องค์กรสิทธิแรงงานจับมือ CPF ตั้งศูนย์ Labour Voices ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2488 ครั้ง

องค์กรสิทธิแรงงานจับมือ CPF ตั้งศูนย์ Labour Voices ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ลงนามบันทึกข้อตกลง จัดตั้งศูนย์ LABOUR VOICES (เสียงพนักงาน) เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานซีพีเอฟทุกคน ได้แสดงความคิดเห้น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมุ่นต่อการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีของซีพีเอฟ ที่มาภาพ: banmuang.co.th

เว็บไซต์บ้านเมืองรายงานเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ (LPN) ลงนามบันทึกข้อตกลง จัดตั้งศูนย์ Labour Voices (เสียงพนักงาน) เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานซีพีเอฟทุกคน ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีของซีพีเอฟ

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับมูลนิธิ LPN เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในเรื่องการรับฟังเสียงจากพนักงาน ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ “Labour Voices” ของบริษัทขึ้น เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกเชื้อชาติทั้งไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติที่ทำงานกับซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานซีพีเอฟทุกคน ทุกระดับ ทุกเชื้อชาติทั้งชาวไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งบวกและลบ ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งมีการจัดอบรมแรงงานซีพีเอฟได้มีความรู้และตระหนักในสิทธิของแรงงาน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถจัดการปัญหาความเสี่ยงด้านแรงงานต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีของอุตสาหกรรมอาหาร

“Labour Voices” จะเป็นศูนย์รับเรื่องพนักงานที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่และทนายความจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานซีพีเอฟ ช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการรักษาความลับ ซึ่งทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่แท้จริง อย่างรวดเร็วและเข้าไปจัดการได้อย่างทันท่วงที” นายปริโสทัตกล่าว

นายปริโสทัตกล่าวต่อว่า LPN เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่มีความเชี่ยวชาญ และคุ้นเคยสภาพแวดล้อมและปัญหาแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยมากว่า 20 ปี อีกทั้งมีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งภาครัฐ ภาคสังคม และเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาช่วยจัดการปัญหาแรงงานเชิงบูรณาการในทุกมิติตั้งแต่ การให้คำแนะนำและช่วยเหลือ และส่งเสริมผลักดันให้แรงงานและพนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานขององค์กร และมูลนิธิ LPN มีประสบการณ์ดำเนินศูนย์ฮอทไลน์ของแรงงานที่เครือข่ายจิตอาสาที่เชี่ยวชาญทั่วประเทศที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแรงงานไทยและต่างชาติ แต่ละวันมีโทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์ฯ มากกว่า 1000 สาย นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังเปิดให้แรงงานเข้าถึงความช่วยเหลือผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึง เฟซบุ๊คที่มีผู้ติดตามประมาณ 150,000 คน

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ในการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ยังครอบคลุมการจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติของซีพีเอฟได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสถานที่ทำงาน เพื่อให้แรงงานทุกคนได้ทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟด้วยความปลอดภัย สุขภาพวะที่ดี และมีความสุข ขจัดปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนในซีพีเอฟดีขึ้น

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การที่ภาคธุรกิจของไทยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานของไทย นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ต่างฝ่ายจะได้นำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายบูรณาการในการจัดการปัญหาแรงงานบังคับ แรงงานทาส และแรงงานเด็ก ผ่านการสร้างช่องทางรับฟังเสียงของแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ Labour Voices จะมาจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรกลาง ช่วยสร้างความไว้วางใจของแรงงานได้เปิดใจที่จะแสดงความเห็น รวมถึงการขอคำแนะนำอย่างสะดวกใจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีต่อไป

ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสิทธิมนุษยชน การจัดหาแรงงาน และการปฏิบัติต่อแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard 8001-2010) และแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (Good Labour Practices) เพื่อให้พนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: