จับตา: ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตคนไทย ‘เสียชีวิตที่บ้าน’

ทีมข่าว TCIJ : 1 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 3624 ครั้ง


งานศึกษาผู้เสียชีวิต 387,970 คน ในปี 2548-2549 พบอัตราตายของประชากรลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 10-20 ปีก่อน เพศชายตายมากกว่าเพศหญิง, กลุ่มครัวเรือนยากจนตายมากกว่าครัวเรือนที่รวยกว่า, ผู้ตายครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี), กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 51.4) ได้แก่ โรคมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือด (นอกจากนี้เป็นการตายด้วยโรคชรา), ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตตายที่บ้าน รองลงมาคือโรงพยาบาลรัฐ ที่มาภาพประกอบดัดแปลงจาก: ไทยรัฐ

จาก งานวิจัยเรื่อง 'การสำรวจการเข้าถึงสถานพยาบาลและรายจ่ายด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต พ.ศ. 2548-2549' โดย ชุติมา อรรคลีพันธุ์ และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อัตราและแบบแผนการใช้บริการ และภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของผู้เสียชีวิต โดยใช้แบบสอบถามเพิ่มเติมนอกเหนือจากการสอบถามการเปลี่ยนแปลงของประชากรครั้งที่ 7 เมื่อพบว่ามีผู้เสียชีวิตในครัวเรือนตัวอย่าง 82,000 ครัวเรือนทั่วประเทศไทย การสำรวจมีคาบเวลาระหว่างเดือน ก.ค. 2548 - ก.ค. 2549 เป็นเวลา 1 ปี พบว่ามีผู้ตายทั้งสิ้น 387,970 คนอัตราตายของประชากรลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน เพศชายตายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มครัวเรือนยากจนตายมากกว่าครัวเรือนที่รวยกว่า ผู้ตายครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 51.4) ได้แก่ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้เป็นการตายด้วยโรคชรา ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เสียชีวิตตายที่บ้าน รองลงมาคือ โรงพยาบาลรัฐ และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตร้อยละ 4.1 ที่ยังไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลใด ๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการรักษาพยาบาลแบบ ‘ผู้ป่วยนอก’ และแบบ ‘ผู้ป่วยใน’ คือ สิทธิสวัสดิการ กลุ่มโรค และประเภทของสถานพยาบาลที่ใช้บริการเป็นสำคัญ มีผู้ป่วยร้อยละ 58.6 รักษาแบบผู้ป่วยนอก จ่ายเงินร้อยละ 65.2 ของผู้ที่รักษาทั้งหมด โดยเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 6,557 – 58,753 บาทใน 1 ปี ก่อนเสียชีวิต ขึ้นกับสิทธิสวัสดิการที่มี โดยค่ารักษาที่สถานพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด มีผู้ป่วยร้อยละ 57 ที่รักษาแบบผู้ป่วยใน ในจำนวนนี้ร้อยละ 41.8 ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มเติมจากสิทธิสวัสดิการที่มี โดยเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 10,646 – 231,167 บาทใน 1 ปีก่อนเสียชีวิต และการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีรายจ่ายสูงที่สุด จำนวนผู้ที่รักษารักษาแบบผู้ป่วยนอกและ/หรือผู้ป่วยในคิดเป็นร้อยละ 76.6 ร้อยละ 63.8 ของผู้ใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15,357 – 206,912 บาทภายใน 1 ปีก่อนเสียชีวิต ค่าเดินทางคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 31 – 86 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 3 – 18 ของการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนการรักษาแบบผู้ป่วยใน ซึ่งมีวันนอนเฉลี่ยตั้งแต่ 10 – 15 วัน ค่าเดินทางคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 – 100 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 4 – 11 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะมีครัวเรือนร้อยละ 29.2 ที่อาจจัดได้ว่าอยู่ในสภาวะล้มละลายโดยที่มีค่าใช้จ่ายภายใน 1 ปีก่อนเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ตลอดทั้งปี โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 64 จัดเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุด

การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า รายได้ครัวเรือน และเขตการปกครองไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรักษาหรือไม่รักษา พยาบาลในผู้ป่วยระยะสุดท้าย (3 เดือนแบบผู้ป่วยนอก และ 6 เดือนแบบผู้ป่วยใน) แสดงว่าผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ สอดคล้องกับผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ไม่รักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากเป็นการตายฉุกเฉิน (ร้อยละ 61) ไม่ต้องการรักษาในโรงพยาบาล (ร้อยละ 15) และต้องการตายที่บ้าน (ร้อยละ 14) และเนื่องจากกลุ่มผู้ตายโดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งส่วนใหญ่ที่ระบุว่าโรคชรา จะตายที่บ้าน หรือเมื่อผู้ป่วยรู้ว่าป่วยระยะสุดท้ายก็จะตายที่บ้าน น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการจัดบริการสาธารณสุขต่อไปในอนาคต เมื่อประชากรมีอายุยืนมากขึ้นและส่วนใหญ่ตายเมื่ออายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: