ศาลยกฟ้องชาวบ้านคดีบุกรุกที่สาธารณะโคกภูกระแต หลังรัฐเคลียร์พื้นที่เพื่อ 'เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม'

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3707 ครั้ง

ศาลยกฟ้องชาวบ้านคดีบุกรุกที่สาธารณะโคกภูกระแต หลังรัฐเคลียร์พื้นที่เพื่อ 'เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม'

ศาลยกฟ้องชาวบ้าน คดีบุกรุกที่สาธารณะโคกภูกระแต เหตุโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ คดีนี้สืบเนื่องมาจากก่อนจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม หน่วยงานภาครัฐได้พยายามเคลียร์พื้นที่ที่จะใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ที่มาภาพประกอบ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อ 26 ม.ค. 2560 ว่าที่ศาลจังหวัดนครพนมได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ นายอำเภอเมืองนครพนม (ในขณะนั้น) มีหนังสือมอบอำนาจให้ปลัดอำเภออำเภอเมืองนครพนม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ “โคกกระแตบ้านไผ่ล้อม” จำนวน 21 ราย เมื่อปี 2557 โดยพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ถูกจับส่งต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิด ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลให้สั่งจำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองพร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดนครพนมได้ประทับรับฟ้องและสั่งให้รวมคดีเข้าด้วยกัน มีจำเลยจำนวนรวมทั้งสิ้น 29 คน ได้มีการนับสืบพยานโจทย์และพยานจำเลยช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในเวลา 09.00 น.ของวันนี้ หลังจากได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปก่อนหน้านี้เนื่องจากจำเลยมาศาลไม่ครบ

ต่อมาในเวลา 10.00 น. ศาลได้ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์จากพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังมีประเด็นสงสัยที่โจทย์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งหมดได้บุกรุกที่สาธารณะตั้งแต่เมื่อใด ประกอบกับทางจำเลยอ้างพยานหลักฐานว่ามีเอกสารการครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวที่ทางราชการออกให้ เช่น ส.ค. 1 ใบจอง หรือ น.ส. 2 เป็นต้น ประเด็นจึงยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

หลังศาลมีคำพิพากษาชาวบ้านทั้งหมดต่างหลั่งน้ำตาด้วยความปลื้มปิติ โผเข้ากอดกันด้วยความดีใจ และได้พากันมาก้มกราบพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งตั้งอยู่หน้าทางเข้าศาลด้วยความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้ทำเรืองยื่นถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวัง


ด้านนายณรงค์ ไชยตา หนึ่งในทนายจำเลย เปิดเผยหลังมีคำพิพากษาว่าศาลยังมีประเด็นสงสัยอยู่หลายประเด็น เป็นต้นว่ามีการออกบ้านเลขที่ของทางราชการให้แก่บ้านเรือนที่ชาวบ้านปลูกไว้อาศัยในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งเป็นการเข้าไปอยู่อย่างเปิดเผยโดยเชื่อว่าไม่ได้บุกรุกที่สาธารณะอย่างบริสุทธิ์ใจ ประกอบกับยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งหมดได้บุกรุกตั้งแต่เมื่อใด ประเด็นจึงยังมีเหตุให้สงสัยจึงยกประโยชน์ให้จำเลย

ขณะที่ นายสมภพ โชติวงษ์ ทนายความจำเลยของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน ที่ถูกส่งมาช่วยว่าความให้ชาวบ้านในคดีนี้เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลมองว่าชาวบ้านน่าจะขาดเจตนาเข้าบุกรุกที่ดินสาธารณะตามที่โจทย์ฟ้อง เนื่องจากมีข้อมูลว่าเมื่อประมาณ ปี 2539 ได้มีหนังสือของพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวบ้านจึงขาดเจตนาศาลจึงยกฟ้องในที่สุด

สำหรับที่มาของคดีดังกล่าว เกิดขึ้นสืบเนื่องจากตามคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2558 ในข้อ 4 ของประกาศดังกล่าว ระบุว่า ให้ท้องที่ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม และตำบลโนนตาล ตำบลรามราช ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม” ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2559 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” ตั้งอยู่ที่บ้านห้อม หมู่ที่ 1 ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม เนื้อที่ 1,860 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาวนั้น

ก่อนจะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม หน่วยงานภาครัฐได้พยายามเคลียร์พื้นที่ที่จะใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว โดยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านห้อม ต.อาจสมมารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และคำสั่ง คสช. ที่ 64 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เข้าดำเนินการจับกุมชาวบ้าน จำนวน 14 ราย โดยอ้างชาวบ้านทั้งหมด บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม

ในระหว่างวันที่ 18 – 22 สิงหาคม 2557 อำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับ กอ.รมน.จว.นพ. ได้เชิญราษฎรที่ถูกกล่าวอ้างว่า บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม จำนวน 284 ราย มาทำพันธสัญญาและทำความเข้าใจในการดำเนินการขอคืนพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64 และคำสั่ง คสช. ที่ 66 ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครพนม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า เป็นการดำเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีเรียกผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ มาทำพันธสัญญา โดยมีสรุปข้อมูลว่า มีผู้บุกรุก จำนวน 284 ราย ผู้บุกรุกมาพบเจ้าหน้าที่ จำนวน 277 ราย ผู้บุกรุกไม่มาพบเจ้าหน้าที่ จำนวน 5 ราย มีผู้ยินยอมออกจากพื้นที่บุกรุก จำนวน 256 ราย และมีผู้บุกรุกอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง จำนวน 21 ราย

ต่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 นายอำเภอเมืองนครพนม ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้ปลัดอำเภออำเภอเมืองนครพนม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ “โคกกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตำบลอาจสามารถ จำนวน 21 ราย

โดยคดีดังกล่าวนี้ พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ถูกจับต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง หรือ เผาป่า กระทำด้วยประการใดอันเป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยคำขอท้ายคำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้คือ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 2, 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 22 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 มาตรา 9 ขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่ง ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองพร้อมทั้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้ร่วมคดีพิจารณา มีจำเลย จำนวน 29 คน โดยได้มีการนับสืบพยายโจทย์และพยานจำเลยช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดนครพนม
แต่ก่อนที่จะถึงวันนัดฟังคำพิพากาเพียง 2 วัน ได้สั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๔/๒๕๕๙ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๗/๒๕๕๘ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพิกถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตบางส่วน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดนครพนมได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีไปเป็นวันที่ 26 มกราคม 2560 เนื่องจากมีจำเลย 3 คนไม่สามารถเดินทางมารับฟังคำพิพากษาได้


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: