คนงานอิหร่านประท้วง-ฆ่าตัวตาย หลังจากไม่ได้รับค่าจ้างมาหลายเดือน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 2 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2592 ครั้ง

คนงานอิหร่านประท้วง-ฆ่าตัวตาย หลังจากไม่ได้รับค่าจ้างมาหลายเดือน

คนงานเหล็กอิหร่านหลายร้อยคนรวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงที่หน้าสำนักงานผู้ว่าการเมืองหลังไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 3 เดือน วันเดียวกันกับคนงานโรงงานผลิตน้ำตาลอ้อยฆ่าตัวตายหลังจากไม่ได้รับค่าจ้างมาหลายเดือน

คนงานเหล็กหลายร้อยคนรวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงที่หน้าสำนักงานผู้ว่าการเมืองอาห์วาซ (Ahvas) เมืองหลวงของจังหวัดคูเซสถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอิหร่านเมื่อวันพุธที่ 28 ก.พ. 2018 และในวันเดียวกันคนงานโรงงานผลิตน้ำตาลอ้อยฆ่าตัวตายหลังจากไม่ได้รับค่าจ้างมาหลายเดือน

กลุ่มคนงานเหล็กเรียกร้องให้องค์กรนายจ้างอุตสาหกรรมเหล็กแห่งอิหร่านจ่ายเงินเดือนค้างจ่ายและเรียกร้องให้นาย Abdolreza Musavi เจ้าของโรงงานลาออก รวมทั้งนาย Gholamreza Shariati ผู้สำเร็จราชการจังหวัดคูเซสถาน (Khouzestan) คนงานรวมกลุ่มประท้วง 1 วันหลังจากที่ทั้งนายจ้างและผู้สำเร็จราชการจังหวัดสัญญาว่าจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเพียง 1 เดือนภายใน 1-2 วัน ทว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 3 เดือนแล้ว ผู้สำเร็จราชการจังหวัดคูเซสถานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทางการ IRNS ว่า นายจ้างได้ส่งเงินเดือนพนักงานให้แก่ผู้ว่าการเมืองอาห์วาซแล้ว แต่ไม่พอจ่ายค่าจ้าง 1 เดือน

จากรายงานข่าวของสหภาพแรงงานอิสระแห่งอิหร่าน ระบุว่าพวกเขาเป็นทุกข์ร้อนอย่างมาก และรายงานก่อนหน้านี้ระบุว่าการนัดหยุดงานของคนงานเหล็กเริ่มเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมถึง 3,500 คน

โรงงานเหล็กอาห์วาซก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1967 เคยถูกฟ้องศาลอิหร่าน หลังจากที่เจ้าของก่อนหน้านี้ถูกดำเนินคดีข้อหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งต่อมาศาลได้ย้ายโอนโรงงานให้แก่ธนาคารเมลลี่อิหร่าน (Bank Melli Iran) เมื่อเดือน ต.ค. 2017 ธนาคารเมลลี่ยกกิจการโรงงานให้แก่นาย Abdolreza Musavi ผู้อำนวยการของสายการบินซากรอส (Zagros Airline) และยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลใหญ่ของเมืองอาห์วาซ และกิจการโรงแรม 2 แห่งบนเกาะคิซ (Kish Island) ในอ่าวเปอร์เซีย

สหภาพแรงงานอิสระ รายงานอีกว่าคนงานที่เกษียณอายุเข้าร่วมการประท้วงเมื่อวันพุธ (28 ก.พ.) ที่ผ่านมาด้วย จากรายงานของนักกิจกรรมแรงงาน เงินเดือนของพนักงานที่นายจ้างค้างจ่ายติดต่อกันหลายเดือนนั้นกลายเป็นปัญหาหลักที่ผู้ใช้แรงงานอิหร่านกำลังเผชิญ และยังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความวุ่นวายในหลายส่วนของประเทศ คนงานบางคนให้สัมภาษณ์แก่สื่อออนไลน์ Jame'eh Now ว่าคนงานหลายคนถูกจับกุมโดย รปภ.ของบริษัท และบริษัท รปภ.แห่งอื่น

สื่อออนไลน์ดังกล่าวยกคำพูดของคนงานว่า "คนงานส่วนใหญ่เป็นหนี้เพราะไม่มีรายได้เข้ามาเลย" อีกทั้ง คนงานบางคนมีบัญชีธนาคารแต่ถูกปิดไปแล้วจากการที่พวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ รวมทั้งประกันสุขภาพของคนงานก็ไม่ได้ต่อ เนื่องจากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าเบี้ยประกัน สื่อออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่าคนงานอุตสาหกรรมเหล็กเมืองอาห์วาซ 4,000 คนไม่มีสภาพแรงงานปกป้องสิทธิ ในขณะที่โรงงานที่มีคนงานเพียง 35 คนกลับมีสหภาพแรงงาน

ความยากจนได้พรากชีวิตของคนงานน้ำตาลอ้อย

ศูนย์ข่าวแรงงานอิหร่าน (ILNA)ได้รายงานเมื่อวันพุธที่ 28 ก.พ. ว่าพื้นที่พัฒนาอีกแห่งของจังหวัดเคซูสถาน คนงานบริษัทผลิตน้ำตาลอ้อย Haft Tappeh ซึ่งกำลังแบกภาระหนี้สินอย่างหนัก ได้ฆ่าตัวตายเสียแล้วรายงานข่าว ระบุด้วยว่าคนงานน้ำตาลอ้อยกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย เสียชีวิตในคลองใกล้เคียง แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทพยายามปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตของเขา

ทั้งศูนย์ข่าวแรงงาน ILNA และสหภาพแรงงานน้ำตาลอ้อยต่างระบุว่า คนงานฆ่าตัวตายหลังจากที่นายจ้างปฏิเสธให้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน จากการที่เขาไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว เพื่อนร่วมงานของเขาให้สัมภาษณ์ว่า เขาเหนื่อยล้ากับสถานการณ์ที่แย่ลง และจะฆ่าตัวตายเพื่อดึงดูดความสนใจของเจ้าหน้าที่ให้แก้ปัญหานี้ เครือข่ายสังคมเทเลแกรมรายงานข่าวหลังจากที่เขาเสียชีวิตว่าบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 1 เดือนในไม่ช้านี้ ต่อมาสหภาพแรงงานอิสระก็รายงานเพิ่มเติมว่า คนงานที่บริษัท Haft Tappeh ได้วางผ้าปูโต๊ะเปล่าเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาการเงินของคนงาน

แปลและเรียบเรียงจาก
https://en.radiofarda.com/a/iran-unpaid-workers-strike-suicide/29069420.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: