งานอดิเรกกับการพัฒนาตัวเอง

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ : 31 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5775 ครั้ง


การทำงานและแนวคิดที่ว่าคนเราต้องทำงาน อาจกล่าวได้ว่าเป็นความคิดที่ใหม่มากที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชีวิตโรงงาน การเติบโตของทุนนิยม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการผลิตสินค้าส่งผลให้คนเริ่มรู้สึกว่าการที่ชีวิตจะมีคุณค่า คุณต้องทำงาน ในขณะที่โลกสมัยก่อน แม้คนเราจะทำงาน แต่ก็เป็นไปเพื่อการทำงานเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสะสมทุนและความมั่งคั่งอย่างเข้มข้น (คือมีการสะสม แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่องความก้าวหน้า เพราะชีวิตในโลกที่ศาสนามีอิทธิพลมากทั้งศาสนาคริสต์และพุทธเชื่อว่าโลกมีจุดสิ้นสุด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องสะสมทรัพย์สมบัติ)

ขณะที่คนจนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ คนร่ำรวยจำนวนมากกลับใช้เงื่อนไขในการต้องทำงาน มาเป็นตัวแบ่งที่ชัดเจนระหว่างคนรวยและคนจน ความคิดเรื่องการใช้เวลาว่าง เวลาพักผ่อน และงานอดิเรกจึงเริ่มทวีความสำคัญขึ้น หมายความว่า คนรวยเท่านั้นที่มีเวลาว่างมากพอที่จะพักผ่อนได้และสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงาน ขณะที่คนจนไม่สามารถมีเวลาพักผ่อนได้ เนื่องจากต้องทำงานตลอดเวลาในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ขั้วตรงข้ามของการทำงานและการใช้เวลาว่าง จึงเป็นเสมือนเส้นแบ่งของคนรวยและคนจนในโลกสมัยใหม่นั่นเอง

งานอดิเรกก็เป็นการฆ่าเวลาอย่างหนึ่ง แต่งานอดิเรกไม่ได้เป็นเพียงการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่งานอดิเรกยังสามารถทำให้คน ๆ นั้นพัฒนาทักษะอะไรบางอย่างได้ เช่น การถ่ายภาพ การวาดภาพ การทำสวน การปักผ้า จัดดอกไม้ ฯลฯ สารพัดของกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คนรวยทั้งหลายที่มีเวลาและทุนทรัพย์มากพอ สามารถที่จะริเริ่มหรือลองทำได้ทั้งสิ้น หากไปดูตามพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของตระกูลเก่าแก่ทั้งหลาย จะพบว่ามีการจัดแสดงภาพวาดทั้งภาพคนและทิวทัศน์ชิ้นเล็กๆ ที่คนนั้นๆเป็นคนวาดเองจากงานอดิเรก หรือการแต่งโคลงกลอนสั้น ๆ การเย็บปักถักร้อย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นงานอดิเรกที่คนในอดีตต่างต้องทำหรือเรียนรู้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความว่างและการใช้เวลาว่างของตนเอง

ย้อนกลับมาที่สังคมไทย อาจเรียกได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่คนไม่มีงานอดิเรก หากต้องเลือกตอบว่าความชื่นชอบหรือกิจกรรมยามว่าง คืออะไร ส่วนมากมักจะตอบว่า ดูหนัง ฟังเพลง เล่นอินเตอร์เนต ฯลฯ เช่นเดียวกับคำถามถึงความสามารถพิเศษ คำตอบจะออกมาอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ร้องเพลง เต้น ฯลฯ หากจะดูให้ดีแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ไม่ถือเป็นงานอดิเรกเท่าไหร่นัก เป็นไปได้ว่าพื้นที่สาธารณะของสังคมไทยก็ไม่ได้เปิดให้สามัญชนคนธรรมดาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก และก็ด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่า การพักผ่อนคือการพักผ่อน ไม่จำเป็นต้องทำอะไรจริงจังให้เหนื่อยอีก

งานอดิเรกสำคัญต่อชีวิตคนรุ่นใหม่อย่างไร?

อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับชีวิตของคนรุ่นใหม่ คือ ความก้าวไกลของเทคโนโลยีและโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น รวมถึงการแผ่ขยายของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่บนโลกใบนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งทางความคิด วัฒนธรรม การแต่งกาย หรือแม้แต่การใช้ชีวิต สิ่งที่วัยรุ่นอเมริกาทำอีกซีกโลกหนึ่ง ภายในเวลาแค่ไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงก็จะเดินทางมาถึงภูมิภาคเอเชีย และมันกลายเป็นแฟชั่นหรือแบบแผนเดียวกันหมดเพียงแค่กระพริบตา มันอาจหมายถึงโลกที่เชื่อมต่อ แต่ในอีกทางหนึ่ง นี่อาจเป็นกระบวนการที่ทำให้คนกลายเป็นผลผลิตชิ้นหนึ่งในระบบสายพานของทุนนิยม นั่นหมายความว่าพวกเราทุกคนล้วนไม่แตกต่าง และความไม่แตกต่างจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นหรืองานที่พอใจมากขึ้นได้อย่างไร

การพัฒนาทักษะตามความสนใจหรือการทำงานอดิเรกอาจช่วยเติมเต็มตรงนี้ได้ งานอดิเรกควรจะเป็นงานทีทำแล้วรู้สึกชอบ ขณะเดียวกันมันทำให้เรามีทักษะอื่นๆเพิ่มเติมจากที่เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย งานอดิเรกไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่แพง ที่ยิ่งใหญ่ ที่เริดหรู แต่ควรเป็นสิ่งที่ต่อยอดและทำต่อไปได้เรื่อย ๆ การมีทักษะอะไรบางอย่างที่คนอื่นไม่มี มันอาจจะหมายถึงการได้งานหรือเลื่อนขั้นไปตำแหน่งที่ดีกว่า หรือที่ชอบมากกว่า นั่นเอง

เราจึงควรยืนอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า "เราเลือกงาน ไม่ใช่งานเลือกเรา" และทำให้ทักษะหรือความสามารถที่เรามีนั้น เป็นสิ่งที่องค์กรที่เราทำงานขาดไม่ได้

หรือไม่อย่างนั้นก็จะต้องติดกับกับดักคำขวัญ "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ที่ท่องกันมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่เทิดทูนวัฒนธรรมการก้มหน้าก้มตาทำงานกันต่อไป ไพร่ฟ้าประชาชี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: