รมว.เกษตร เผยแผนจับมือ 7 ยักษ์ใหญ่เอกชน รับซื้อผลผลิตหลังฤดูทำนา 2.8 ล้านไร่

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4258 ครั้ง

รมว.เกษตร เผยแผนจับมือ 7 ยักษ์ใหญ่เอกชน รับซื้อผลผลิตหลังฤดูทำนา 2.8 ล้านไร่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแนวทางการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และแผนการจับมือกับ 7 บริษัทเอกชน 'ไทยเบฟ-ซีพี-เซเว่นอีเลเว่น-เบทาโกร-บิ๊กซี-เทสโก้โลตัส-เซ็นทรัล' รับซื้อผลผลิตหลังฤดูทำนา 2.8 ล้านไร่ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อกลางเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่ารมาว่านายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และแผนการจับมือกับบริษัทเอกชนในการรับซื้อผลผลิตหลังฤดูทำนา 2.8 ล้านไร่ พร้อมทั้งให้กระทรวงเกษตรฯ รวบรวมที่ดินให้สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และบริษัทการเกษตรเช่า แล้วแบ่งปันผลกำไร (profit sharing) 3 ฝ่าย คือ เจ้าของที่ดิน-สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และบริษัทเอกชน เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปและซื้อผลผลิตโดยตรงในราคาประกัน

นายกฤษฎากล่าวว่าได้ยืนยันตั้งแต่วันที่มารับตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตโดยต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการค้าโลกสมัยใหม่ 5 ขั้นตอน คือ 1.แผนการผลิตสินค้าเกษตร 14 ตัว รวมสัตว์-ประมงโดยมีการเพิ่มทุเรียนเป็นตัวที่ 14 เนื่องจากมีการปลูกกันมากอาจเกินความต้องการของตลาด 2.เน้นตลาดเพื่อสุขภาพ ราคาดี 3.ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมนุษย์ 4.เน้นเกษตรแปลงใหญ่ 5.ใช้ระบบสวัสดิการดูแลเกษตรกร เช่น การประกันภัยพืชผล, ประกันราคาขั้นต่ำดันข้าวเกวียนละไม่ต่ำกว่าหมื่น

“ผมภาคภูมิใจที่จะบอกว่าด้วยแผนดังกล่าว ดูแลราคาผลผลิตข้าวได้ครบวงจร ทั้งส่งออกและบริโภค 33 ล้านตันผมหวังว่าในฤดูการปลูกข้าวรอบใหม่จะทำให้ชาวนาได้ราคาเกวียนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท เราจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ ผลิตข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวออร์แกนิกข้าว ก.ข.43 ผมมั่นใจว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ” นายกฤษฎากล่าว

รมว.เกษตรฯกล่าวว่า มีโครงการสนับสนุนเกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวรอบ 2 มาปลูกพืชทดแทน คือ ข้าวโพด, พืชผัก, ถั่ว ทำการเกษตรหลังนา ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้ว 2.8 ล้านไร่ จะเริ่มโครงการเดือน พ.ย. 2561 นี้ โดยได้เจรจากับเอกชนให้ร่วมซื้อผลิตผล อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (มหาชน) และเครือเซ็นทรัล

“ให้ชาวนามีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯไปประกบในการแนะนำวิธีการปลูก พร้อมทั้งเชิญภาคเอกชนมาจับมือเป็นคู่ค้าตั้งแต่วินาทีแรกของการปลูก เกษตรกรได้รับประโยชน์แน่ ๆ คือ 1.มีเอกชนมารับซื้อ 2.มีราคาค่อนข้างตายตัว เพราะมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ 3.หาเงินทุนเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% และ 4.ประกันภัยพืชผล”

ทั้งนี้ การจับมือกับภาคเอกชนอยู่ในแผนการผลิต เมื่อรู้ปริมาณความต้องการของตลาดแล้วจะต้องรู้คู่ค้า ขณะนี้เริ่มแผนให้เครือข่ายประชารัฐแต่ละจังหวัดลงไปช็อปปิ้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านโนนเขวา อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีบริษัท เทสโก้ โลตัส ไปเปิดรับซื้อผักจากกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่ 300 ไร่

“ผมต้องการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่จะไม่ให้บริษัทเอกชนเอาเปรียบเกษตรกร เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 กำกับ ผมไม่มีการฮั้วกับใคร ทั้ง ซี.พี. ไทยเบฟฯ เซ็นทรัล หรือโลตัส เราคุยกับทุกบริษัท หลัง ครม.อนุมัติ กระทรวงจะลงไปชี้แจงกับเกษตรกรว่า เอกชนมีข้อเสนอแบบใดบ้าง พอใจหรือไม่ ให้ตกลงจับคู่กันเอง แต่ผมไม่ไปผูกพันกับยักษ์ใหญ่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง”

รมว.เกษตรฯยกตัวอย่างด้วยว่า ข้าวโพดที่จะปลูก 2 ล้านไร่ บริษัทที่สนใจมากที่สุด คือ ซี.พี. แต่ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ต้องไปจับมือกับเบทาโกร และกลุ่มอื่น ๆ ด้วย และจะให้ตัวแทนเกษตรกรมาแมตชิ่งกับคู่ค้า ซึ่ง ซี.พี.มีเงื่อนไขตกลงรับซื้อกิโลกรัมละ 7 บาทแต่เบทาโกรรับซื้อที่ 6 บาท เขาซื้อในราคาสูง ส่วนมอนซานโต้ให้เมล็ดพันธุ์ฟรีแต่เวลาขายขายให้กับเขาเท่านั้นในราคาตามท้องตลาด “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้อำนาจสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นคนกลางตรวจสัญญาซื้อขาย ถ้าใครผิดไปจากสัญญามีบทลงโทษทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งเป็นการรับประกันเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเบี้ยว สร้างความมั่นใจให้กับนายทุนว่าจะมีสินค้าตามมาตรฐานที่เขาต้องการ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำแบบเปิดเผย ไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบ”

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นตัวกลางในการเชิญบริษัทเอกชน เช่น ไทยเบฟฯ ซี.พี. เซ็นทรัล เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เข้าร่วมโครงการ แต่ละบริษัทคนละเจ้าของกันอยู่แล้ว มีการ check and balance กัน รูปธรรมที่จะเกิดขึ้นคือจะเริ่มโครงการ พ.ย. 2561 เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรเกี่ยวข้าวเสร็จ จะทำเกษตรหลังนา มีคนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 2.8 ล้านไร่ เราจะไปสำรวจว่าใน 2.8 ล้านไร่ เจ้าของพื้นที่จุดนี้ว่าอย่างไร มีเมนูราคาและการประกันให้เกษตรกรเลือก คือ เมนู ซี.พี. เมนูมอนซานโต้ เมนูเบทาโกร

รมว.เกษตรฯตอบคำถามเรื่องการทำเกษตรแบบ profit sharing หรือการแบ่งปันผลกำไรร่วมกันว่า คอนเซ็ปต์นี้จะเริ่มใช้ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากสำรวจแล้วมีชาวนาสูงอายุหลายแห่ง นำที่นาไปปล่อยให้ชาวนาเพื่อนบ้านเช่า จึงให้กรมส่งเสริมการเกษตร เสนอให้สมาร์ทฟาร์มเมอร์ซึ่งมีอยู่ประมาณ1 ล้านราย มาเป็นผู้เช่าช่วง หรือเช่าพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมติดต่อกับเอกชนมาซื้อโดยให้แบ่งปันผลประโยชน์กัน

“โดยภาคเอกชนบางราย เช่น กลุ่ม ซี.พี. โดยคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เสนอว่า ขอเช่าที่ดินและจ้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ทำงานกับเขา แล้วรับซื้อผลผลิตทั้งหมด พร้อมทั้งนำโรงงานแปรรูปมาไว้ใกล้ ๆ โดยเกษตรกรจะได้ค่าเช่าพื้นที่ ได้แบ่งปันผลประโยชน์ และลูกจ้างโรงงานแปรรูปจะต้องเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งผมรับไว้ รอให้ ครม.อนุมัติ แต่ต้องไปถามชาวบ้านก่อนว่าต้องการอย่างไร เพราะกลัวว่าชาวบ้านตามไม่ทันแล้วมีปัญหา ผมยังไม่ได้เซย์เยส หรือเซย์โน”

“คุณธนินท์บอกผมว่า ถ้ารัฐมนตรีสามารถจัดรูปแปลงใหญ่ได้ เขายินดีเช่าแปลงใหญ่ทั้งหมด พร้อมเสนอว่า ชาวนาเคยทำกำไรจากการทำผลผลิตในแปลงใหญ่ได้เท่าไหร่ ซี.พี.จะบวกเพิ่มอีก 10% และนำโรงรับซื้อ โรงแปรรูปมาตั้งไว้ในพื้นที่ และจะต้องจ้างคนในพื้นที่เข้ามาทำการเกษตรกับเขา เขาบอกผมว่าวันใดที่ ซี.พี.ออกไป ชาวบ้านก็จะมีความรู้เกษตรสมัยใหม่”

“นอกจากนี้ ซี.พี.จะขอคัดเลือกเกษตรกรเอง โดยเป้าหมายคือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือลูกเกษตรกรในพื้นที่ วิธีการคือเขาจะเอาดินไปตรวจว่าดินแบบนี้สมควรปลูกพืชประเภทไหน และด้วยเทคโนโลยีที่ไฮเทคกว่า เขาสามารถคาดการณ์สถานการณ์ราคาผลผลิตการเกษตรได้ล่วงหน้าว่าประเภทไหนราคาดี” รมว.เกษตรฯกล่าว

ต่อข้อถามว่า กังวลแค่ไหนเมื่อเอกชนรุกมาทำเกษตรแปลงใหญ่ นายกฤษฎากล่าวว่า ถ้าหากเอกชนมาได้ไปทั้งหมด ในอนาคตเขาจะผูกขาดดีมานด์และซัพพลายเจ้าเดียวเลยหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด แต่บางคนบอกว่า ในโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคการค้าเสรี เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะมีเศรษฐีรายเดียว จะต้องแข่งกัน ดังนั้นจะต้องมีคู่ค้า

“ผมเชื่อในกลไกการตลาดสามารถกำกับไม่ให้ทุนใหญ่โตอยู่เจ้าเดียว อีกทั้งภายใต้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเป็นกลาง ต้องดูแล ต้องดูว่าไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบ คือเงื่อนไขที่ชาวบ้านตกลงกับกระทรวงเกษตรฯก่อนเบื้องต้น” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎายังกล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า ใครจะว่าตนประสบความล้มเหลวในการดูแลราคายาง แต่ตนยืนยันด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ 1.ตั้งแต่มารับตำแหน่งราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 40 บาท ไม่เคย 3 กิโลร้อย และขึ้นไปสูงสุดยุคกิโลกรัมละ 52 บาท แต่กลับถอยลงมาเมื่อคู่ค้า 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ จีนกับสหรัฐอเมริกามีความขัดแย้งกันเรื่องการตั้งกำแพงภาษี

“จะเห็นว่ายุคผมไม่ค่อยใช้มาตรการแทรกแซงราคายาง ไม่ใช้เงินซื้อชี้นำราคา เพราะการทำอย่างนี้จะทำให้ราคาปั่นป่วนขึ้นไปอีก และมีผลกระทบต่อยางเก่าที่อยู่ในสต๊อกแสนกว่าตัน จ่ายค่าเช่าโกดังเดือนละ 20 ล้านบาท”

รมว.เกษตรฯกล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัสเซียกับเม็กซิโกจะซื้อยางพาราจากประเทศไทย โดยรัฐวิสาหกิจรัสเซียจะรับซื้อยางใหม่ 1 แสนตัน จะวางออร์เดอร์อีก 2-3 เดือนข้างหน้า ส่วนเม็กซิโกกับตุรกีส่งนักธุรกิจมาเจรจาแล้ว แจ้งว่าต้องการยางพาราระดับหมื่นตัน ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า มีคู่ค้ารายใหม่ระดับแสนกว่าตัน

นายกฤษฎายังมีแนวคิดที่จะออกมาตรการการเยียวยาเพิ่มเติมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยใช้รูปแบบ “ถ้ำหลวงโมเดล” โดยกระทรวงเกษตรฯจะต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำโดยตรง เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น มีสิ่งตอบแทนให้ชาวบ้าน เช่น กรณีถ้ำหลวงสูบน้ำออกจากถ้ำ น้ำไปท่วมนาของประชาชนที่ตำบลโป่งผา ได้รับชดเชยไร่ละ 1,113 บาท และช่วยเรื่องปุ๋ย พันธุ์พืช พันธุ์ผัก

“แต่ผมกำลังให้ฝ่ายข้าราชการไปคิดตัวเลขว่า คนที่ให้ความร่วมมือบริหารจัดการน้ำและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพื้นที่ใหญ่ นอกจากได้ 1,113 บาทแล้ว ควรจะได้เพิ่มอีกเท่าไหร่ มีคนมาบอกผมว่าควรบวกค่าเสียโอกาสด้วย ขณะนี้กำลังดูตัวเลข โดยหารือกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณอยู่ จะมีคำตอบในเดือนกันยายนนี้ โดยปีงบประมาณใหม่อยากจะใช้ระบบนี้”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: