Book Review: The Wandering Falcon

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ 31 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2603 ครั้ง


The Wandering Falcon โดย Jamil Ahmad

ยามเย็นที่แผงหนังสือ (เถื่อน) ที่ปากีสถาน เรากับรุ่นพี่ยืนเลือกหนังสืออย่างเมามันในอารมณ์ขณะที่นักศึกษาหนุ่มๆก็ยืนเลือกเช่นกัน เราทักทายกันนิดหน่อย ก่อนที่เราจะขอให้เค้าช่วยเลือกนิยายของนักเขียนอินเดียใต้และปากีสถานที่ดังๆให้หน่อยเพราะอยากซื้อกลับ ทั้งนักศึกษาและคนขายต่างแนะนำเล่มนี้ให้กับเรา เปิดๆพลิกๆมันก็ดูน่าสนใจดี ราคาร้อยนิดๆ ข้างในเล่มด้วยความเป็นหนังสือเถื่อนที่ก็อปของสำนักพิมเพนกวินมา ทำให้ตัวอักษรจางกว่าและไม่คมชัด แต่ก็ไม่เป็นไร อ่านได้

The Wandering Falcon โดย Jamil Ahmad มันดีงาม มันเศร้า มันสะท้อนใจ มันทำให้เราอยากร้องไห้ในบางครั้ง และไม่อยากจะพลิกไปหน้าสุดท้ายของหนังสือเลยก็ว่าได้

นิยายเป็นเรื่องเกี่ยวกับชนเผ่าต่างๆของพรมแดนระหว่างปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนจากเดิมของการไม่มีพรมแดน เป็นชนเผ่าร่อนเร่ที่อิสระ เคลื่อนย้ายครอบครัวจากเทือกเขาสูงในฤดูหนาว ไปสู่ที่ราบในช่วงฤดูร้อน ไปสู่ชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ การถือเอกสารผ่านแดน และชีวิตสมัยใหม่ที่กฎเกณฑ์เดิมของชนเผ่าไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

ก็เหมือนเรื่องราวของคนอีกนับล้านทั่วโลกที่อาศัยอยู่ตามพรมแดนรัฐ และก็เหมือนเรื่องราวของคนอีกนับล้านที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมของการปรับตัวเข้าสู่โลกที่ไม่คุ้นชิน แต่นิยายเรื่องนี้มีวิธีการเล่าที่แตกต่างออกไป

คนเขียน อาจจะด้วยขนบ อาจจะด้วยวิธีคิดแบบคนอินเดียใต้ นิยายเรื่องนี้เรียบเรียงเหมือนกับการเล่านิทาน หรือถ้าให้เจาะจงคือเเบบอาหรับราตรี นั่นคือเล่าไปเรื่อยๆ นอกจากชื่อเรื่องที่หมายถึงเหยี่ยวร่อนเร่ นกที่เป็นสัตว์ท้องถิ่นของปากีสถาน เราว่านิยายเรื่องนี้ก็เล่าจากมุมมองของนก - bird's eye view คือเล่าแบบพาคนอ่านไปเห็นมุมมองกว้างๆของแต่ละชนเผ่า ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกใดเป็นพิเศษ มีรายละเอียดที่พาเราเข้าไปเห็นใกล้ๆในบางครั้งด้วยจังหวะที่เหมือนนกโฉบ และตัดจบทันทีในแต่ละบท กระชากอารมณ์คนอ่านจนต้องกลับมาอ่านซ้ำอีกรอบด้วยความหวังว่าจะมีอะไรเพิ่มขึ้น (แต่ก็ไม่มี) และการเล่าแบบไม่มีอารมณ์ เล่าแบบที่คนอ่านจะไม่ผูกพันกับตัวละครใดเป็นพิเศษมันทรงพลังก็ตรงนี้ล่ะ เพราะคนอ่านได้ทำหน้าที่เหมือนพระเจ้าที่มองลงมาบนโลก เห็นชีวิตของชนเผ่าเหล่านี้จากหลากหลายสถานที่ตามแนวพรมแดนของสามประเทศ แทนที่จะเห็นแค่คนกลุ่มเดียวที่ประสบชะตากรรมเหล่านี้

มีหลายฉากของเรื่องที่ดูเศร้า เช่น ชนเผ่า Baluch ที่เดินทางเข้าเมืองมาพบกับฝ่ายรัฐบาล ตามที่รัฐบาลประกาศให้บรรดากลุ่มชนเผ่านอกกฎหมายมารายงานตัว ด้วยหวังว่าจะธำรงเกียรติของตนในฐานะผู้กล้า ทั้งหมดจบลงด้วยการถูกปลดอาวุธ คุมขัง และตายโดยที่ไม่มีแม้แต่ข่าวออกมาจากข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฎต่อรัฐและต่อต้านเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดหายไปอย่างเงียบๆจากความทรงจำของผู้คน หรือชนเผ่าอีกมากมายที่เดินทางเข้ามาในปากีสถาน และต้องการกลับบ้านไปให้อาหารสัตว์ของตนที่อยู่ในดินแดนอัฟกานิสถาน เจ้าหน้าที่ปากีสถานถือปืนร้องสั่งว่าห้ามผ่านถ้าไม่มีเอกสารผ่านแดน คนเหล่านี้ไม่เข้าใจ ทำไมการกลับบ้านของตนที่เคยทำมาตลอดหลายสิบหลายร้อยปีอย่างราบรื่นจึงเป็นปัญหา ชายหญิงเอาคัมภีร์อัลกุรอ่านวางบนหัว ภาวนาขณะเดินผ่านทหาร เสียงปืนดังลั่น เด็ก ผู้หญิง คนชรา ทุกคนตาย ไม่มีใครผ่านพรมแดนรัฐอันแข็งแกร่งประหนึ่งปืนไปได้

ชีวิตสมัยใหม่ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งของชีวิตเดิม การเดินทางกลับไปมาระหว่างพรมแดนทำไม่ได้อีกแล้ว และการเปลี่ยนชีวิตไปสู่อีกแบบที่ไม่คุ้นชินมันไม่ง่าย ผู้หญิงหลายคนถูกขายให้กับคนอื่น ไปทำงานบ้าน ไปเป็นโสเภณี พ่อผู้หนึ่งที่เคยเป็นนักปีนเขาที่เชี่ยวชาญของท้องถิ่น ขายลูกสาวในราคา 100 รูปีหรือสามสิบบาท (ราคาตอนนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อนคงราคามากพอสมควรกว่านี้) และเพื่อแลกกับฝิ่น ผู้หญิงจำนวนมากถูกล่อลวงแล้วนำมาประมูลและส่งขายตามซ่อง และนิยายจบลงแค่นี้ แค่นี้จริงๆแบบไม่มีบทสรุป

นิยายเล่มนี้ถูกเขียนเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยชายชาวปากีสถานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกส่งไปประจำที่ชายแดน ถูกทิ้งไว้หลายปีก่อนที่จะนำมาปัดฝุ่นและปรับแก้เมื่อผู้เขียนเกษียณอายุ เรียกได้ว่ามันผ่านอะไรมานานนักหนา และมันมีรายละเอียดเกี่ยวกับปากีสถานที่อัดแน่นอยู่ เป็นอีกโลกที่เราไม่เคยได้ยินและได้เห็นก็ว่าได้

ภาพของภูเขาและดินแห้งๆของปากีสถานยังติดตาเรา เช่นเดียวกับภาพผู้คนทั้งชายและหญิง เราสงสัยว่าหลายคนที่เราเห็น คือลูกหลานของชนเผ่าในตอนนั้นรึเปล่า

อยากกลับไปปากีสถานอีกรอบ

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: