พบไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 27,347 ล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1 คือ จีน มีมูลค่านำเข้า 14,460 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการนำเข้าจากทุกแหล่ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 23% ที่มาภาพประกอบ: CNBC.com
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2561 ว่าในปี 2561 สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยคาดการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของไทย จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5% (จากปี 2560 มีการส่งออก 2,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในรูปเงินบาทที่ 79,510 ล้านบาท) หรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ผลพวงตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ยังขยายตัวได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งจากการตรวจสอบพบ ไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าสูงถึง 27,347 ล้านบาท (ปี 2560 มีการนำเข้า 31,052 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18% โดยแหล่งนำเข้าอันดับ 1 คือ จีน มีมูลค่านำเข้า 14,460 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการนำเข้าจากทุกแหล่ง) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 23%
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนที่ส่งเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามการค้า ที่สินค้าจากจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงขณะที่กำลังผลิตของจีนไม่ได้ลดลง จึงต้องหาทางระบายสินค้าไปประเทศอื่น ง่ายสุดคือการระบายสินค้าผ่านทางชายแดนไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา รวมถึงไทย
"ขณะนี้ สินค้าสิ่งทอ หรือ เท็กซ์ไทล์ จากจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีแล้ว แต่ 'การ์เมนต์' หรือ เครื่องนุ่งห่มยังไม่โดน แต่มีแนวโน้มอาจจะโดนในครั้งที่ 3 ที่สหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีสินค้าจีน คิดเป็นมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผมคิดว่า ต่อให้เสื้อผ้าถูกขึ้นภาษี จะโดนก็แค่บางหมวด จะไม่ใช่ทุกหมวด เพราะสหรัฐฯ ก็อยากจะได้เสื้อผ้าราคาถูกไปใส่ เพราะเสื้อผ้า คือ ปัจจัยสี่"
นอกจากผลกระทบสงครามการค้าที่คาดจะมีสินค้าเสื้อผ้าจากจีนทะลักเข้ามายังประเทศข้างเคียงเพิ่มมากขึ้นแล้ว โดยปกติก็มีสินค้าเสื้อผ้าจากจีนเข้ามาตามชายแดนตลอดเวลา และสินค้าเหล่านี้ไม่มีการเก็บตัวเลขที่ชัดเจน ที่เข้ามาแบบดำดินผิดกฎหมายก็มาก ส่วนที่ผ่านด่านศุลกากรก็มี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้สำแดง หรือ ระบุพิกัดภาษีสินค้า หรือ ระบุจำนวนที่แท้จริงอย่างถูกต้อง เมื่อเข้ามาแล้วทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนมาดัมพ์ขายราคาตํ่า
"สินค้าที่ดำดินเข้ามา ผมว่า คูณ 3 สมมุติรถคันหนึ่งควรใส่ได้ 4 หมื่นตัว แต่อินวอยซ์ก็เขียนแค่ 1 หมื่นตัว ราคาควรจะตัวละ 100 ก็ใส่มา 50 บาท เพื่อให้เสียภาษีน้อย ทั้งนี้ ปัจจุบันในเอฟทีเออาเซียน-จีน (ACFTA) ในสินค้าเสื้อผ้านำเข้าระหว่างกัน ภาษียังไม่เป็น 0% ทุกหมวด ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่ขอ C/O (ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) มาสำแดง เพราะถ้าขอ C/O จำนวนมันต้องถูกต้องหมด ภาษีน้อยก็จริง แต่ไม่ขอใบ C/O มาสำแดงที่ด่าน แต่ขอเหมาจ่าย เช่น จำนวนที่เข้ามา 4 หมื่นตัว ดีแคร์ 1 หมื่นตัว อีก 3 หมื่นตัว ก็ยัดไส้จ่ายหน้าด่านก็จบ เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่มานั่งนับจำนวน ตรงนี้คือ ปัญหาอันหนึ่ง ที่จริงเรื่องนี้สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้และสามารถชั่งนํ้าหนักได้ ซึ่งอยากขอให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ทั้งจำนวนและคุณภาพสินค้า การตรวจจับสินค้าที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หรือ มีการสำแดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ธุรกิจในประเทศเสียหาย"
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไปจีนเช่นกัน (ปี 2560 ไทยส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มไปจีน 2,934 ล้านบาท และช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ส่งออก 2,243 ล้านบาท) ซึ่งนายยุทธนาระบุว่าสินค้าเสื้อผ้าที่ไทยส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มบนที่มีฟังก์ชันพิเศษ รวมถึงเสื้อผ้ากีฬา ชุดชั้นในสตรี ที่ชาวจีนนิยมชุดชั้นในจากไทย เพราะมีดีไซน์ รูปแบบ และฟังก์ชันหลากหลาย คุณภาพดี ราคาไม่แพง สินค้ากลุ่มนี้เริ่มมีตัวแทนจำหน่ายในจีนเพิ่มขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ