือ โค้งคำนับ กล่าวขอบคุณ ชาวบ้านจึงเป็นเรืองปกติมาก แต่เราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้เลยในสังคมไทย  เราจะเห็นแต่การเหวี่ยง วีน โมโห โกธา ใส่ชาวบ้านเสมอ  เจ้าหน้าที่ของเขาจึงเกรงใจชาวบ้านมาก และรู้สึกผิดมากเมื่อได้สร้างความผิดหรือทำสิ่งที่ผิดพลาดต่อชาวบ้าน เป็นพวกหน้าบาง จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นนายกญี่ปุ่นลาออกเองเป็นว่าเล่น  ในฐานะผู้ให้บริหารเขารู้สึกผิดที่บริการชาวบ้านไม่ดี รู้สึกผิดต่อคนที่เสียภาษีเอาเงินมาจ้างเขา รัฐจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้จริง ๆ และเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน 

ดังนั้นไม่ว่าผ่านเมืองไหน ชนบทขนาดไหน ไกลแค่ไหน ก็ไม่เคยมีที่ไหนเลยที่ผมจะเห็นว่าสาธารณะสุขและงานบริการของรัฐจะเข้าไม่ถึงชาวบ้าน ในเมืองใหญ่ ๆ มีถนนเช่นไร บ้านนอกก็มีถนนหนทางเช่นนั้น ในเมืองมีถนนสำหรับคนพิการ เลนขี่จักรยาน มีตู้น้ำบริการ มีสถานีรถไฟ มีสิ่งอำนวยความสะดวก บ้านนอกที่ไกลออกไปก็มีเหมือนกัน

เพราะเกรงใจและรู้สึกว่า อาชีพที่กินเงินภาษีของประชาชนคือ อาชีพบริการ ที่ต้องคอยเอาอกเอาใจชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านอยากได้อะไร ก็สามารถเรียกร้องเอาได้หมด เพราะอยู่ในฐานะนายจ้าง รัฐหรือพนักงานไม่มีการมาสั่งชาวบ้านหรือต่อว่าชาวบ้านว่า “ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง อะไร ๆ ก็รอแต่รัฐช่วย ๆ เหลือ” เพราะชาวบ้านเรียกร้องในบริการของรัฐที่พวกเขาพึงได้ รัฐต้องไม่ผลักภาระให้ชาวบ้าน  มีแต่จะหาทางช่วยเหลือและแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐต้องลงทุนให้ ไม่มีการไล่ให้คนออกจากประเทศของตัวเองเพียงเพราะไม่พอใจกับการที่พวกเขาไม่ได้รับความสะดวกสบายในชีวิต ทางเดินไม่ดี เดินไม่สะดวกสบาย รัฐต้องรีบแก้ไข ชาวบ้านทำเกษตรได้ราคาไม่ดี รัฐต้องรีบเข้ามาอุ้มชู หาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ไล่เขาไปทำอย่างอื่น ไปขายที่อื่น หรือด่าเขาว่าโง่ที่ไม่รู้จักคิดให้ดีก่อนทำอะไร

รัฐไม่ควรเรียกร้องให้ชาวบ้านต้องทำโน่นทำนี่เพื่อรัฐ  มีแต่รัฐจะทำโน่นทำนี่เพื่อชาวบ้าน ไม่มาขอเวลาหรือขอสัญญาอะไรจากชาวบ้าน มีแต่ทำได้ก็ทำเลย ทำไม่ได้ก็อย่ามาสะเออะ เปิดโอกาสให้คนอื่นมาทำ ให้ชาวบ้านตัดสินใจเอง และไม่ใช่ว่าพอเขาไม่เลือกเราหรือไม่ชอบเรา ก็เท่ากับเขาโง่ เชื่อคนง่าย ไม่มีการศึกษา

รัฐที่เกรงใจชาวบ้าน เกรงใจประชาชน เคารพประชาชน มักจะเป็นรัฐที่เจริญ ๆ ทั้งนั้น เข้าสุภาษิตไทยที่ว่า ชายใดเกรงใจเมีย ชายนั้นได้ดีทุกคน (ตึ่งโป๊ะ) เพราะสุดท้ายแล้วเขารู้ว่า สิ่งสำคัญที่จะพยุงรัฐนั้นให้รอด คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนของตัวเอง  เมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีพวกเขาก็จะหนุนเสริมให้นโยบายต่าง ๆ และโครงการต่าง ๆ ของรัฐมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ๆ นี่คือมุมมองของรัฐบริการ ที่ยึดถือหัวใจของงานบริการว่า “ประชาชนคือพระเจ้า”  รัฐแลเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นรัฐที่บริการประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายโดยไม่ปริปากบ่นกับหน้าที่ ๆ พวกเขาเสนอหน้ามารับใช้ประชาชนเอง 

ย้อนกลับมามองประเทศไทยของเรา คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินพุทธสุภาษิตที่เรามักถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เด็กว่า “อัตตา หิ อัตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” สุภาษิตนี้ถูกอธิบายอย่างกว้างขวาง  จนกลายเป็นวัฒนธรรมหรือรากฐานทางความคิดอย่างหนึ่งของสังคมที่คนมักจะหยิบยกมาอ้างถึงพูดถึงในวาระต่าง ๆ จากหลักธรรมทางพุทธศาสนา (ที่มีความหมายในเชิงปรัชญาอีกรูปแบบหนึ่ง) ถูกตีความเข้ามาเป็นคู่มือการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้จาก “อัตตา” ที่ต้องพึ่งตนเอง กลายเป็น “ประชาชน” ที่ต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเอง อย่ามัวแต่รอการช่วยเหลือของรัฐอย่างเดียว คู่มือชีวิตนี้ฟังดูดี ฟังแล้วรู้สึกเหมือนว่าอยากให้ประชาชนเข้มแข็ง รู้จักพึ่งพาตัวเอง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศเรามีความคิดชนิดที่พูดกันติดปากว่า “คุณต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วยเหลือคุณ”  

ซึ่งหากเป็นระดับปัจเจกตรรกะนี้ก็ดูไม่มีพิษภัยอะไร เราสามารถปัดความช่วยเหลือคนอื่นได้ เราสามารถอ้างได้ว่าไม่ใช่ธุระกงการ หน้าที่ หรือความรับผิดชอบของเรา รวมไปถึงให้คำแนะนำคนอื่นได้ว่า ควรเป็นที่พึ่งของตนเองอย่างไร แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นทัศนคติของรัฐจะเป็นอย่างไร และเมื่อรัฐกลายเป็นผู้สั่งสอน เรียกร้องให้ประชาชนดูแลตัวเอง จะก่อผลอย่างไรต่อการพัฒนาของชาติ มายาคติแห่งการพึ่งตนเองนี้ก็จะถูกตีความและคอยสนับสนุนชุดความคิดของการปัดภาระในการช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอ บวกกับวัฒนธรรมเก่า ๆ อะไรหลาย ๆ อย่างที่ยังคาค้างอยู่ในสังคมเรา จนในที่สุดเราก็ได้เห็นรัฐทำหน้าที่ “ตำหนิ” ประชาชนของตนเองโดยเฉพาะช่วง 10 ปีมานี้หนักหน่อยก็ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า ประชาชนของพวกเขาเป็นพวกที่ไม่รู้จักดูแลตัวเองหรือช่วยเหลือตัวเอง อะไร ๆ ก็คอยแต่รัฐเข้ามาช่วย และกลายไปเป็นฐานคิดทางการเมืองที่คอยต่อต้านนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลหนึ่ง ๆ พยายามจะออกมาทำเพื่อประชาชนของตัวเองว่า เป็นการมอมเมาให้ประชาชนนิยมชมชอบ ทำให้ประชาชนเป็นง่อย ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักพึ่งพาตัวเอง เป็นประเทศที่ผู้นำและปัญญาชนสาธารณะจำนวนมากคอยนั่งจับผิดสอนสั่งและชี้นิ้วกับประชาชนของตนเอง เพียงเพื่อต้องการให้พวกเขา “พึ่งพาตัวเองได้” เรามีความคิดที่นำเข้ามาจากจีนว่า ผู้นำที่ดีต้องมอบเบ็ดให้ชาวบ้านจับปลาสิ ไม่ใช่ให้ปลา ต้องสอนเขาให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง ทั้ง ๆ ที่รัฐควรให้ทั้งเบ็ดสำหรับหาปลา และควรให้ทั้งปลาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะมาเลือกว่าควรให้อะไรไม่ควรให้อะไร

รัฐของเรา ปัญญาชนของเรา ผู้รากมากดีของเรา ล้วนปรารถนาดีอยากให้ชาวบ้านอย่างเรา “รู้จักพึ่งพาตัวเอง” ทั้งนั้น อันเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่พึงปรารถนาตามครรลองแห่งพุทธวิถี การออกมาเรียกร้องโน่น เรียกร้องนี่ สะท้อนให้เห็นว่า พวกชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้นำพา หรือตั้งตนอยู่ในศีลธรรมเลย ว่าแล้วก็ต้องสอนสั่ง ต้องลงโทษให้หลาบจำ กับประชาชนของเขาที่ไม่ได้เรื่อง “พึ่งพาตัวเองไม่ได้”  หากยังดื้อดึง ไม่ยอมฟัง เขาก็พร้อมจะประหัตประหาร เข่นฆ่าประชาชนที่ไร้คุณภาพของพวกเขาเหล่านี้เสียบ้าง หรือไม่ก็ถีบไสไล่ส่งประชาชนอันขี้เกียจของเขาไปเสียให้พ้นลูกหูลูกตา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อคนอื่น และเพื่อให้เห็นว่าการไม่รู้จักพึ่งพาตนเองนั้น ทำให้รัฐต้องลำบากและเสียเวลาเพียงใด ในการสั่งสอนห้ามปราม และกำจัดคนพวกนี้ออกไปจากสังคม

รัฐที่มีทัศนคติต่อประชาชนของตนเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะคิดหรือสร้างสรรค์อะไรดี ๆ ขึ้นมาได้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่รักยิ่งของเขาแน่นอน  ในทางกลับกันรัฐประเภทนี้ยิ่งจะคิดทำหรือหาวิธีที่พิเรนทร์ ๆ มาใช้กับประชาชนของตนเองอยู่เสมอ เช่นบางครั้งเขาอาจจะพูดปริศนาธรรมกับชาวบ้านของเขาที่มาเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือราคาผลผลิตทางการเกษตรว่า “หากอยากได้ราคาดี ก็ให้ไปขายของบนดาวอังคาร” อันหมายถึงว่าให้ประชาชนรู้จักแสวงหา รู้จักพึ่งพาตัวเอง แต่น่าเสียดายที่ประชาชนของเขาอ่อนปัญญาเกินกว่าจะเข้าใจปริศนาธรรมนั้นได้

ว่าแล้วเราจึงอยู่ในสังคมที่หากประชาชนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ประชาชนจะกลายเป็นผู้ขอร้องอ้อนวอนความช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทันที  หลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว เราผู้เป็นประชาชนยังต้องสำนึกบุญคุณและต้องตอบแทนต่อความช่วยเหลือนั้น ไม่เพียงเท่านั้น หากประชาชนอย่างเรา ๆ อยากให้เขาช่วยเหลือเร่งด่วน เราก็ต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าเสียเวลา คอยประเคนให้เขาอย่างไม่ขาดมือ 

เราอยู่ในสังคมที่พนักงานบริการอย่างครูบาอาจารย์ กลายเป็นผู้มีพระคุณ (พ่อแม่แตกต่างออกไป เพราะพ่อเราไม่ได้ค่าจ้างจากการเลี้ยงดูเรา) เป็นผู้มอบวิชาความรู้ให้เรา เราจึงต้อง “ก้ม” ต้องไหว้พวกเขาอยู่ตลอดเวลา โดยที่ทั้งเราและเขาต่างก็ไม่คิดเลยว่า อาชีพครู คือ อาชีพบริการประชาชนอย่างหนึ่ง เป็นพนักงานที่ประชาชนเสียเงินภาษีจ้างมาสอน เป็นผู้ให้บริการที่มี “หน้าที่” ต้องบริการประชาชนอยู่แล้ว

เราอยู่ในสังคมที่นักการเมือง นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม ลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้าน ด้วยท่าทีของผู้สงเคราะห์มากกว่าผู้ให้บริการ เพราะเราคือประชาชนที่พึ่งตนเองไม่ได้ ส่วนเขาคือจำพวกที่พึ่งพาตัวเองได้แล้ว และเสียสละเวลามาเพื่อช่วยเหลือสังคม ยกย่องตนว่าเป็น “ผู้ช่วยเหลือชาวบ้าน” ทั้งที่มันคืองานบริการของพนักงานคนหนึ่งที่ต้องทำเพราะกินเงินเดือนจากภาษีของชาวบ้าน หรือจากค่าเล่าเรียนของศิษย์ทุกคนอยู่แล้ว 

การเสียสละเวลาหรืออาสามาช่วยของพวกเขาจึงไม่ใช่ด้วยจิตของ "ผู้ให้บริการ" แต่ช่วยด้วยจิตของ "ผู้สงเคราะห์" หรือ “ผู้ช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย” ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมันจำเป็นต้องทำและเป็นหน้าที่ ๆ ตัวเองมีหน้าที่ “ต้องบริการ” อยู่แล้ว เพราะพวกเขาได้รับทุนวิจัย ได้รับงบประมาณ ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ที่มาจากภาษีของเรา ๆ ในฐานะพนักงานบริการ พวกเขาควรต้องถ่อมตนต่อชาวบ้านอย่างเราและเพื่อนมนุษย์คนอื่นอยู่แล้วมิใช่หรือ แต่เหตุใดพวกเขาจึงกลายเป็นเราเสียอีกที่ต้องนอบน้อม ซาบซึ้งกับการช่วยเหลือของเขาจนน้ำหูน้ำตาไหล มันกลับตาลปัตรไปเช่นนั้นได้อย่างไร  ก็สุดปัญญาจะคิดได้

ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น เขากร่อนและลดทอนคำว่า “ผู้นำ” ให้เป็นเพียง “พนักงานบริการ”  หากจะเป็นผู้นำ ก็คือผู้นำความต้องการของประชาชนมาสนอง ไม่ใช่สังคมที่ผู้นำคือผู้สั่งการ เป็นผู้สงเคราะห์ ลงโทษ ตัดสินดีชั่ว แทนประชาชนของตนเอง มิหนำซ้ำยังคอยทวงบุญคุณกับประชาชนที่ให้ข้าวให้น้ำพวกเขา เมื่อตามข่าวผู้นำในประเทศเหล่านั้นเราไม่เคยพบข่าวว่า ผู้นำของเขาอออกมาบ่นว่าเหนื่อย  หรือขอความเห็นอกเห็นใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติเลย มีแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานบริการของตนเองไป เพราะประชาชนทุกคนก็ทำงานเหนื่อยเหมือนกัน และบางครั้งก็เหนื่อยมากกว่าจะได้เม็ดเงินที่หลั่งมาเป็นภาษีให้พวกเขา มีแต่เราเสียอีกที่ต้องนั่งอ่านข่าวผู้นำของเขาลาออกจากการบริการประชาชนไม่ดี ด้วยตาปริบ ๆ 

ดังนั้นการที่เจ้านายของประเทศก็คือชาวบ้านหรือประชาชนของประเทศเหล่านั้น ออกมาเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง จึงไม่ใช่สิ่งที่หน้ารังเกียจ หรือสมควรจะถูกดูแคลนจาก “ลูกจ้าง” ได้เลย แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาจะไม่มาด่าว่า “ เรื่องแค่นี้ทำไมไม่ดูแลตัวเอง”

หากเรามีความคิดว่า “รัฐของเรา” เป็นเหมือนพ่อปกครองลูก รัฐแห่งนี้ก็เป็นพ่อแม่ที่ใจไม้ไส้ระกำกับบุตรของตัวเองเหลือคณา หากเรามองรัฐแห่งนี้เป็นลูก ก็เป็นอวชาตบุตร เป็นบุตรชั้นเลวที่ไม่คิดจะใยดีอะไรในตัวผู้ปกครองเลย แต่หากเรามองรัฐแห่งนี้เป็นพนักงานบริการ ก็ยิ่งเจ็บช้ำน้ำใจเหลือแสน

นั่นคือสาเหตุที่ผมอ่านข่าวดังกล่าวแล้วก็น่าตกใจ คือรู้สึกตกใจ เพราะมันย้อนกลับมาคิดถึงตัวเองตอนแก่ คิดแล้วก็หน้าเศร้านะครับ เพราะเราจะต้องแก่ตัวไป เป็นคนสูงวัย ในสังคมที่รัฐมองเราเป็นตัวปัญหาหรือเป็นภาระอยู่เรื่อย และไม่เคยคิดที่จะทำหน้าที่บริการของตนเองต่อประชาชนเลย  ชีวิตวัยหนุ่มของพวกเรา ๆ ว่าลำบากยากเข็นแล้ว ผมไม่อยากคิดถึงชีวิตของตนเองในวัยชราเลยว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในประเทศนี้ได้อย่างไร เมื่อถึงเวลาที่ “อัตตา” ของเรานี้ไม่พร้อมจะเป็นที่พึ่งให้กับเราเอง คงได้แต่นั่งถอนหายใจทิ้งไปวัน ๆ และนั่นคือสาเหตุที่ในตอนท้ายผมกลับไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร เพราะเมื่อย้อนกลับมามอง ณ ปัจจุบัน สิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เป็นอยู่ทุกวันนี้มันก็ไม่ได้ดีเด่อะไร

อาจจะยังพอมีทางสว่างให้รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราอยู่บ้าง คือบรรจุสุภาษิตบทใหม่ให้พวกเขาท่องไว้ตั้งแต่เด็ก ให้พวกเขารู้จักเรียกร้องการช่วยเหลือจากรัฐ และรู้จักบริการประชาชนเมื่อพวกเขาต้องขึ้นไปเป็นผู้นำของรัฐ สุภาษิตบทนั้นก็คือ

“รัฏฐา หิ ปชาย นาโถ” แปลว่า รัฐแลเป็นที่พึ่งของประชาชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: