ปัดฝุ่นแนวคิด 'ขุดคอคอดกระ' สามร้อยกว่าปีแห่งความฝัน เราต้องแลกอะไรบ้าง?

ทีมข่าว TCIJ 30 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 140267 ครั้ง

‘โครงการขุดคอคอดกระ’ อีกหนึ่งฝัน (ค้าง) อันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย TCIJ พบว่ามีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2220 จนมาถึงปี 2558 ผ่านการกดดันการเมืองทั้งในและนอกประเทศมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม แต่ยากจะเป็นไปได้จริง เพราะลงทุนสูง-ไม่คุ้มค่า และแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคที่คนไทยไม่ต้องการโครงการขนาดใหญ่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม อย่างในปัจจุบัน ที่มาภาพประกอบ: iims.org

TCIJ สืบค้นเอกสารต่าง ๆ พบว่าแนวคิดในการขุดคลองผ่านคอคอดกระ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในปี พ.ศ.2220 ใน  รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจภูมิประเทศและลงความเห็นว่าอาจปรับเส้นทางน้ำที่มีอยู่แล้วทะลุไปตะนาวศรีและมะริดได้  ซึ่งเป็นแนวความคิดแรกในการสร้างทางน้ำเชื่อมระหว่างทะเลทั้งสองภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย  ต่อมามีความพยายามของอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นในการที่เข้ามาทำการสำรวจโครงการขุดคอคอดกระหลายครั้งในยุคล่าอาณานิคม จนถึงก่อนยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นอกเหนือจากประเด็นเรื่องงบประมาณและความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว ก็ยังมีแรงกดดันเรื่องความกลัวการเสียดินแดนหรือการแบ่งแยกดินแดน ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้นักการเมืองทั้งมีอำนาจและหมดอำนาจ ก็มักจะเสนอประเด็นการขุดคอคอดกระนี้เรียกความนิยมของตน เช่นนายปรีดี พนมยงค์, พล.ท.หาญ ลีลานนท์, นายสมัคร สุนทรเวช และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น  รวมถึงคณะ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาก็เคยมีการศึกษาเรื่องนี้มาแล้วหลายสมัย แต่กระนั้นเรื่องก็เงียบไปและกลับมาใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้

ช่วงหลังปี 2540 ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โครงการขุดคอคอดกระก็ถือเป็นอีกหนึ่งความฝันในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ มีความพยายามรื้อฟื้นเรื่องคอคอดกระมาอีก แต่โครงการก็ถูกพับไปเนื่องมาจากความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการแทบจะไม่มีเลย เนื่องจากใช้งบประมาณมหาศาล และหลังจากรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศระหว่างปี 2544-2549 ก็ให้น้ำหนักกับโครงการ “แลนด์บริดจ์” มากกว่าโครงการขุดคลองผ่านคอคอดกระ ทำให้โครงการคอคอดกระแทบไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกเลย

ภาพที่สำนักข่าวออนไลน์หลายแห่งรายงานอ้างว่า พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธและ China-Thailand Kra Infrastructure Investment & Development ลงนามร่วมกันใน MOU โครงการขุดคอคอดกระที่กว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

และในปี 2558 นี้ ข่าวเรื่องการขุดคอคอดกระก็กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังมีรายงานข่าวจากสื่อออนไลน์อ้างว่า จีนและไทยได้มีการลงนาม MOU ให้มีการศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ ที่กว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558 โดยมีรูป พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามเผยแพร่ไปตามสังคมออนไลน์นั้น ซึ่งต่อมาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงข่าวอย่างเป็นทางการปฏิเสธรายงานข่าวนี้  ระบุว่ารัฐบาลจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลงนามใน MOU ดังกล่าว รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งและอัครราชทูตที่ปรึกษาพาณิชย์ก็ได้ปฏิเสธว่ารัฐบาลไทยไม่มีความเกี่ยวข้องกับการลงนามใน MOU ดังกล่าวเช่นกัน และภายหลังจากนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เองก็ได้ออกมาแถลงข่าวปฏิเสธเรื่องการร่วมลงนาม MOU นี้ด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาหลักที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจาก รศ.ดร. สถาพร เขียววิมล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ระบุว่าแนวความคิดในการขุดคอคอดกระมีการนำเสนอและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มาจนถึง ณ เวลานี้ มีอยู่ด้วยกัน 12 แนว ซึ่งการศึกษาในเรื่องนี้จะต้องพิจารณามิติต่างๆ เช่น ด้านความอิสระในการบริหารคลองของประเทศ, ด้านเศรษฐกิจของประเทศ, ด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร, ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านวิศวกรรมศาสตร์  เป็นต้น

เส้นทางขุดคอคอดกระ 12 แนว (ที่มา: กรอบการพิจารณาแนวขุดคลองไทย (คอคอดกระ),รศ.ดร. สถาพร เขียววิมล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา)

ทั้งนี้เมื่อแยกข้อเสนอในการขุดคอคอดกระที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือ  โดยหน่วยงาน องค์กร และแนวต่างๆ ที่สำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2548 สรุปแนวโน้มที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือแนว 5A (จากการศึกษาของบริษัท TAMS) และแนว 9A (จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ชุดปี 2544 ศึกษาแล้วเสร็จในปี 2548

การศึกษาและข้อเสนอหลักๆ ในการขุดคอคอดกระ (ที่มาประมวลจาก: รายงานผลการวิจัยการศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพาณิชย์ และด้านกายภาพของการขุดคอคอดกระ ส่วนที่ 1 :ส่วนการศึกษาด้านกายภาพ, สุจริต คูณธนกุลวงศ์, 2542 และรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา 2548)

การศึกษาของบริษัท TAMS เสนอขุดแนว 5A

เมื่อมีประเด็นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาครั้งใด ในอดีตหลายๆ รัฐบาลมักจะหยิบผลการศึกษาของการศึกษาของบริษัท  Tippetts-Abbett-McCarthy-Stratton หรือ TAMS ขึ้นมาดูก่อนเป็นอันดับแรก โดยผลการศึกษานี้ถือว่าเป็นผลการศึกษาเรื่องการขุดคอคอดกระที่เป็นระบบมากที่สุดครั้งแรกของประเทศไทย (และอาจจะจวบจนถึงทุกวันนี้)  ซึ่งได้นำเสนอต่อรัฐบาลในช่วงปี พ.ศ. 2516 โดย TAMS ได้ทำการศึกษา 10 แนว โดยระบุว่า แนว 5 A มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในการขุดคลองช่องทางเดียวขนาดความลึก 33.5 ม. กว้าง 490 ม. ยาว 107 กม. สามารถให้เรือขนาด 500,000 ตัน (หรือ 250,000 ตัน) แล่นผ่านได้ โดยใช้วิธีขุดแบบปกติหรือใช้นิวเคลียร์บางส่วน  ปากคลองสามารถพัฒนาท่าเรือและอุตสาหกรรมทั้งสองด้านของท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางขนถ่ายในภูมิภาคใกล้เคียงได้ โดยประมาณการงบประมาณไว้ที่ 22,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ตามค่าเงินในขณะนั้น) และข้อเสนอนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำมาประมวลผลศึกษาและคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่ในปี 2541 พบว่ามูลค่าการลงทุนจะสูง 500,000-810,000 ล้านบาท (ตามค่าเงินในขณะนั้น)

แผนที่แนวขุดคอคอดกระจากการศึกษาของ TAMS (ที่มา: รายงานผลการวิจัย การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพาณิชย์ และด้านกายภาพของการขุดคอคอดกระ ส่วนที่ 1 : ส่วนการศึกษาด้านกายภาพ, สุจริต คูณธนกุลวงศ์, 2542)

ตารางเปรียบเทียบแนวขุดคอคอดกระจากการศึกษาของ TAMS (ที่มา: รายงานผลการวิจัย การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพาณิชย์ และด้านกายภาพของการขุดคอคอดกระ ส่วนที่ 1 : ส่วนการศึกษาด้านกายภาพ, สุจริต คูณธนกุลวงศ์, 2542)

คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ชุดปี 2543 เสนอขุดแนว 9A (เสนอรายงานเมื่อปี 2548)

คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา สำรวจเส้นทาง 9A เมื่อปี 2545

เส้นทางขุดคลองไทย (หรือแนว 9A) ผ่านจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา โดยขุดคลองเชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ความยาว 120 กิโลเมตร ลึก 35 - 40 เมตร ลักษณะเป็นคลองคู่ขนาน ไปหนึ่งคลอง/กลับหนึ่งคลอง ความกว้างประมาณ 300 – 350 เมตร จุดกลับเรือกว้าง 500 เมตร ซึ่งเส้นทาง 9A จะตัดผ่านพรุควนเคร็งซึ่งมีทะเลสาบซึ่งตามหลักวิชาการแล้วทะเลสาบจะช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่นสูงๆ ของเรือ

ทั้งนี้หลักการและเหตุผลในการสร้าง 2 คลองเพื่อต้องการรองรับเรือขนาด 500,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นเรือขนน้ำมันมีความกว้าง 60-80 เมตร ลึก 30-35 เมตร เรือกินน้ำลึกต้องสร้างคลองเผื่อไว้ เพราะถ้ามีคลองเดียวเมื่อเกิดอุบัติเหตุเรือแตกและจอด สามารถเปลี่ยนมาใช้คลองเดียวร่วมกันได้

ค่าใช้จ่ายในการขุดคลองไทยและการลงทุนเงินสำหรับค่าขนดินประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 600,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างสะพาน 3 สะพาน และอุโมงค์ 2 อุโมงค์ เป็นเงิน 50,000 ล้านบาท เงินที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดเกือบจะเป็นเงินบาทที่ใช้ในประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น เป็นค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ เช่น หิน ปูน เหล็กเป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ 70% ส่วนเงินที่ใช้เป็นเงินดอลลาร์ คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักรเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถือเป็นการสร้างงานและเป็นเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ดังนั้น ค่าก่อสร้างทั้งหมดโดยประมาณการคร่าวๆ คิดเป็นเงินประมาณ 650,000 ล้านบาท

ในด้านวิธีการสร้างคลองไทยนั้นให้บริษัทที่มีเครื่องมือทันสมัยในประเทศไทยขุดคลองไทย ระยะ 120 กิโลเมตร จำนวน 120 บริษัท โดยรับผิดชอบบริษัทละ 1 กิโลเมตร จำนวนเงินกิโลเมตรละ 5,000 ล้านบาท ขุดคลองพร้อมกันทุกจุดรวมระยะเวลา 5 ปี ขุดได้สำเร็จแต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเหมือนกันทุกกิโลเมตรและมีมาตรฐานเดียวกัน

ข้อวิจารณ์โครงการคอคอดกระ

โครงการขุดคอคอดกระนั้น  ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดน่าจะเป็นประเทศจีน  เพราะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปประเทศจีน ซึ่งเรือบรรทุกน้ำมันจะมาใช้บริการมากที่สุด ขณะที่ประเทศอื่นจะไม่ได้ประโยชน์มากจากการร่นระยะเวลา 1-2 วัน

คอคอดกระจะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้เพียง 1-2 วัน ซึ่งหากเปรียบเทียบ กับคลองสุเอซและคลองปานามาช่วยเรือร่นระยะทางได้ถึง 10,000  กิโลเมตร เทียบเป็นระยะเวลาประมาณ 7 วัน ในด้านต้นทุนการเดินเรือนั้น ขณะที่เรือวิ่งผ่านคอคอดกระนั้นเรือต้องลดความเร็วลงมาจาก 15 นอต (27 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลงเหลือไม่เกิน 12  นอต (21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เพราะฉะนั้นเวลาที่ร่นได้จริงจะลดลงมาอีกจากเวลาที่เสียไปในขณะผ่านคอคอดกระ นอกจากนี้ขณะที่แล่นผ่านคลองเรือส่วนใหญ่ ต้องเปลี่ยนจาก FUEL OIL มาเป็นน้ำมันดีเซล ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่ากันเป็นเท่าตัว

และเมื่อเฉพาะเจาะจงข้อเสียของการขุดแนว 5A และ 9A ก็พบว่ามีดังต่อไปนี้ แนว 5A 1. อยู่ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนาอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องลงทุนขุดคลอง และมาเลเซียจะได้ประโยชน์มากกว่าประเทศไทย เพราะแนวคลองอยู่ใกล้เมืองอลอสตาร์ และท่าเรือกลางของประเทศมาเลเซีย (Port Kelang) 2. ปัจจุบันมีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก อาจจะมีปัญหาในเรื่องค่าขนย้ายและค่ารื้อย้ายมาก 3. แนวคลองพาดผ่านทะเลสาบสงขลา (ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง) อาจจะเกิดกระแสการต่อต้านสูง ดังเช่นในกรณีเดียวกับการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย  4. จากการสำรวจข้อมูลด้านธรณีวิทยา พบโพรงหินขนาดใหญ่ประมาณ 11แห่ง บริเวณจังหวัดสตูล  5. แนวคลองอยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา ทำให้ไม่ได้ร่นระยะทางการเดินเรือ และ 6. ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง

แนว 9A 1. แนว 9A ระยะทางประมาณ 128 กิโลเมตร แนวที่ 2 ยาว 92 กิโลเมตร แนวที่ 5A ยาว 182 กิโลเมตร และแนว ที่ 7A ยาว 185 กิโลเมตร 2. มีเส้นทางพาดผ่านพื้นที่เนินเขาประมาณ 18 กิโลเมตร บริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช       3. แนวคลองพาดผ่านพื้นที่บางส่วนเลี้ยวเข้าพรุควนเคร็ง ถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสมอาจจะทาให้เกิดปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมได้ และ 4. ไม่สามารถสร้างท่าเรือริมทะเลได้ ต้องพัฒนาพรุควนเคร็งบางส่วนเป็นท่าเรือเคร็ง (Port of Kreng) เพื่อหลบมรสุมด้านอ่าวไทย

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม-คนพื้นที่ไม่เอาโครงการใหญ่

จากรายงาน “ผลกระทบของการขุดคลองกระด้านสิ่งแวดล้อม” โดยนักศึกษาหลักสูตรการปฏิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการรุ่นที่ 92 คณะที่ 4 เสนอต่อสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี 2546 และจากรายงานวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการพาณิชย์และด้านกายภาพ ของการขุดคอคอดกระ ส่วนที่ 3 : ส่วนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม : รายงานผลการวิจัย;Feasibility study on the Kra Canal : commercial and physical aspects, part 3 : environmental study” โดย เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต, พิพัฒน์ พัฒนผลไพบูลย์, สมภพ รุ่งสุภา, อานุภาพ พานิชผล เมื่อปี 2542 ได้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจดังนี้

การดำเนินการโครงการขุดคอคอดกระทั้งแนว 5A และแนว 9A นอกจากจะผ่านพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากมีการดำเนินโครงการจริงจะต้องมีการเวนคืนที่ดินและอพยพประชาชนครั้งใหญ่แล้ว ก็ยังจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอาทิเช่น การแลกเปลี่ยนมวลน้ำด้านอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน, ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแผ่นดิน, ปัญหาการกระจายของตะกอนจากการขุดร่องน้ำ, ปัญหาการทำลายปะการัง สาหร่ายและหญ้าทะเล และปัญหาการบุกรุกป่าชายเลน เป็นต้น โดยปัญหาเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับแนวขุด โดยแนวขุดหลักที่มักจะถูกนำ มาพิจารณาอย่างเช่นแนวขุด 5A ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยาของทะเลสาบสงขลา ส่วนแนว 9A นั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน แหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาศัยของปลาพะยูน  และผลกระทบต่อลุ่มน้ำปากพนัง

เมื่อพิจารณาแนว 5A เป็นหลัก  หากขุดคอคอดกระจะพบผลกระทบด้านอุทกธรณีวิทยาคือระบบน้ำบาดาลในพื้นที่จะถูกทำลาย มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อันเนื่องมาจากน้ำทะเลที่ผ่านคอคอดกระจะไหลเข้ามาในชั้นของน้ำบาดาล ส่วนผลกระทบด้านธรณีวิทยา การขุดคลองตัดผ่านแนวรอยเลื่อนของโลกจะทำให้เกิดผลเสียต่อโครงการ โดยจะเกิดเศษหินและเศษตะกอนหลุดออกมาอย่างรวดเร็วซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณตะกอนในแนวคลองอย่างรวดเร็วและน้ำที่ซึมเข้าไปในแนวเลื่อนอาจจะทำให้แนวเลื่อนเกิดการเคลื่อนที่ได้ ส่วนผลกระทบด้านชีวภาพโดยเมื่อพิจารณาแนว 5A เป็นหลักหากขุดคอคอดกระ ความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลาจะเปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบนิเวศของสัตว์น้ำเปลี่ยนไป โดยสัตว์น้ำทะเลอาจจะมีมากขึ้นส่วนสัตว์น้ำจืดอาจจะสูญพันธุ์ไป

ส่วนผลกระทบด้านชายฝั่งไม่ว่าจะขุดตามแนวใดก็ตาม ทั้งชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและด้านอันดามัน หมู่เกาะอาดัง จะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากตะกอนที่เกิดจากการขุดคลองจะทำให้น้ำขุ่น ส่งผลให้ปะการังตาย และสัตว์ทะเลไม่มีที่หลบซ่อน ชายหาดทรายกลายเป็นชายหาดโคลน และผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาบนบกนั้น ในด้านทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า เมื่อพิจารณาแนว 5A แนวคลองจะตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 7 แห่ง ซึ่งเป็นการทำลายความ สัมพันธ์ของระบบนิเวศ  ซึ่งสภาพป่าดังกล่าวยังเป็นต้นน้ำลำธารของพื้นที่ในบริเวณนั้นด้วย และน้ำเค็มอาจจะทำให้สภาพป่าบริเวณนั้นเปลี่ยนสภาพจากป่าบกหรือป่าดิบชื้น เป็นป่าพรุหรือป่าเสม็ดได้  รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนซึ่งเป็นป่าที่เกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำด้วย  

ซึ่งก็คือผลกระทบต่อประชาชนมากมหาศาล จนกล่าวได้ว่ามากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีโครงการขนาดใหญ่ใดๆ

ประเทศไทยภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา รวมถึงกระแสประชาธิปไตยและข่าวสารไร้พรมแดน ทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อสิทธิและการมีส่วนร่วมในทรัพยากรท้องถิ่น ไม่ยอมเป็นผู้เสียสละแบกรับแต่ผลเสียของโครงการ  ไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ จึงถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่จากเหนือจรดใต้ มีตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการต่อต้านมาตั้งแต่ปี 2540 จนมาถึงกรณีล่าสุด 2558 นี้ ก็คือการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน จังหวัดกระบี่  จึงเป็นไปได้ว่าโครงการขุดคอคอดกระ หากจะเกิดขึ้น จะต้องเผชิญกับปัญหาการต่อต้านคัดค้านอย่างใหญ่หลวง

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
'จับตา': “ไทม์ไลน์แนวคิดขุดคอคอดกระ พ.ศ. 2220-2558”  

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: