สตง.ชี้ ‘โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่’ จ.แพร่ ปี 2558 ‘แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่เข้าเกณฑ์’

ทีมข่าว TCIJ : 1 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 11572 ครั้ง

สตง.รายงานผลการตรวจสอบ ‘โครงการส่งเสริมการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ’ ปีงบฯ 2558 ของสำนักงานเกษตร จ.แพร่ ก.เกษตรและสหกรณ์ พบเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องตามหลักการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นำพื้นที่ราชพัสดุมาเข้าโครงการ สนับสนุนและแจกจ่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เปิดเผย รายงานการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริจังหวัดแพร่ ระบุถึงความเป็นมาในการตรวจสอบว่า โครงการส่งเสริมการ เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ จ.แพร่ ประจำปีงบประมาณ 2558 งบประมาณ 25,513,655 บาท เป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการส่งเสริมอาชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่เป็นหน่วยงานดำเนินการตามหนังสือที่ พร 0018.1/ว 3395 ลงวันที่ 28 ส.ค. 2558 เรื่อง การดำเนินมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือกิจกรรมการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่งบประมาณ 23,406,750 บาท กิจกรรมจุดเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่และการอารักขาพืชงบประมาณ 1,817,100 บาท และกิจกรรมบริหารจัดการ อำนวยการ ติดตาม งบประมาณ 289,805 บาท ทั้งนี้ในการดำเนินการได้เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 22,070,688 บาท

ตรวจสอบพบเกษตรกรร่วมโครงการฯ มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องตามหลักการ

ผลการตรวจสอบของ สตง. ที่สำคัญคือ ข้อตรวจพบที่ 1 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องตามหลักการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และข้อตรวจพบที่ 2 สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่สนับสนุนและแจกจ่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการ

โดยข้อค้นพบที่ระบุว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องตามหลักการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ คือ

1.เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่การเกษตรน้อยกว่า 15 ไร่ จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแสดงรายละเอียดพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 262 ราย พบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จำนวน 227 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 86.64 มีพื้นที่การเกษตรเข้าร่วมโครงการต่ำกว่า 15 ไร่ และในจำนวนเกษตรกร 227 รายดังกล่าวข้างต้นนั้น พบว่ามีเกษตรกรถึง 199 ราย หรือร้อยละ 87.66 ที่มีพื้นที่การเกษตรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 10 ไร่ลงมา และที่สำคัญมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่มีพื้นที่การเกษตรตั้งแต่ 5 ไร่ลงมา เป็นจำนวนถึง 100 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 44.05 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยในจำนวนนี้มีเกษตรกรจำนวน 31 ราย ที่มีพื้นที่การเกษตรเข้าร่วมโครงการไม่เกิน 3 ไร่

2. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรตามแนวทางที่โครงการกำหนดไว้ จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์ผลการดำเนินงานของเกษตรกรจำนวน 70 ราย จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 262 ราย โดยใช้สูตรการคำนวณกลุ่มตัวอย่างของ Taro Yamane ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และทำการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Sample random sampling) พบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งหมด 70 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ดำเนินการปรับพื้นที่การเกษตรให้เป็นไปตามอัตราส่วนตามแนวพระราชดำริที่กำหนดไว้ คือ อัตราส่วน 30:30:30:10 ประกอบด้วย พื้นที่ขุดสระร้อยละ 30 พื้นที่ปลูกข้าวร้อยละ 30 พื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชสวนร้อยละ 30 และพื้นที่อยู่อาศัยและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 10 ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์ผลการดำเนินงานของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 70 ราย พบว่าเกษตรกรที่มีพื้นที่ขุดสระน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 55 ราย ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชสวนน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 11 ราย

หากพิจารณาจากจำนวนพื้นที่การเกษตรที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการใช้ในการขุดสระและใช้ในการปลูกพืชไร่และพืชสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามโครงการ พบว่ามีข้อตรวจพบที่มีนัยสำคัญ เช่นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่ที่ใช้ในการขุดสระตั้งแต่ 0-2.76 ไร่ โดยในจำนวนนี้ไม่มีการขุดสระเลยจำนวน 5 ราย และมีเกษตรกรที่ขุดสระตั้งแต่ 1 ไร่ลงมาจำนวน 60 ราย, เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชสวนตั้งแต่ 0-40.18 ไร่ โดยในจำนวนนี้ไม่มีพื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชสวนเลยจำนวน 5 ราย และมีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 7 ไร่ลงมาจำนวน 44 ราย โดยแยกเป็นพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 4 ไร่ลงมาจำนวน 34 ราย ตั้งแต่ 2 ไร่ลงมาจำนวน 24 ราย และตั้งแต่ 1 ไร่ลงมามีจำนวน 15 ราย

นอกจากนี้ สตง. ยังระบุว่า จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ดำเนินการของเกษตรกรรายหนึ่งใน อ.หนองม่วงไข่ พบว่าพื้นที่ดำเนินการดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุจำนวน 4 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนหนองม่วงไข่พิทยาคม โดยเกษตรกรรายดังกล่าวได้นำที่ดินดังกล่าวมาแจ้งในการเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์สภาพพื้นที่ดำเนินการและผลการดำเนินงานตามโครงการของเกษตรกรรายนี้ พบว่าสภาพพื้นที่ดำเนินการเป็นโรงเรียน มีการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยพื้นที่ทำการเกษตรมีเพียงสระน้ำสำหรับใช้เลี้ยงปลาตามโครงการเท่านั้น ไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกข้าว พื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชสวน และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ กรณีดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ที่มีขนาดและอัตราส่วนไม่สอดคล้องตามหลักการเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และไม่ใช่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

หลักการ/การปฏิบัติ/ตัวอย่างของ 'เกษตรทฤษฎีใหม่'


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้เรียบเรียงหลักการ/การปฏิบัติ/ตัวอย่างของ 'เกษตรทฤษฎีใหม่' ไว้โดยระบุว่าทฤษฎีใหม่เป็นระบบความคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาที่ไม่เคยมีผู้ใดคิดมาก่อน และแตกต่างจากแนวคิด ทฤษฎีและวิธีการที่เคยมีมาก่อนทั้งสิ้น จึงได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีใหม่ซึ่งมีมากกว่า 30 ทฤษฎี อาทิ ทฤษฎีการจัดการความแห้งแล้งด้วยการทำฝนเทียม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทฤษฎีการจัดการน้ำด้วยการสร้างฝายชุ่มชื้น เป็นลักษณะฝายขนาดเล็ก กักน้ำและความชื้นให้กระจายตัวในผืนดิน สร้างความชุ่มชื้นแก่ป่า แตกต่างจากทฤษฎีการจัดการน้ำในอดีตซึ่งใช้การกั้นเขื่อนขนาดใหญ่เป็นหลัก หรือทฤษฎีการจัดการน้ำท่วมด้วยการทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทฤษฎีใหม่ทั้งสิ้น และสามารถนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือ ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ พออยู่ พอกิน พอใช้ และก้าวต่อไปสู่การร่วมมือกันจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรืออาจเรียกว่า จากขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้าก็ได้ 

โดย ‘ทฤษฎีใหม่’ (ในที่นี้) หมายถึง ทฤษฎีใหม่ด้านการบริหารที่ดินจำนวนน้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชดำริในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการทำการเกษตรบนที่ดินจำนวนน้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อการอยู่อาศัยและการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ซึ่งเป็นการคิดบนหลักการใหม่แตกต่างจากแนวทางการทำการเกษตรอุตสาหกรรม ที่มุ่งผลิตผลผลิตในปริมาณมากเพื่อการค้าขายเป็นหลัก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกนั้นพระองค์ทรงใช้พื้นที่บริเวณวังสวนจิตรลดารโหฐานเป็นสถานที่ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง จากนั้นได้ขยายไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 โครงการ โดยโครงการสำคัญโครงการหนึ่งตั้งอยู่ ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ต.ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.สระบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่แรกที่ได้นำ ‘ทฤษฎีใหม่’ สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จนประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศ

คลิ๊กอ่านหลักการ/การปฏิบัติ/ตัวอย่างของ 'เกษตรทฤษฎีใหม่' ทั้งหมดได้ที่นี่

 

แจกจ่ายปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็น - ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการ

สตง.ชี้ว่าการจัดซื้อปัจจัยการผลิตด้านพืชและด้านประมง งบประมาณ 12,877,400 บาท ในโครงการฯ นี้ ของสำนักงานเกษตร จ.แพร่ เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการและเกินความจำเป็น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเนื้อหารายงานชิ้นนี้)

สำหรับข้อตรวจพบที่ สตง. ระบุว่าสำนักงานเกษตร จ.แพร่ สนับสนุนและแจกจ่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ดำเนินการนั้น พบว่าสำนักงานเกษตร จ.แพร่ แจกจ่ายปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 262 ราย ในปริมาณที่เท่ากันทุกราย คือเกษตรกรทุกรายจะได้รับต้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจำนวน 100 ต้น ต้นเงาะจำนวน 100 ต้น ต้นมะนาวจำนวน 100 ต้น ปลานิลจำนวน 3,000 ตัว ปลาตะเพียนจำนวน 2,500 ตัว ปลายี่สกจำนวน 2,500 ตัว ปลาสวายจำนวน 2,500 ตัว และปลาจีนจำนวน 2,000 ตัว กรณีดังกล่าวจึงเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรที่ไม่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรแต่ละรายมีจำนวนพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการไม่เท่ากัน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จำนวน 220 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.97 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการน้อยกว่า 13.25 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่ขั้นต่ำตามหลักวิชาการที่จะสามารถรองรับปัจจัยการผลิตที่ได้รับการสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านพืชและด้านประมงที่ไม่คุ้มค่าและเกินความจำเป็น จำนวนมากเกินสัดส่วนของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ

ซึ่ง สตง. โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ และเกษตร จ.แพร่ พิจารณาดำเนินการ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิดทางละเมิด เพื่อชดใช้เงินและนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป พร้อมทั้งพิจารณาโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกรายตามควรแก่กรณี ส่วนกรณีเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 70 ราย ไม่มีต้นไม้ผลให้ตรวจนับจำนวน 7,331 ต้น มูลค่า 404,760 บาท ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงถึงผลการดำเนิน การปลูกต้นไม้ผลของเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการสุ่มตรวจอีกจำนวน 192 ราย พร้อมทั้งสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 262 ราย หากพบว่าเกษตรกรรายใดไม่มีต้นไม้ผลให้ตรวจนับ ให้หาผู้รับผิดทางละเมิดเพื่อชดใช้เงินและนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป พร้อมทั้งพิจารณาโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกรายตามควรแก่กรณี

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: เป้าหมายโครงการ 'เกษตรทฤษฎีใหม่' ของ ก.เกษตร ปีงบฯ 2561

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: