ปลายเดือน พ.ย. 2561 เกษตรกรขึ้นทะเบียนโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาแล้วกว่า 71%

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2130 ครั้ง

ปลายเดือน พ.ย. 2561 เกษตรกรขึ้นทะเบียนโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาแล้วกว่า 71%

โครงการปลูกข้าวโพดหลังนาปี 2561 พบปลายเดือน พ.ย. เกษตรกรเข้าร่วมโครงการคิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่แล้วกว่า 71% เพราะนอกจากรัฐจะช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาทดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ต่อปีแล้ว ราคาข้าวโพดยังค่อนข้างสูงหน้าไซโลโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อถึง กก.ละ 10.10 บาท คาดจะมีกำไรไร่ละไม่ต่ำกว่า กก.ละ 3,000 บาท นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์หนุนส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ พร้อมรับซื้อทดแทนการนำเข้า ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2561 ว่าความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาปีนี้ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 นี้ว่าจากการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดหลังนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 รอบในเดือน ก.ย.และ ต.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และสมาชิกลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 116,486 ราย จำนวน 160,186 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,014,921 ไร่ ใน 33 จังหวัด ณ วันที่ 22 พ.ย. 2561 เวลา 09.00 น. มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดไปแล้ว 15 วันมาขึ้นทะเบียนในโครงการแล้ว 84,090 ราย จำนวน 129,042 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 726,020.5 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ปลูกแล้ว 71.53%

โดยเกษตรกรใน 10 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ตาก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ แพร่ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ปราจีนบุรี พะเยา และพิจิตร ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกทั้งข้าวและข้าวโพดมานาน สมัครเข้าร่วมโครงการเมื่อเทียบที่มีการสำรวจไปก่อนหน้านี้สูงถึง 89.93, 89.47, 87.39, 85.94, 84.21, 82.23, 81.03, 78.94, 77.78 และ 75.70% ตามลำดับ

ส่วนจังหวัดที่เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วในระดับ 50-75% ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก น่าน สุรินทร์ ชัยนาท ลำปาง อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ อุบลราชธานี สุโขทัย เชียงราย และอุดรธานี ขณะที่เกษตรกรในจังหวัดที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการ 25-50% ได้แก่ นครราชสีมา หนองคาย ลำพูน สระบุรี และนครพนม ส่วนจังหวัดสุดท้ายที่เกษตรกรมาสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยที่สุด คือ สกลนคร มีพื้นที่ 2,509.5 ไร่ คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ 10.25% จากที่สำรวจต้องการปลูกข้าวโพดก่อนหน้านี้ 24,462 ไร่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือในการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาว่า ทางสมาคมได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เนื่องจากสมาคมมีสมาชิกเป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 55 แห่ง และมีความต้องการข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก ปัจจุบันปริมาณข้าวโพดในประเทศยังขาดแคลนและต้องการให้เพิ่มผลผลิตอีกปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งอาจจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ และหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกปีละ 3 ล้านตัน ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรที่สามารถลดพื้นที่ทำนาแล้วหันมาปลูกพืชที่มีตลาดรับซื้อแน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะมีวัตถุดิบในประเทศที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และลดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ทางสมาคมมีการกำหนดพื้นที่และบริษัทที่จะเข้าไปรับซื้อที่ชัดเจน จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึง 15 ม.ค. 2562 พร้อมให้ความมั่นใจว่าผลผลิตจากโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน

อนึ่งราคารับซื้อข้าวโพดล่าสุดของบริษัท แหลมทอง จำกัด ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 22 พ.ย. 2561 ความชื้น 14.5% ราคา กก.ละ 10.10 บาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: