คมนาคมตีกลับแผนฟื้นฟู ขสมก. หลังเสนอจ้างกระเป๋ารถเมล์ 2,000 คนออก จ่ายคนละ 1 ล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2738 ครั้ง

คมนาคมตีกลับแผนฟื้นฟู ขสมก. หลังเสนอจ้างกระเป๋ารถเมล์ 2,000 คนออก จ่ายคนละ 1 ล้าน

คมนาคมตีกลับแผนฟื้นฟู ขสมก. สั่งกลับไปทำแผนใหม่ภายใน 2 เดือน หลังแนวทางแก้ไขหนี้กว่าแสนล้านบาทยังไม่ชัดเจนและการหยุดปัญหาขาดทุนในอนาคต ทั้งนี้ ขสมก. มีการหลังเสนอจ้างกระเป๋ารถเมล์ 2 พันคนออก จ่ายคนละ 1 ล้านบาทด้วย ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเกี่ยวกับแผนการจัดการบริหารหนี้สินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ขสมก. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่ง ณ เดือนม.ค. 2560 มียอดรวมทั้งสิ้น 103,598.543 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขสมก. นำเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหานี้ออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ให้รัฐรับภาระหนี้สิ้นทั้งหมด 103,598.543 ล้านบาท 2. ให้รัฐรับภาระเฉพาะหนี้สินที่เกิดมาจากนโยบายภาครัฐ วงเงินรวมทั้งสิ้น 84,898.651 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO) หรือเงินที่เกิดจากการตรึงราคาค่าโดยสารอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนตามนโยบายของรัฐบาล เฉลี่ยคันละ 3,000 บาท/วัน และบริการรถเมล์ฟรี เฉลี่ยคันละ 10,000 บาท/วัน ซึ่งมีจำนวน800 คัน/ปี และส่วนที่เหลืออีก 18,699.892 ล้านบาท ขสมก.จะรับภาระเอง 3. ให้รัฐรับภาระ PSO ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันขสมก. มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ โดยรัฐจะต้องรับภาระรวม 55,798.089 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 47,800.453 ล้านบาท ขสมก.จะเป็นผู้รับภาระ

นายพิชิตกล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าแผนฟื้นฟูที่ขสมก.นำเสนอยังขาดความชัดเจนเรื่องแนวทางแก้ปัญหาการขาดทุนที่ชัดเจน จึงขอให้ขสมก.กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก่อน ที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ รวมทั้งให้ไปหาข้อสรุปเรื่องตัวเลขต้นทุนการเดินรถมาตรฐานให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากขสมก.จะต้องนำต้นทุนดังกล่าวมาใช้เป็นตัวเลขในการคำนวนวงเงินอุดหนุนที่จะนำไปใช้ในแผนไขปันหาหนี้สินขสมก.ในอนาคต นอกจากนี้ยังขอให้ขสมก.ปรับแก้แผนฟื้นฟูให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ภายในองค์กรซึ่งจะต้องมีการรวมแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นภายในองค์กรเข้าไปด้วย

“ขสมก.จะต้องกลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ให้ชัดเจน เพราะแผนเดิมมีแค่หลักการ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการหรือแอกชั่นแพลนที่ชัดเจน และต้องไปปรับให้แผน ฟื้นฟูเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ภายในด้วย เพราะที่ประชุมต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องของรายได้ในอนาคตของขสมก. ที่จะต้องแข่งขันกับเอกชนเต็มตัวหลังจากที่ปรับบทบาทใหม่ ต้องมีแผนแก้ไขปัญหาขาดทุนว่าจะทำอย่างไรบ้าง จะจัดการกับหนี้ 1.03 หมื่นล้านบาทอย่างไร โดยจะต้องนำผลสรุปเสนอที่ประชุมอีกครั้งภายใน2 เดือน โดยขสมก.จะต้องเลือกเลยว่า อยากได้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ แบบไหน ตามแนวทางที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งบอร์ดขสมก.จะต้องเป็นคนเลือก จากนั้นกระทรวงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่”

นายพิชิตกล่าวถึงภาระหนี้ภาพรวมของขสมก. 103,598.543 ล้านบาท ว่า ปัจจุบันขสมก. มีภาระขาดทุนเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟูที่ขสมก. นำเสนอตั้งเป้าที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วนคือ ลดภาระค่าใช้จ่ายหนี้ดอกเบี้ยจ่าย 3,000 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิง 2,000 ล้านบาท โดยระบุว่าหากสามารถลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิงลงได้ จะลดภาระขาดทุนได้มาก และหากลดต้นทุนด้านบุคคลกรได้เพิ่มเติมอีกจะทำให้ขสมก.เริ่มมีกระแสเงินสดที่เป็นบวก

นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร รักษาการในตำแหน่งผอ.ขสมก. กล่าวถึงแนวทางการ ลดต้นทุนด้านบุคคลกรว่า ปัจจุบันขสมก.มีบุคคลกร รวม 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร 4.8 คน/คัน ถือว่าสูงมาก จะต้องปรับลดให้เหลือ 2.4 คน/คัน

ซึ่งตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าต้องปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 2,000 คน ในปี 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบตั๋ว โดย ขสมก.เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2561 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงานเก็บค่าโดยสารจำนวน 2,000 คน หรือเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาท เบื้องต้นทราบว่ามีพนักงานจำนวนมากที่แสดงความสมัครใจพร้อมเข้าร่วมโครงการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: