ข้อมูลจาก 'โครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้น ทวีปหลังยุคสงครามเย็น' ระบุว่าหลังปี 1986 รัฐบาลลาวได้ผ่อนคลายการควบคุมจากส่วนกลาง ให้เสรีภาพแก่เอกชนในการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ลาวต้องปรับเปลี่ยนระบบการเมือง และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการผ่อนคลายการควบคุมและเปิดกว้างเสรีภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร ที่เป็นผลโดยตรงจากการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 1990 เช่น ระบบโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ต ได้เร่งการเติบโตของสื่อในลาว โดยมีการปรับปรุงไปรษณีย์และบริการการสื่อสารโทรคมนาคมและระบบโทรศัพท์ในปี 1993 โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายไม่เฉพาะแต่ในนครหลวงเวียงจันทน์ แต่ยังขยายไปในเมืองห่างไกลและในพื้นที่เขตภูเขา และมีการเปิดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วไป โดยในปี 2014 ลาวมีสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสิ้น 127 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์จำนวน 27 ฉบับ ทั้งของรัฐและเอกชน มีโรงพิมพ์ และออกแบบการพิมพ์จำนวน 110 แห่ง มีจำนวนหนังสือที่พิมพ์ตั้งแต่ปี 2010-2014 จำนวน 1,850,340 เล่ม มีสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งระบบ FM และ AM 63 สถานี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2011 ถึง 20 สถานี อยู่ในส่วนกลาง 11 สถานี เทศบาลแขวง 19 สถานี และเมือง (อำเภอ) 33 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 90 ของประเทศ ขณะที่ดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเผยแพร่ในภาษาลาวแล้ว ยังเผยแพร่ภาษาชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย คือ ม้ง และขมุ รวมทั้งภาษาต่างประเทศ โดยมีสถานีโทรทัศน์จำนวน 37 สถานี เพิ่มขึ้นจากปี 2011 จำนวน 5 สถานี โดยอยู่ในส่วนกลาง 9 สถานี แขวงต่าง ๆ 17 สถานีและเมือง 11 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศ
การผ่อนคลายเสรีภาพในด้านสื่อทำให้ประชาชนลาวมีสิทธิที่จะฟังวิทยุหรือชมรายการโทรทัศน์จากนอกประเทศ โดยกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมได้อนุญาตให้เอกชน คือ บริษัท โทรภาพใช้สาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจลาวกับนักธุรกิจจีนให้บริการเคเบิ้ลทีวีในประเทศ ซึ่งช่วยให้ผู้ชมลาวที่อยู่อาศัยในนครหลวงเวียงจันทน์สามารถรับชมเคเบิลทีวีได้ถึง 30 ช่อง นอกเหนือจากสามารถดูช่องโทรทัศน์จากทั่วโลกจากการที่รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น BBC,CNN, CNBC, WorldNet, ABC Asia Pacific, TV5 (ฝรั่งเศส) DW (เยอรมัน) RAI (อิตาลี), MTV, Starsport รวมทั้งช่องโทรทัศน์ของจีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา เกาหลี ฯลฯ รัฐบาลยังได้อนุญาตให้มีการดำเนินการโครงการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมโดยเอกชน โดยมีสถานีโทรทัศน์เอกชน 2 สถานี คือ โทรทัศน์ลาวสตาร์ของสโมสรส่งเสริมวัฒนธรรมบรรดาเผ่า ออกอากาศในปี 2007 ผ่านทางดาวเทียมไทยคม 5 เนื่องจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าคนลาวทั่วประเทศรวมทั้งคนไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมหันเข้าหาดาวเทียมไทยคม 5 และโทรทัศน์ MV ลาว นอกจากนี้องค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ยังได้ลงนามในโครงการพัฒนาดาวเทียมและดาเนินธุรกิจระบบวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมกับกลุ่มทุนจีนร่วมกับกลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินอวกาศของจีน (CASC) บริษัทดาวเทียมโทรคมเอเชียแปซิฟิก-จีน จำกัด และบริษัท อุตสาหกรรมกำแพงเมืองจีน จำกัด อีกด้วย
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Radio Free Asia
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ