เผยผล 'วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ข้าว ทุเรียน ปาล์ม' ใช้ปริมาณน้ำในการปลูกเท่าใด

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3176 ครั้ง

เผยผล 'วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ข้าว ทุเรียน ปาล์ม' ใช้ปริมาณน้ำในการปลูกเท่าใด

สศก. เปิดผลวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เจาะปริมาณน้ำที่ใช้เพาะปลูก ข้าว ทุเรียน ปาล์ม ในหลายพื้นที่แนะเกษตรกรต้องวางแผน ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ และการนำเทคนิคการผลิตสมัยใหม่มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิต ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรส่วนภูมิภาค ได้บูรณาการศึกษาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และศรีสะเกษ การผลิตข้าว กข ในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี และสงขลา การผลิตทุเรียนในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จังหวัดตราด และการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จังหวัดชุมพร พบว่า

ข้าวหอมมะลิ พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 995.24 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,972.14 ลูกบาศก์เมตร และในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,024.80 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 2,590.97 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ การผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีษะเกษ มีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวสูงกว่าอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่จังหวัดศรีษะเกษมีปริมาณผลผลิตข้าวค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำของพื้นต่อไร่และต่อตันผลผลิตสูงตามไปด้วย

การผลิตข้าว กข พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,075.09 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,378.32 ลูกบาศก์เมตร และในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,053.23 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,406.46 ลูกบาศก์เมตร ส่วนในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,188.14 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าว 1,721.94 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตข้าว กข ในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทั้ง 3 แปลง พบว่า แปลงใหญ่อำเภออำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวน้อยที่สุดเพราะมีปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ค่อนข้างมากและใช้น้ำน้อยที่สุด ส่วนแปลงใหญ่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีมีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวเป็นอันดับสอง และแปลงใหญ่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลามีปริมาณการใช้น้ำต่อตันข้าวและปริมาณการใช้น้ำต่อไร่สูงสุด

การผลิตทุเรียน พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 1,525.86 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันผลผลิต 868.45 ลูกบาศก์เมตร โดยการปลูกทุเรียน 1 ไร่ ควรมีแหล่งน้ำเพื่อใช้การเกษตรขนาด 793.97 ลูกบาศก์เมตร ถึง 1,525.86 ลูกบาศก์เมตร เป็นเบื้องต้นหรือหากต้องการปลูกทุเรียน 10 ไร่ ควรมีพื้นที่สระน้ำ 1 ไร่ เพราะความต้องการน้ำชลประทานที่สูงทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น และเกษตรกรต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนไปเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย และการผลิตปาล์มน้ำมัน พื้นที่ที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ปริมาณการใช้น้ำต่อไร่ 2,157.34 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณการใช้น้ำต่อตันผลผลิต 831.28 ลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น เกษตรกรควรมีการวางแผนการเก็บกักน้ำ และการใช้น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนน้ำ และการนำเทคนิคการผลิตสมัยใหม่มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิต เช่น การใช้เทคนิคการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อใช้น้ำในปริมาณลดลง หรือเลือกวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพและปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้น้ำสูงสุดและคุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งนี้ ท่านที่สนใจต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือผลการประเมินมูลค่าน้ำทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการผลิตของสินค้าเกษตร สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี โทร. 038 352 435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: