สหรัฐฯ จัดอันดับคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ไทยอยู่อันดับ 40 จาก 45 ประเทศ โพลล์ระบุแม้คนไทยเห็นด้วยเอาผิดผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 78.4% แต่กลับมีประสบการณ์ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เองถึง 63 % เข้าข่าย’ปากว่าตาขยิบ’ พบคนซื้อสินค้าเลียนแบบมีความต้องการคุณค่าและภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ ‘ราคา ยังคงเป็นอุปสรรคการเข้าถึง ‘สินค้าลิขสิทธิ์’ ที่มาภาพประกอบ: Horia Varlan (CC BY 2.0)
จากการจัดอันดับของศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Centre) หรือ GIPC แห่งหอการค้าสหรัฐอเมริกา ที่ได้เปิดเผย รายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Intellectual Property Index – IIPI) ประจำปี 2560 โดยมีการประเมินตัวชี้วัดค่าความคุ้มครอง 6 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การเข้าสู่ตลาด การบังคับใช้กฎหมาย และการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยมีคะแนนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพียง 9.53 คะแนน จากคะแนนเต็ม 35 คะแนน ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 45 ประเทศ และเมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศในอาเซียน ประเทศไทยก็ยังอยู่อันดับรั้งท้ายของภูมิภาค
การจัดอันดับของศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Centre) หรือ GIPC แห่งหอการค้าสหรัฐอเมริกา ที่มา: U.S. Chamber International IP Index
ขณะเดียวกัน สถิติการปราบรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือน มี.ค. 2560 พบว่าโดยเฉลี่ยมีคดีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประมาณ 9,000 คดีต่อปี และมีของกลางถึง 25,000 ชิ้นต่อวัน (ดูเพิ่มเติม: [1] [2])
‘ซอฟแวร์ลิขสิทธิ์’ และตัวอย่างปัญหาการเข้าถึง
เมื่อปี 2555 กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ BSA ได้รายงานผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2554 พบร้อยละ 74 ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ยอมรับว่าเคยซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ใช้บางรายยอมรับว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เป็นประจำ อีกบางรายยอมรับว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นบางครั้ง ส่วนอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 72 ในปี 2554 ซึ่งเท่ากับเกือบสองในสามของซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้ดาวน์โหลดลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่มีใบอนุญาต (license) มูลค่าความเสียหายเท่ากับ 26,000 ล้านบาท เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม: BSA พบ 74% ของผู้ใช้คอมในไทย ยอมรับเคยซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน)
ต่อเรื่องนี้ เมื่อทำการสอบถามตัวอย่างผู้มีประสบการณ์ในการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุขององค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งนอกอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการไม่ใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นว่า อำนาจในการอนุมัติจัดซื้อซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร โดยส่วนใหญ่นายก อบต. จะให้ความสำคัญกับสิ่งจำเป็นในพื้นที่ก่อน เช่น ต้องนำเงินงบประมาณไปใช้ในโครงการพัฒนาท้องที่ ซึ่งจะเป็นผลต่อคะแนนเสียงที่จะได้รับการเลือกตั้งในครั้งต่อไปของฝ่ายบริหารโดยตรง พวกอุปกรณ์สำนักงานที่เป็นฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ต่าง ๆ ยังต้องใช้รุ่นที่ประหยัดที่สุด การใช้วินโดร์หรือโปรแกรมของแท้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างในสำนักงานของ อบต. ที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทำงานอยู่ มีคอมพิวเตอร์ประมาณ 20 เครื่อง ไม่มีเครื่องไหนที่ใช้ วินโดว์หรือซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เลย
ส่วนจะทำอย่างไรให้องค์กรส่วนท้องถิ่นใช้ของแท้แทนของเถื่อนที่ใช้อยู่นี้ เจ้าหน้าที่พัสดุแสดงความเห็นว่า “อยู่ที่การจัดงบประมาณโดย เฉพาะ ควรมีโครงการบังคับให้ซื้อของลิขสิทธิ์ แยกออกมาจากงบประมาณที่จัดเก็บในท้องถิ่นและงบประมาณอุดหนุนจากส่วนกลางที่อบต. ต้องนำไปใช้ในโครงการพัฒนาท้องถิ่น”
ขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับทุนจากต่างประเทศ ให้เหตุผลในการใช้วินโดร์ของแท้ว่า “มีแหล่งทุน สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งวินโดว์โดยเฉพาะ เพราะเขามองว่านี่เป็นคุณธรรมพื้นฐาน เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร” ส่วนตัวเจ้าหน้าที่เองก็เห็นถึงผลตอบแทนที่จะได้รับจากการผลิตผลงานและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานในออฟฟิศ
‘ปากว่าตาขยิบ’ คนไทยเห็นด้วยเอาผิด แต่กลับละเมิดลิขสิทธิ์เอง
ผลสำรวจโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในสายตาประชาชน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,178 คน เมื่อเดือน เม.ย. 2559 พบว่าในส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ประชาชนร้อยละ 63.0 ระบุว่าเคยซื้อโดยส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าประเภท ซีดีเพลง/ภาพยนตร์ รองลงมาเคยซื้อกระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้า ขณะที่ร้อยละ 37.0 ระบุว่าไม่เคยซื้อ โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบ ผิดกฎหมาย เห็นใจผู้ที่เป็นเจ้าของผลงาน
และประชาชนร้อยละ 89.7 ระบุว่าหากไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้จะส่งผลกระทบต่อแรงบันดาลใจในการคิดค้น สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 10.3 ระบุว่า จะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด สำหรับความพึงพอใจต่อการเร่งปราบปรามและแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาลชุดปัจจุบันพบว่าร้อยละ 57.4 พอใจ ขณะที่ร้อยละ 42.6 ไม่ค่อยพอใจ นอกจากนี้เมื่อถามถึงการออกมาตรการเพื่อเอาผิดต่อผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 78.4 เห็นด้วย โดยระบุว่าเห็นด้วยกับสินค้าทุกประเภทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ร้อยละ 58.6 เห็นด้วยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม ร้อยละ 10.4 และเห็นด้วยเฉพาะสินค้าประเภทซีดี/ดีวีดีเพลงและภาพยนตร์ ร้อยละ 9.4
ทำไมคนไทยจึงละเมิดลิขสิทธิ์?
‘ณัฐกานต์’ นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้เหตุผลการตัดสินใจซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าและเคสโทรศัพท์เถื่อนว่า เพราะราคาถูกกว่าของแท้หลายเท่าตัวและสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด รวมถึงไม่ได้คาดหวังคุณภาพจากแบรนด์ เพียงแต่เห็นว่าเป็นแบรนด์ที่ถูกพูดถึงในสื่อต่าง ๆ และเป็นที่นิยมในกลุ่มเพื่อนฝูง นอกจากนี้ ณัฐกานต์ยังแสดงความเห็นว่าราคาสินค้าแบรนด์นั้นค่อนข้างสูง แต่หากเธอมีรายได้ที่มากขึ้นก็มีแนวโน้มจะเลิกซื้อของเถื่อน แล้วหันมาซื้อของแท้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
จากงานศึกษาเรื่อง 'สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและคุณค่าแห่งแบรนด์' ของ ผศ.สุมาลี เล็กประยูร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่าปัญหาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือสินค้าเลียนแบบ เป็นปัญหาที่มีการขยายตัวอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่สามารถพบเห็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป การเติบโตของตลาดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน และกำไรอย่างมหาศาลที่ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจะได้รับ ช่องว่างทางกฎหมาย และปัจจัยสำคัญที่สุดคือกระแสความนิยมจากผู้บริโภค สำหรับเหตุผลที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าเลียนแบบนั้น เนื่องจากความต้องการคุณค่าของตราสินค้าที่เป็นของแท้ ศักดิ์ศรี ผลประโยชน์ด้านภาพลักษณ์ และการบริโภคเพื่อสถานภาพทางสังคม ซึ่งเป็นความต้องการด้านคุณค่าทางจิตใจมากกว่าลักษณะทางกายภาพของสินค้า แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินในราคาสูง จึงมีความคิดว่าด้วยราคาที่ต่ำกว่าของสินค้าเลียนแบบทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ดังนั้นผู้ประกอบการตราสินค้าที่เป็นของแท้ จะต้องพยายามสร้างคุณค่าตราสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้คุณภาพที่เหนือกว่า หรือมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของตราสินค้าที่เป็นของแท้ ขณะเดียวกันการสร้างคุณค่าตราสินค้าในจิตใจของผู้บริโภค จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเกิดความภักดีต่อตราสินค้าและมีความตั้งใจซื้อสินค้าที่เป็นของแท้มากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว น่าสังเกตถึงความแตกต่างอย่างหนึ่งของประเทศที่มีคะแนนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูง – ต่ำ ตามอันดับในรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ปี 2560 คือ ประเทศในอันดับต้นของโลกที่มีอันดับดีเรื่องการคุ้มครองทรัยพ์สินทางปัญญา เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น และสวีเดน นั้นมีรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) สูงกว่าประเทศรั้งท้ายของโลกเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อย่าง ไทย อียิปต์ แอลจีเรีย อินเดีย ปากีสถาน และเวเนซุเอลา
*ภัทรานิษฐ์ จิตสำรวย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
จับตา: สถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปี 2559-2560
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ