'โครงการตำบลละ 5 ล้าน' ถลุง 3.8 หมื่นล้าน ปัญหาซ้ำรอย 'ประชานิยม'

ทีมข่าว TCIJ : 26 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 14681 ครั้ง

‘มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล’ หรือ ‘โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท’ อัดฉีดเงินสู่ชนบท 7,255 ตำบล วงเงินรวม 36,275 ล้านบาท ที่มาภาพ: ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

หลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อกลางปี 2557 รัฐบาลคสช.ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในชนบท รวมทั้งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆของรัฐ โดยโครงการที่ถือว่าเป็นการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปยังภาคชนบทที่อนุมัติไปเมื่อช่วงปี 2558 อย่าง 3 มาตรการ ‘แพคเกจโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท’ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 2.การสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) ทั้ง 3 มาตรการนี้ได้ใช้เงินงบประมาณซึ่งเป็นภาษีจากประชาชนถึง 38,775.38 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติมใน จับตา: ว่าด้วยตัวเลขเม็ดเงิน ‘เบิกจ่าย-ยกเลิก-คืนคลัง’ โครงการตำบลละ 5 ล้าน) และเดิมทีมีกำหนดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 แต่ต่อมาได้มีการเลื่อนปิดโครงการมาเป็นปลายเดือน มี.ค. 2559 ซึ่งจากการตรวจสอบโครงการโดยการระดมผู้ตรวจราชการหลายกระทรวงพบว่า ‘แพคเกจโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท’ นี้ยังมีช่องโหว่และปัญหาเดิมๆ ไม่แตกต่างกับข้อวิจารณ์ ‘โครงการประชานิยม’ ของรัฐบาลในชุดที่ผ่าน ๆ มา

 

โครงการซ่อมแซมทรัพย์สินมากสุด-โครงการสร้างอาชีพหรือแค่ทำกับข้าวกินกันเอง ?

 

การซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ยังเป็นโครงการยอดฮิตในการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ชนทบ ที่มาภาพ: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.)

ข้อมูลจาก ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าสำหรับ ‘มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท)’ นั้นเมื่อแยกลักษณะของโครงการตามแต่ละประเภท (คำนวณจากโครงการที่ผ่านการอนุมัติระดับจังหวัดและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ 120,791 โครงการ) พบว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะถึง 84.03% (101,500 โครงการ), โครงการด้านเศรษฐกิจสังคม 10.49% (12,670 โครงการ) และเป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 5.48% (6,621 โครงการ)  และข้อค้นพบของผู้ตรวจราชการฯ ก็ระบุไว้ด้วยว่าโครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินส่วนใหญ่ไม่ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพโดยตรง และไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมศาลาประชาคม เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า

 

หลายโครงการมีความไม่ชอบมาพากลเช่นเดียวกับโครงการทำนองนี้ในอดีต เช่น การใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบ เป็นต้น ที่มาภาพ: 'ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน' ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นอกจากนี้ ในหลายโครงการก็ยังมีความไม่ชอบมาพากลเช่นเดียวกับข้อวิพากษ์วิจารณ์โครงการทำนองนี้ในอดีต เช่น การก่อสร้างหลายรายการใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบ เป็นต้น ตัวอย่างจากการตรวจสอบโครงการปรับปรุงต่อเติมศาลาหมู่บ้าน และจัดภูมิทัศน์รอบศาลาหมู่บ้าน แห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี โดย  'ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน' ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่าในแรกเริ่ม โครงการฯ หมู่บ้านจะมีส่วนเพียงแค่เสนอโครงการเท่านั้น จากนั้นไม่มีส่วนร่วมอื่นอีกเลย โดยทางอำเภอได้เข้ามาดำเนินการทุกอย่าง ทั้งการจัดหาผู้รับเหมาเข้าดำเดินการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อครบกำหนดงาน อำเภอส่งหนังสือให้ตรวจรับงานโดยไม่มีรายละเอียดอะไรให้ ผู้ใหญ่บ้านต้องทำเรื่องขอรายละเอียดแบบก่อสร้างเพื่อมาประกอบการตรวจงานและพบว่างานก่อสร้างไม่ถูกสเป็คตามแบบแปลน (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมกรณีนี้)

 

พบโครงการส่งเสริมอาชีพการทำอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต กลายเป็นแค่ทำกับข้าวกินกันเอง ไม่มีการสอนหรือบอกสูตรการปรุง แต่เหมือนการช่วยกันทำอาหารงานเลี้ยงงานบุญในชนบททั่วไป ที่มาภาพ: 'ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน' ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ข่าวฮือฮาอีกหนึ่งกรณีในช่วงการดำเนินโครงการตำบลละ 5 ล้าน ก็คือตัวอย่างโครงการส่งเสริมอาชีพการทำอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของตำบลหนึ่งใน จ.นครปฐม จากการขุดคุ้ยของปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ระบุว่าการทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพการทำอาหารดังกล่าวใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ผู้ใหญ่บ้านได้ให้คนสนิทหารายชื่อ ชวนชาวบ้านหรือคนว่างงานเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านสูงอายุ โดยช่วงเช้าของแต่ละวัน เวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า จะให้ชาวบ้านมารวมตัวเพื่อถ่ายรูป จากนั้นแยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัว เหลือคนอยู่ต่อช่วยกันทำอาหารไม่มาก เมื่อถึงเวลาประมาณ 11 โมง ชาวบ้านก็จะทยอยกันมาเพื่อรับประทานอาหารที่ศาลาอเนกประสงค์ และนำอาหารกลับไปบ้าน หรือแบ่งไปแจกจ่ายคนอื่น โดยทำแบบนี้จนครบ 10 วัน ส่วนอาหารที่ทำเป็นอาหารพื้นบ้านทั่วไป เช่น ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา น้ำพริกกะปิ ปลาทูทอด ผักต้ม ไก่ทอด ขาหมู บ๊ะจ่าง ไข่เค็ม สาคูเปียกมะพร้าวอ่อน ขนมชั้น เป็นต้น ส่วนวิทยากรเป็นชาวบ้านที่รู้วิธีการทำอาหารเหล่านั้นแต่ไม่มีการสอนหรือบอกสูตรการปรุงแต่อย่างใด กิจกรรมเป็นลักษณะการช่วยกันทำอาหารเลี้ยงงานบุญในชนบททั่วไป และกิจกรรมจัดขึ้นโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของอำเภออยู่ดูแล เพียงแค่มาถ่ายรูปในแต่ละวันเท่านั้น (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมกรณีนี้)

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมอาชีพด้านการทำอาหารนั้น ในรายงานของผู้ตรวจราชการ ยังระบุไว้ด้วยว่า "การใช้วัตถุดิบประเภทผงปรุงรสและผงเติมรสในโครงการส่งเสริมอาชีพและการทำอาหารมากเกินความจำเป็นและน่าจะมีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน" ด้วย 

 

ตรวจพบ ‘ช่องโหว่และปัญหา’ เพียบ

อย่างนี้ก็มีด้วย? จากการตรวจสอบโดยผู้ตรวจราชการ พบตัวอย่างการอนุมัติโครงการตำบลละ 5 ล้าน โครงการโรงสีข้าวชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมี 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่ โรงสีชุมชนและระบบสายส่งไฟฟ้า แต่กลับมีการอนุมัติงบประมาณเฉพาะโรงสีชุมชน ไม่ได้อนุมัติระบบสายส่งไฟฟ้า จึงทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในการเดินเครื่องจักร ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก 'รายงานผลการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ประเด็นนโยบายเร่งด่วน (Hot Issue) เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ : มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล' โดย ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หน่วยงานในสังกัดเป็นหน่วยเบิกจ่าย ซึ่งประกอบไปด้วย1.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 2.การสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และ 3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) โดยได้ส่งรายงานฉบับนี้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) พบช่องโหว่และปัญหาสำคัญ ๆ ดังนี้

การขาดประสบการณ์ของกลุ่มชาวบ้าน พบบางกลุ่มไม่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพที่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมทั้งด้านการผลิตการบริหารจัดการ และการตลาด ซึ่งอาจทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่ยั่งยืน หลายโครงการมีลักษณะเป็นการแจกจ่ายปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น หากขาดการบริหารจัดการที่ดี อาจทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์เพียงระยะเวลาหนึ่งขาดความต่อเนื่องยั่งยืน การดำเนินโครงการที่มีลักษณะการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคแต่ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการผลิต ตัวอย่างเช่น พบโครงการผลิตน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท และการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งลักษณะผลิตภัณฑ์จะต้องดำเนินการผลิตให้ได้มาตรฐาน Primary GMP ต้องดำเนินการขออนุญาต หรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ระเบียบข้อกำหนดหรือกฎหมายซึ่งกระทรวงมหาดไทยควรประสานแจ้งข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ทราบข้อมูลและเร่งดาเนินการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือแก่กลุ่มราษฎรในพื้นที่ เพื่อดำเนินการผลิตให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย เป็นการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และทำให้โครงการของรัฐมีความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เป็นต้น บางโครงการได้รับอนุมัติงบประมาณไม่ครบทุกกิจกรรม ทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการได้ หรือไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น โครงการโรงสีข้าวชุมชน มี 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่ โรงสีชุมชนและระบบสายส่งไฟฟ้า ได้รับงบประมาณเฉพาะโรงสีชุมชนแต่ไม่ได้รับการอนุมัติระบบสายส่งไฟฟ้า จึงทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในการเดินเครื่องจักร เป็นต้น

โครงการมีขนาดเล็ก มีจำนวนโครงการมาก ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านสิ่งก่อสร้างที่ไม่ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ พบ หลายตำบลใช้วิธีการหารเฉลี่ยงบประมาณให้กับแต่ละหมู่บ้าน ผลที่เกิดขึ้น คือ โครงการมีขนาดเล็ก มีจำนวนโครงการมากส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านสิ่งก่อสร้างที่ไม่ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพโดยตรง และเป็นโครงการใหม่ขาดความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ ตั้งแต่การจัดทำแบบรูปรายการละเอียด การประมาณราคาค่าก่อสร้าง และการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับปริมาณโครงการที่มีจำนวนมาก และ การขออนุญาตใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ เนื่องจากขั้นตอนการขออนุญาตต้องใช้ระยะเวลานาน ประกอบกับ บางตำบล/อำเภอพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่า หรือพื้นที่อุทยาน บางตำบลมีการจัดทำโครงการลักษณะเดียวกันหลายโครงการ ที่อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมศาลาประชาคม เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากมีการจัดซื้อจัดจ้างจากร้านค้าในพื้นที่ และการจ้างแรงงานที่ทำให้เกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อยมีงานทำและมีรายได้นำไปซื้อสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี เงินหมุนเวียนและการเกิดรายได้เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ กำลังซื้อที่เกิดขึ้นไม่ต่อเนื่อง

บางพื้นที่ผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้รับจ้างหลายโครงการหรือทุกโครงการ เนื่องจากในพื้นที่มีผู้ประกอบการน้อยราย ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ลักษณะโครงการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดกับเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติงบประมาณของสำนักงบประมาณไม่สอดรับกัน โดยสำนักงบประมาณมิได้แจ้งเกณฑ์การพิจารณาว่าโครงการลักษณะใดที่ไม่ควรเสนอของบประมาณ จึงทำให้โครงการที่ผ่านการพิจาณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับจังหวัดอาจไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในหมู่บ้าน การปลูกป่า เป็นต้น โดยสำนักงบประมาณพิจารณาว่าไม่เป็นการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาภายในตำบลหรือชุมชน ทำให้ชุมชนต้องเสนอโครงการใหม่ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้าออกไป

กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเสนอขอรับการสนับสนุนน้อย เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ยังไม่ครอบคลุม และภาครัฐไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ ทรัพย์สินที่เกิดจากโครงการให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ทำให้กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ไม่แน่ใจว่าได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างไรบ้าง และต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ในช่วงแรกของกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ยังไม่สามารถนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรไปใช้งานได้ เนื่องจากต้องรอการขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์และการขอยืมใช้ ขณะที่การรับประกันสินค้าเริ่มตั้งแต่วันที่ตรวจรับงานจากผู้ขาย ทำให้เสียประโยชน์ของการรับประกันสินค้า เครื่องจักรกลการเกษตรบางรายการไม่สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากได้รับอนุมัติงบประมาณต่ำกว่าคำขอ ทำให้ต้องปรับคุณลักษณะให้สามารถจัดหาได้ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เช่น จัดซื้อได้เฉพาะตัวรถไถ ไม่มีพานไถ เป็นต้น บางกลุ่มได้รับอนุมัติงบประมาณไม่ครบรายการตามคำขอ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น ได้รับงบประมาณเฉพาะการจัดซื้อรถไถ แต่ไม่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อรถบรรทุก ซึ่งกลุ่มมีความจำเป็นต้องใช้ในการเคลื่อนย้ายรถไถระหว่างพื้นที่ของสมาชิกแต่ละราย เป็นต้น

บางพื้นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักการเสนอโครงการภายใต้แต่ละมาตรการ โดยที่การดำเนินงานทั้ง 3 มาตรการ อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน แต่หลักการเสนอโครงการภายใต้แต่ละมาตรการแตกต่างกัน โดยมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน กำหนดให้กลุ่มของเกษตรกรหรือองค์กรของเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันเอง หรือกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์ กำหนดให้สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และมีการดำเนินงานบริหารที่ต่อเนื่องเป็นผู้เสนอโครงการ ส่วนมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นผู้เสนอโครงการ ดังนั้น ในระยะแรกประชาชนจึงอาจมีความสับสนในการเสนอโครงการ เนื่องจากหน่วยงานในพื้นที่มีระยะเวลาในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนน้อย จึงทำให้การเสนอโครงการอาจเกิดข้อผิดพลาดและล่าช้า

วัสดุครุภัณฑ์การเกษตรบางรายการได้รับอนุมัติงบประมาณต่ำกว่าราคาตลาดในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง เช่น พื้นที่เขา พื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่เกาะ เป็นต้น งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรบางรายการไม่เพียงพอ ต้องส่งคืนงบประมาณ เนื่องจากการประมาณการราคากลางผิดพลาด หรือได้รับอนุมัติงบประมาณต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ไม่มีผู้สนใจยื่นเสนอราคา บุคลากรไม่มีความรู้ความชำนาญทางช่างโยธา ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องเขียนแบบรูปรายการ ขณะที่หน่วยงานเจ้าของโครงการส่วนใหญ่ คือ อำเภอ ซึ่งไม่มีบุคลากรด้านที่มีความรู้ความชำนาญทางช่างโยธา ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำให้การประมาณราคาและจัดทำรูปแบบรายการล่าช้า นอกจากนี้ ช่างผู้ควบคุมงานต้องรับผิดชอบหลายโครงการ ทำให้เขียนรายงานประจำวันไม่ทัน ส่งผลให้การจัดทำเอกสารการเบิกจ่ายล่าช้าไปด้วย 

ความเร่งรีบในการจัดทำโครงการ ทำให้รายละเอียดเอกสารประกอบการดำเนินโครงการไม่สมบูรณ์หรือผิดพลาด เช่น การคำนวณราคากลาง คุณลักษณะ ใบเสนอราคา แบบรูปรายการ ความพร้อมของพื้นที่ เป็นต้น ส่งผลให้ต้องมีการขออนุมัติแก้ไขโครงการ ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าออกไป เนื้องานกับงบประมาณ ไม่สอดคล้องกัน ระยะเวลาการจัดทำโครงการมีจำกัด ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในรายละเอียดของโครงการกำหนดเนื้องานกับงบประมาณ ไม่สอดคล้องกัน คุณลักษณะเฉพาะของวัสดุครุภัณฑ์ที่กำหนดไม่มีจาหน่ายในท้องตลาด จัดทำรายละเอียดโครงการและแบบแปลนไม่ชัดเจน พิมพ์คลาดเคลื่อน บางโครงการประมาณการราคาไว้ต่ำ หรือบางโครงการถูกปรับลดงบประมาณ วงเงินของครุภัณฑ์บางรายการที่สำนักงบประมาณอนุมัติมีราคาต่ำกว่าท้องตลาดในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ เช่น รถแทรกเตอร์ แม่พันธุ์-พ่อพันธุ์สัตว์ เป็นต้น ทำให้ต้องมีการปรับคุณลักษณะหรือรายละเอียดของวัสดุครุภัณฑ์ให้สามารถจัดหาได้ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของวัสดุครุภัณฑ์ ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้งาน และอาจไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร อาทิ มีแต่ตัวเครื่องจักรกลไม่มีอุปกรณ์ต่อพ่วง หรือพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่มีอายุน้อยมีอัตราการตายสูงและความลำบากในการขนส่งย่อมมีความแตกต่างกัน เช่น พื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกาะ พื้นที่ราบและพื้นที่ภูเขาสูงพื้นที่ในตัวจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัด เป็นต้น วัสดุครุภัณฑ์บางรายการมีการปรับราคาสูงขึ้นจากวันที่จัดทำโครงการ เนื่องจากการดำเนินโครงการในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมาก จึงมีความต้องการวัสดุครุภัณฑ์ประเภทเดียวกันสูง ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

ชุมชนไม่ต้องการโครงการ ในเขตพื้นที่ของชุมชนเขตเทศบาลบางแห่ง พบปัญหาเรื่องการทำประชาคมทำให้ต้องยกเลิกโครงการ บางโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไม่สอดคล้องกับฤดูกาลผลิต หรือพื้นที่ไม่พร้อมดำเนินการ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณเมื่อล่วงเลยฤดูกาลผลิตไปแล้ว หรือพื้นที่อยู่ในช่วงประสบปัญหาภัยแล้ง ดินเค็ม พื้นที่ทรุดตัว ปลูกพืชอื่นทดแทนไปแล้ว รวมทั้งบางโครงการไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ ผู้รับจ้างทิ้งงาน มีทั้งกรณีที่ทิ้งงานโดยยังมิได้เข้าดำเนินการ กับทิ้งงานโดยได้มีการดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้หารือแนวทางการดาเนินงานกับคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ได้ข้อสรุปว่า กระทรวงมหาดไทยสามารถบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายเดิม และเริ่มต้นจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการลงโทษผู้ทิ้งงานเสร็จสิ้น ห้วงระยะเวลาในการดำเนินการโครงการไม่สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เช่นโครงการปลูกพืชหลังฤดูเก็บเกี่ยวของจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม จึงต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อพันธุ์พืชมาเก็บไว้มีผลทำให้คุณภาพลดลง เป็นต้น บางโครงการดำเนินการได้ล่าช้า เนื่องจากพื้นที่ดำเนินโครงการมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินโครงการล่าช้า การดำเนินการจัดหาบางรายการล่าช้าเนื่องจากต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะ เนื่องจากกำหนดคุณลักษณะเฉพาะไว้มีความคลาดเคลื่อน หรือเป็นรุ่นที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว หรืองบประมาณที่ได้รับอนุมัติต่ำกว่า หลายโครงการไม่มีผู้ยื่นเสนอราคารับดำเนินโครงการ เนื่องจากมีการดำเนินโครงการในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่มีจำนวนน้อยราย ผู้ประกอบการจึงเลือกรับเฉพาะงานที่มีวงเงินงบประมาณสูง หรือพื้นที่ดำเนินการไม่ลำบาก

ปริมาณงานของโครงการไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ปริมาณงานของโครงการประเภทขุดลอกแหล่งน้ำไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากในรายละเอียดโครงการไม่ได้ระบุให้เป็นค่าเฉลี่ย ขณะที่แหล่งน้ำมีขนาดความกว้าง ความยาว และความลึกไม่เท่ากันตลอดสาย จึงทำให้ปริมาณงานคลาดเคลื่อน บุคลากรของแต่ละอำเภอมีจำนวนน้อย ไม่ชำนาญในการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากทั้ง 3 มาตรการ ดำเนินการในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ ตำบลละ 5 ล้านบาท ที่มีจำนวนโครงการมาก ภาระงานด้านเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างจึงมีเป็นจำนวนมาก และต้องเร่งดำเนินการในเวลาจำกัด ขณะที่บุคลากรของอำเภอมีจำนวนน้อยและไม่ชำนาญในการจัดซื้อจัดจ้าง การบันทึกข้อมูลในระบบ e-GP และการเบิกจ่ายเงิน และความไม่พร้อมของอุปกรณ์และระบบ คอมพิวเตอร์ แม้จะมีการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนงานอื่น ๆ มาช่วยดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยบางรายก็ไม่ชำนาญในการจัดซื้อจัดจ้างเช่นกัน การอนุมัติงบประมาณล่าช้าทำให้กลุ่มเป้าหมายของบางโครงการลดลง เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ได้รับอนุมัติงบประมาณเมื่อพ้นฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรจึงเข้าร่วมโครงการน้อยลง ทำให้มีเงินเหลือจ่ายต้องส่งคืนเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

ปัญหาการโอนทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยที่การดำเนินโครงการทั้ง 3 มาตรการดำเนินการในลักษณะที่ส่วนราชการเป็นเจ้าของงบประมาณและเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ จึงเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพย์สิน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการโดยการขอยกเว้นผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้โอนทรัพย์สินให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร (ศบกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้ใช้ประโยชน์มีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สิน และเกิดความสามัคคีในชุมชน อย่างไรก็ดี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่มีความพร้อมที่จะรับโอนทรัพย์สินตามโครงการ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในการดูแลและบำรุงรักษา และสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายโครงการยังไม่มีการทำข้อตกลงการใช้งาน อาทิ ลานตากผลผลิต โรงเรือนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น

อนึ่ง พื้นที่ในการตรวจติดตามของผู้ตรวจราชการฯ ตามรายงานฉบับนี้ได้แก่ 1.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (ติดตามทั่วประเทศ) 2.การสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (21 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก แพร่ ลาปาง ขอนแก่น บุรีรัมย์ เลย สกลนคร อุบลราชธานี ชุมพร ปัตตานี พังงา และยะลา) 3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ติดตามทั่วประเทศ) ตรวจสอบในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2559 และสิงหาคม – กันยายน 2559 และหลังจากการดำเนินแพคเกจโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังมีโครงการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ชนบทอีก คือโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 อีกหมู่บ้านละ 200,000 บาท สิ้นสุดโครงการไปเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2559 จากนั้นมติที่ประชุม ครม. เมื่อเดือน ต.ค. 2559 เห็นชอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560 โดยอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการรวมวงเงิน 18,760 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปแก่หมู่บ้านแห่งละ 250,000 บาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน วงเงินรวม 18,663.75 ล้านบาท และค่าดำเนินโครงการจำนวน 96.25 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 เดือน สิ้นสุดเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: เม็ดเงิน ‘เบิกจ่าย-ยกเลิก-คืนคลัง’ โครงการตำบลละ 5 ล้าน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: