คนหันผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ใช้เองมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8598 ครั้ง

คนหันผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ใช้เองมากขึ้น

กกพ. ชี้ทิศทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ลงทุนจะเบนเข็มจากโซลาร์ฟาร์ม สู่โซลาร์เซลล์ที่ผลิตเพื่อใช้เอง หรือ Isolated Power Supply –IPS มากขึ้น หลังภายใน 1-2 ปีข้างหน้า รัฐจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มเนื่องจากไม่สามารถควบคุมพื้นที่การผลิตได้อย่างเหมาะสมในขณะที่ปี 2560 กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อีก 874 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินลงทุนอีก 43,700 ล้านบาท ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษกกพ. เปิดเผยว่า ทิศทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์เซลล์) ในประเทศไทยนับจากนี้ จะหันไปสู่การผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง หรือ Isolated Power Supply –IPS เป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าในแบบดังกล่าวแล้ว 83 เมกะวัตต์ และคาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ลดลงมาก อีกทั้งจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรีมากขึ้นด้วย

นายวีระพล กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์แบบ IPS จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ครบ 6,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ในปี 2579 จากปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์เข้าระบบรวมแล้วประมาณ 3,200 เมกะวัตต์​ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์มนั้นภาครัฐจะหยุดรับซื้อในระยะ 1-2 ปีนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่สามารถควบคุมพื้นที่การผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบ IPS หากต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์​ ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ) แต่ต้องมาจดแจ้งใบอนุญาตจาก กกพ. และขอใบอนุญาตพลังงานควบคุมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อนำไปเชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้ามีกฎเกณฑ์กำหนดให้ผลิตติดตั้งโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เองที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 กิโลวัตต์​จะต้องติดตั้งเครื่องดีเลย์​เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบของการไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงต้องมีใบอนุญาตจาก พพ. มาขอเชื่อมระบบสายส่งกับการไฟฟ้า

ในขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2560 นั้น นายวีระพล กล่าวว่า จะยังมีการเปิดรับซื้อรวมทั้งสิ้น 874 เมกะวัตต์​ ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินในการลงทุนได้ประมาณ 43,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซล่าร์ฟาร์ม) กลุ่มราชการและสหกรณ์การเกษตร 219 เมกะวัตต์ 2.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน สำหรบกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP Hybrid) 300 เมกะวัตต์​ 3.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน สำหรบกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP Hybrid) 269 เมกะวัตต์ ​ 4.โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ(ไบโอแก๊ส)ที่ภาคใต้ 8 เมกะวัตต์​ และ 5.โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: