Otherwise Inside by Samak Kosem
@WTF Gallery & Café
ภาพถ่ายโดย: เมธัส มะกล่ำทอง
ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยที่คนส่วนมากคิดว่ามีปัญหาความรุนแรง ความขัดแย้งมากมายนั้น ก็มิได้แตกต่างกันนักกับพื้นที่ในภาคอื่นๆของประเทศที่ทับถม กลบซ่อนปัญหาในมิติต่างๆของสังคมวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกแตกต่างกันก็คือ การทำให้ปัญหาความรุนแรงเด่นชัดขึ้นมา ด้วยการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกที่นำความขัดแย้งทางศาสนามาเป็นประเด็นหลัก ทั้งที่ความจริงนั้นข้อขัดแย้งต่างๆเป็นผลมาจากเงื่อนไขอย่างอื่นมากกว่านั้น อาทิเหตุผลทางการเมืองตั้งแต่สมัยของรัฐสยามและรัฐปาตานี ในช่วงนั้นเองสยามมิได้เป็นเจ้าของดินแดนแถบนั้นแต่มีความสัมพันธ์เป็นดั่งเมืองคู่ค้าแห่งหนึ่ง ก่อนที่สยามจะผนวกรวมรัฐปาตานีในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2452) ขณะนั้นสยามทำการผนวกรวมเมืองต่างๆและเริ่มขีดเส้นแบ่งอาณาเขตที่ชัดเจน แต่ในสายตาของรัฐปาตานีคงไม่อาจเรียกได้ว่า ผนวกรวม แต่เป็นการ ถูกยึดครอง หรือแย่งชิง ดินแดนมากกว่า
ด้วยการก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์สำนึกที่ต่อเนื่องของทั้งสยามและปาตานีได้ทำให้ภาพจำ/ความทรงจำของผู้คนถูกบันทึกเอาไว้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนหลงลืมเรื่องราวอันหลากหลายในพื้นที่ตอนล่างของประเทศไทย จากพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจสู่วัฒนธรรมความรุนแรงที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ก็ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจแก่ผู้รับสารเข้าไปอีก จนในที่สุดความกลัว (อันแตกต่างกันระหว่างคนในและคนนอก) ก็เข้าปกคลุมคนในพื้นที่และเกาะกุมหัวใจคนทั้งประเทศได้สำเร็จ
หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกหลงลืมในฐานะเมืองชายขอบนั้นมีความเป็นชายของซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ก็คือเรื่องราวของกลุ่มผู้คนที่ถูกจำกัดความว่า ปอแน หรือ เควียร์ รวมถึงเพศนอกกรอบอีกมากที่ถูกกดทับผ่านมิติของศาสนา มิติเชิงอำนาจและการเมือง แม้ว่าปัจจุบันจะมีนิทรรศการ/ผลงานศิลปะที่นำเสนอถึงแง่มุมทางวัฒนธรรมอื่นๆเพิ่มมากขึ้น แต่การพูดถึงความเป็นชายขอบที่ซ้ำซ้อนของเรื่องเพศนอกกรอบก็ถือเป็นสิ่งที่น่าค้นหา ทั้งยังเป็นสิ่งที่ต้องอาศัย ความกล้า ในการแสดงออกอยู่ไม่น้อยทีเดียว
นิทรรศการ Oterwise Inside ของสมัคร กอเซ็ม จัดแสดงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2561 ณ WTF Gallery & Café ศิลปินนำเสนอถึงความเป็นไปได้ของเพศนอกกรอบ/เพศทางเลือก (ความเป็นกระเทย เกย์ ทอม) ว่าจะเป็นไปในลักษณะไหนได้บ้างภายใต้บริบทของความเป็นมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยอันระอุไปด้วยแรงศรัทธาทางศาสนาที่แกร่งกล้า ผลงานที่ปรากฏมีทั้งภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง วิดีโออาร์ต ให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความปรารถนาของผู้ที่เป็นชายขอบของมิติทางเพศ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และพื้นที่
สถานะของความเป็นชายขอบซ้ำซ้อนนั้นเป็นสิ่งที่ศิลปินและเหล่านาง/นายแบบนั้นรู้สึกร่วมกัน การทำงานศิลปะแต่ละชุดของเขาจึงมิได้เป็นการวางกรอบให้กับนาย/นางแบบนั้นๆ เนื่องจากเขา/เธอนั้นเลือกที่จะนำเสนอถึงความปรารถนาของตนผ่านการ เล่นกล้อง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สีหน้า ท่าทาง รอยยิ้ม และสายตา เป็นการนำเสนอถึงชีวิตที่พวกเขาต้องการให้ผู้ชมได้เห็น ศิลปินไม่ลืมที่จะยกประเด็นทางศาสนาที่เป็นตัววางกรอบ (หรือปิดกั้น) ให้กับวิถีชีวิตในพื้นที่นั้นมานำเสนอด้วย บทบัญญัติทางศาสนาก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่คอยก่อกำแพงให้ผู้คนไม่ได้เห็นเรื่องราวของเพศนอกกรอบด้วย
ประเด็นเพศนอกกรอบมีปรากฏให้เห็นตามที่ต่างๆทั่วประเทศ ทั่วโลก ทำให้อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าคุณจะอยู่แห่งหนใดบนผืนปฐพีก็จะพบได้กับความหลากหลายทางเพศที่เบ่งบานกันจน (อาจจะ) ชินตา ปัญหาที่ตามมากับสภาวะทางเพศก็เบ่งบานไม่แพ้ความหลากหลายทางเพศ ด้วยแนวคิดของการเหยียดเชื้อชาติที่ถูกต่อยอดจนเป็นการเหยียดหยามเพศนอกกรอบ การแสดงออกของเพศทางเลือกเองก็มักนำสภาวะของเพศหลักมาเป็นจุดเด่นของตน กะเทยต้องสวยเหมือนผู้หญิง, ทอมต้องหล่อเหมือนผู้ชาย-รวมถึงการต้องทำให้ร่างกายเหมือนเพศหลักก็ยิ่งทำให้สถานะของเพศทางเลือกเป็นชายขอบเข้าไปอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกดทับความเป็นตัวตนของเพศนอกกรอบ หากมองดูวัฒนธรรมการพูดก็จะยิ่งเห็นได้ชัดไม่ต่างกับการเหยียดสีผิวหรือชาติพันธุ์ เสรีภาพในการแสดงออกทางเพศ จึงเป็นประเด็นหลักอีกประเด็นและเป็นส่วนพิจารณาในการเสพชมนิทรรศการนี้ด้วย ในพื้นที่ 3 จังหวัดตอนล่างของประเทศไทยที่ศาสนาเป็นใหญ่กว่าเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน การแสดงออกถึงตัวตนที่แตกต่างจึงมักจะได้รับแรงกดดันอันหนักหน่วงในหลายมิติที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ยิ่งในสังคมมุสลิมที่มีการบัญญัติถึง ปอแน ยิ่งต้องห้ามเข้าไปอีก
ภาพถ่ายชุด ญิน (jinn) เป็นภาพถ่ายแบบเปลือย นำเสนอถึงความเป็นเพศนอกกรอบ (ศาสนา) ที่ไม่นอกกรอบ (เพศสภาพ) ซึ่งตัวแบบนั้นเป็นเพศชายตามร่างกาย แต่โพสท่าทาง (ที่ผู้ชายคิดว่า) เซ็กซี่ ตามแบบฉบับเพศหญิง เป็นเสมือนการลอกแบบความปรารถนาของหญิงและชายมาสู่ตัวแบบ การเล่นกับกล้องของแบบจึงนำเสนอถึงชีวิตอันนอกกรอบของชาวมุสลิมแต่ไม่นอกกรอบในเรื่องเพศวิถี ผู้เขียนคิดเห็นว่าผลงานลักษณะนี้เป็นการวางกรอบทางเพศตามความต้องการของเพศชายเป็นหลัก ความที่ศิลปินเน้นไปในการนำเสนอทางเลือกและเปิดทางเลือกให้กับเพศนอกรอบนั้น ดูจะขัดแย้งกันกับภาพทำให้เป็นการย้ายจากกรอบหนึ่งที่กดทับไปสู่อีกกรอบหนึ่งที่ไม่แตกต่างกันมากนัก มากกว่าจะเป็นทางเลือกให้กับเสรีภาพการแสดงออกของอัตลักษณ์ทางเพศ
ภาพถ่ายชุด ปอแน (pondan) เป็นภาพถ่ายคนครึ่งตัวของเพศนอกกรอบที่สังคมไทยรู้จักกันในชื่อ กะเทย ส่วนชาวมุสลิมเรียกว่า ปอแน โดยนาง/นายแบบนั้นจะถูกจับภาพในขณะที่มีท่าทางชมดชม้อย รวมถึงมีริมฝีปากแดงดั่งการทาลิปสติก ทั้งยังมีการใส่ ฮิญาบ ตามหลักปฏิบัติของชาวมุสลิมเพศหญิง พื้นหลังของภาพก็บ่งบอกถึงความเป็นมุสลิมด้วย มัสยิด และผู้คนสวมหมวกที่เป็นชาวมุสลิม ทุกภาพนั้นตัวแบบแสดงออกถึงความเป็นปอแนชัดเจน เว้นแต่เพียงภาพเดียวที่พื้นหลังรายล้อมด้วยชายชาวมุสลิม แบบจึงมิได้ใส่ ฮิญาบ แต่ใส่หมวกตามหลักศาสนาอิสลามแทน ภาพดังกล่าวไม่มีการทำกิริยาเฉกเช่นเพศตรงข้ามกับตัวแบบ เป็นเพียงภาพเดียวที่มิได้สำแดงการมีความความสุขของแบบ ทำให้อาจบอกได้ว่าชีวิตในบริบทไหนที่ทำให้ตัวแบบนั้นมีความสุข เพียงแค่นำมาเปรียบเทียบกับภาพที่เหลือในชุดเดียวกันก็จะสังเกตเห็นได้เช่นนั้น
ผลงานสร้างสรรค์ วิดีโออาร์ต (Video Art) ชุด The Day I Became ความยาว 33.20 นาที โดยสมัคร์ กอเซ็ม และ ปฏิภาณ บุณฑริก นำเสนอถึงเพศนอกกรอบที่คนส่วนใหญ่อาจเรียกว่า ทอม เป็นการบันทึกช่วงเวลาระหว่างการตัดผมให้สั้นแบบผู้ชายของผู้หญิงชาวมุสลิม ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านจากเพศต้นกำเนิดสู่เพสนอกกรอบ ผลงานชุดนี้เป็นสิ่งที่ศิลปินได้พบระหว่างที่รอตัดผมอยู่ที่ร้านแห่งหนึ่งใกล้กับสถาบันอุดมศึกษาในปัตตานี โดยมีผู้หญิงมาจอดรถและหยุดรอบางอย่างจนช่างตัดผมในร้านต้องออกไปพูดคุยด้วย ช่างตัดผมนั้นก็แสดงความขับข้องใจที่จะตัดผมให้เนื่องจากต้องแตะต้องเพศตรงข้าม หลังจากนั้นการตัดผมในรูปแบบของเพศชายทำให้ กัญญาผู้เป็นแบบต้องพบกับการโยกย้ายที่อยู่จากบ้านเกิดตนเอง ต้องต่อสู้กับครอบครัวในเรื่องทางศาสนา โครงสร้างทางสังคม ความคาดหวังของครอบครัว ในที่สุดเธอ/เขาก็ไม่เพียงแต่โยกย้ายที่อยู่ แต่ยังต้องโยกย้ายความเชื่อทางศาสนาด้วย การตัดผมเพื่อเปลี่ยนจาก หญิงสู่ชายที่นำไปสู่การเปลี่ยนชีวิตเป็น อดีตชาวมุสลิม (Ex-Muslim)
ผลงานชิ้นนี้ศิลปินสร้างออกมาได้มีเนื้อหา-สาระที่น่าสนใจโดยนำเสนอถึงการเปลี่ยนผ่านทางกายภาพสู่การเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณ ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจก็เนื่องจากชีวิตของชาวมุสลิมเป็นสถานะของความเป็นชายขอบในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย และการปฏิบัติการเปลี่ยนผ่านสู่เพศตรงข้ามบริบทเดิมที่เป็นเพศหญิงก็ทำให้ เป็นชายขอบซ้ำยิ่งกว่าเดิม นอกจากเราจะเห็นถึงสภาวะของเพศนอกกรอบแล้วเรายังจะเห็นถึงความเป็นชายขอบของหญิงชาวมุสลิมด้วย สิ่งที่น่าจะต้องปรับปรุงก็คือระยะเวลาของตัวผลงานที่ยาวจนอาจเรียกได้ว่า หนังสั้น (Short Film) จนทำให้ผู้ชมอาจจะรู้สึกเบื่อเสียก่อนที่จะได้รับสาระ เพราะอยู่ในสถานที่เดิมๆ เนื้อหาหรือสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนความรู้สึกหรือศาสนานั้นก็หายไป แม้เราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเสพชมผลงานมิได้ใช้เพียงแค่สายตาในการจ้องมอง แต่ต้องใช้การอ่าน-การคิด ตามไปด้วย แต่ผู้เขียนเห็นว่าระยะเวลา 30 นาที นั้นสามารถที่จะสอดแทรกเนื้อหาให้ผู้ชมสะกิดใจในการกลายเป็นอดีตมุสลิมหรืออาจจะเป็นประเด็นด้านความรู้สึกของผู้เป็นแบบได้มากกว่านี้และนั่นจะเป็นการส่งเสริมให้ผลงานมีมิติและชั้นเชิงได้ดียิ่งขึ้น
ผลงานศิลปะจัดวางและภาพถ่ายชุด โมนาลิซ่า (Mona Lisa) และ บูคู (Buku) เป็นการนำเสนอถึงชีวิต-กิจกรรมของเพศนอกกรอบ การใส่ชุด บานงหญิง ของผู้ชาย และกิจกรรมเล่นกีฬา ฟุตบอลของ ผู้หญิง โดยจัดวางให้อยู่ในลักษณะคู่ตรงข้ามกัน เนื้อหาที่เน้นไปถึงสิ่งที่เป็นอยู่ของเพศนอกกรอบอันขัดต่อบริบททางสังคมและศาสนา ตัวแบบของผลงานดังกล่าวให้ความรู้สึกเป็นกันเองและดูจะมีชีวิตชีวาอยู่เพียงในภาพถ่าย ศิลปินเองก็มิลืมที่จะแสดงเรื่องราวอันปกติของตัวผู้เป็นแบบผ่านการจัดวางสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันประกอบด้วย เช่น กระจกแต่งหน้าเล็กๆ หนังสือละหมาด เครื่องแต่งกายของชายมุสลิมที่แขวนไว้ แผ่นไม้ที่อาจเปรียบได้กับโต๊ะเรียนซึ่งคอยปลูกฝังความคิดของนักเรียนว่าควรธำรงไว้ซึ่งสถานะทางเพศของตนตามแต่กำเนิด
ผลงานชุดนี้ทำให้ผู้เขียนคิดถึงชีวิตอันปกติของแบบและชีวิตอันสร้างความสุขให้กับตัวแบบผ่านรอยยิ้ม คงอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนที่เป็นเพศนอกกรอบในบริบทของสังคมมุสลิม 3 จังหวัดตอนใต้ของไทยนั้นมิได้หลงลืมหรือรังเกียจศาสนาที่ตนนั้นเชื่อถือ แต่พวกเขาจะมีรอยยิ้ม (ความสุข) ผ่านการปฏิบัติการทางเพศสภาพที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางเพศออกมาได้ เป็นสิ่งปกติสามัญที่พบได้ในแต่ละคนเอง หากเราเป็นชายก็อาจมีความสุขหากสามารถประคบประหงมดูแลฝ่ายหญิงได้ (ไม่ใช่ทุกคน) หากเราเป็นหญิงก็อาจรู้สึกมีความสุขที่สามารถหาเครื่องประดับตกแต่งมาเสริมให้ร่างกายดูงดงามได้เช่น เครื่องสำอาง (ไม่ใช่ทุกคนเช่นกัน) เช่นนี้เราต่างมีความสุขในการแสดงออกทางเพศสภาพได้เต็มที่ แต่สิ่งที่นำมาจัดวางนั้นทำให้ผลงานดูแข็งทื่อ ไร้อารมณ์ร่วมของตัวแบบ เราอาจเข้าใจว่าสิ่งของที่นำมาจัดวางนั้นเป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งในชีวิตที่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นหรือสิ่งที่ต้องการของตัวแบบ เหมือนถูกบังคับให้นำมาจัดแสดง สิ่งของเหล่านั้นกลับทำให้ภาพที่ดูมีชีวิตนั้นไร้ชีวิตลงไปได้
ผลงานทั้งหลาย (ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ) ที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาพูดถึงนั้นก็เนื่องจากเป็นผลงานที่สื่อถึงความเป็นเพศนอกกรอบอันชัดเจน สื่อถึงบริบทความเคลื่อนไหวของผู้คนเหล่านั้นที่ปัจจุบันยังคงดำรงชีวิตอยู่จริงในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งยังเป็นการแสดงอัตลักษณ์ส่วนตัวโดยไม่ละเลยบริบททางสังคม-วัฒนธรรมรอบข้าง กล่าวคือ แม้จะมีการแสดงความเป็นอัตตาแต่ก็มิได้หลงลืมว่าตนนั้นอยู่แห่งหนใด (อาจจะยกเว้นผลงาน ชุดญิน ที่กล่าวถึงไป) ในแง่นี้ทำให้เห็นว่าศิลปินทำการบ้านในหัวข้อการแสดงงานของตนมาได้ดี แต่สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติมก็คงจะเป็นชั้นเชิงและรสชาติ ในการนำเสนอผลงาน จากที่กล่าวมานั้นทำให้การรับรู้ของผู้ชมที่มิใช่เพศนอกกรอบหรือผู้บังเอิญผ่านมาที่มิได้มีรสนิยมดังกล่าวเข้าใจในความหมายอื่นแทนการดำรงอยู่ของเพศนอกกรอบภายใต้บริบททางสังคม 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย แม้เราจะเข้าใจกันอยู่แล้วว่างานศิลปะนั้นมีอิสระในการตีความสำหรับผู้ชมด้วย แต่เป้าประสงค์ของศิลปินก็ควรจะเป็นหมุดหมายที่มิควรมองข้ามเช่นกัน
ผลงานที่ได้เสพชมไปนั้นยังทำให้ได้เห็นว่า แนวคิดการดูถูกดูแคลนในเรื่องเพศนั้นมิได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ชายแดนแถบภาคใต้ตอนล่างของไทยเท่านั้น หากแต่ดำรงอยู่ทุกอณูของแผ่นดินตราบใดที่แนวคิดทัศนคติการเหยียดเพศพันธุ์ของมนุษย์ไม่หมดไป ตราบใดที่ผู้คนในสังคมยังคลั่งไคล้ความเชื่ออย่างสุดโต่ง ที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง การดูถูกดูแคลนก็จะดำรงอยู่คู่สังคมต่อไปไม่จบสิ้น
นิทรรศการ Otherwise นี้แม้จะจบไปแล้วพร้อมกับความกลัวที่แผ่ออกมาผ่านการเซ็นเซอร์ผลงานชุด ญิน, ปอแน, คู่มือละหมาด นั่นก็คงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ศิลปินนำเสนอไว้คือการหลบซ่อนตัวตน ความหวาดระแวงต่อสังคมของกลุ่มเพศนอกกรอบ แต่ก็หวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าศิลปินจะยังคงไว้ซึ่งความกล้าในการแสดงออกถึงสิ่งอันต้องห้าม (ในพื้นที่อื่นๆ) ต่อไปอย่างแข็งขัน เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้มองเห็นภาพของพื้นที่ 3 จังหวัดตอนล่างของไทย ว่ามิได้มีแต่ความรุนแรง ความขัดแย้ง แต่เป็นสังคมอันอุดมด้วยความหลากหลายไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทยเช่นกัน.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ