อสังหาฯ ผุดรับ EEC แก้ผังเมืองเดินหน้า ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์’ บางละมุง

ทีมข่าว TCIJ: 2 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 7188 ครั้ง

สถิติเดือน ม.ค.-ก.ค. 2561 พื้นที่ 'ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก' หรือ EEC 'ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-ระยอง' ตั้งธุรกิจใหม่รวม 4,238 ราย ธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้างอาคารทั่วไป-ภัตตาคารและร้านอาหาร’ ส่วน ‘โครงการบ้านจัดสรร-คอนโดฯ’ ระหว่างขาย 957 โครงการ รวม 202,166 ยูนิต มูลค่ารวม 553,371 ล้านบาท ดันที่ดินภาคตะวันออกราคาสูงขึ้น 50-100% ขณะที่ ครม. มีมติไฟเขียวแก้ผังเมืองรวมอุตสาหกรรมและชุมชนรองรับ 'โครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร' หรือ ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์’ ริมทะเล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กว่า 632 ยูนิต บน 'ที่ดินราชพัสดุ' 48 ไร่ (ภาพประกอบไม่ใช่โครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ที่มาภาพจาก: Carpenter Kessel)

เดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ประชุมครั้งที่ 2/2561 สรุปข้อมูลความคืบหน้าล่าสุดของการลงทุนในเขตระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยครึ่งปีแรก  (ม.ค.-มิ.ย. 2561) มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะพื้นที่ EEC จำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% ในช่วงเดียวกันของปี 2560 ส่วนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในระยะที่ 1 (ท่าอากาศยานดอนเมืองถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา) มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทั้งสิ้น 31 ราย จาก 7 ประเทศ ทั้งนี้จะมีการเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย. 2561 ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอเดือน ม.ค. 2562 ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเดือน ก.พ. 2562 และเปิดให้บริการโครงการฯ ปลายปี 2566 นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 (ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่าน ระยอง จันทบุรี และตราด) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการศึกษาและออกแบบโครงการฯ

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 จะใช้กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ลงนาม MOU เช่าที่ดิน เดือน ส.ค. 2561 ประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนเดือน ก.ย. 2561 ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอเดือน พ.ย. 2561 ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเดือน ธ.ค. 2561 และเปิดให้บริการโครงการฯ ปี 2564

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พัฒนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวปริมาณสินค้า จะให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดือน ม.ค. 2562 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเดือน ก.พ. 2562 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) จากนั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนเดือน ต.ค. 2561 กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเดือน ธ.ค. 2561 และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเดือน ก.พ. 2562 [1]

อสังหาริมทรัพย์บูมรอ ดันราคาที่ดินภาคตะวันออกสูงขึ้น 50-100%

ข้อมูลของศูนย์วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยพบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดที่มีความน่าสนใจสูงสุด คือ ทำเลในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ระยอง ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากโครงการ EEC โดยปัจจุบันราคาที่ดินในภาคตะวันออกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50% และ 100% ในบางพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่จะต้องเฝ้าระวังสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปลายปี 2561 ก็คืออัตรากำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน [2]

ส่วนข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2561 พบว่า การจดทะเบียนตั้งใหม่ในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา, จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง รวม 4,238 ราย เพิ่มขึ้น 7.45% จากปีก่อน  โดยธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 747 ราย ทุนจดทะเบียน 2,670 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารทั่วไป 361 ราย ทุนจดทะเบียนประมาณ 500 ล้านบาท ภัตตาคารและร้านอาหาร 169 ราย ทุนจดทะเบียน 256 ล้านบาท [3]

เห็นได้ชัดเจนว่าธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง จากการที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนใน EEC และมีประชากรแรงงานเข้ามามากขึ้น ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัย และยังมีการลงทุนในร้านอาหารที่ขยายตัวตามจำนวนประชากร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจภาคบริการเพิ่มมากขึ้น เช่น โลจิสติกส์ การให้บริการด้านที่อยู่อาศัย โดยจากการวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า EEC แม้จะเป็นช่วงเริ่มแรกแต่ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในพื้นที่นี้ (จ.ฉะเชิงเทรา, จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่เข้ามาดูศักยภาพในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินในในการลงทุน [4]

ส่วนการรวบรวมข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัยในโซน EEC ช่วงครึ่งปี 2561 โดยประชาชาติธุรกิจ พบว่ามีโครงการอยู่ระหว่างขาย 957 โครงการ รวม 202,166 ยูนิต มูลค่ารวม 553,371 ล้านบาท สามารถขายได้แล้ว 73.4% จำนวน 148,363 ยูนิต เหลือขาย 26.6% 53,803 ยูนิต แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 106,742 ยูนิต มูลค่ารวมกัน 222,238 ล้านบาท ขายได้แล้ว 65.3% จำนวน 69,735 ยูนิต เหลือขาย 34.7% 37,007 ยูนิต และคอนโดมิเนียม 95,424 ยูนิต ขายได้แล้ว 82.4% จำนวน 78,628 ยูนิต เหลือขาย 17.6% จำนวน 16,796 ยูนิต จะเห็นได้ว่าคอนโดมิเนียม มีผลตอบรับดีกว่าบ้านจัดสรร มีสัดส่วนขายแล้ว 82.4% เทียบกับบ้านจัดสรรมีสัดส่วนขายแล้ว 65.3% [5]

ทุนต่างชาติร่วมลงทุนอสังหาฯ ไทยกว่า 618,085 ล้านบาท

กลุ่มทุนจากต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มีมากถึง 34 บริษัท มูลค่าสูงถึง 618,085 ล้านบาท เป็นกลุ่มทุนจากจีนและฮ่องกง 19 บริษัท มูลค่าโครงการ 334,400 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: pxhere (CC0)

เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2561 สมาคมอาคารชุดไทยจัดงานสัมมนาเรื่อง ‘ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม...ยุค 4.0’ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มทุนที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากถึง 34 บริษัท มูลค่าสูงถึง 618,085 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มทุนจากจีนและฮ่องกง 19 บริษัท มูลค่าโครงการ 334,400 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น จำนวน 10 บริษัท มูลค่าโครงการร่วมทุน 252,100 ล้านบาท และสิงคโปร์ 5 บริษัท มูลค่า 31,585 ล้านบาท

กลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติยังเป็นปัจจัยสำคัญให้ตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาคึกคักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าในปี 2560 มียอดซื้ออสังหาฯ จากชาวต่างชาติสูงถึง 76,000 ล้านบาท คิดเป็น  27% ของยอดโอนกรรมสิทธ์อสังหาฯ ในปี 2560 แบ่งเป็นชาวจีน-ฮ่องกงซื้อมากที่สุด 23,600 ล้านบาท รองลงมาเป็น สิงคโปร์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ไต้หวันและญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากชาวจีนยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แม้จะส่งผลดีต่อการขายอสังหาฯ ในไทย แต่คนจีนที่ซื้อคอนโดฯ มักไม่ได้พักอาศัยเอง ส่วนมากปล่อยเช่าให้กับทัวร์หรือนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยกันเอง อาจเกิดปัญหาลิดรอนสิทธ์และปัญหาการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างชาวไทยและชาวจีนตามมา ซึ่งกฎหมายไทยยังไม่มีการรองรับในเรื่องดังกล่าว สำหรับตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี โตถึง 48% ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ส่วน จ.ภูเก็ต โต 96% จ.สงขลา โต 87% จ.เชียงใหม่ โต 18% จ.ระยอง โต 52% ในขณะที่ จ.ขอนแก่น ลดลง 9% [6]

 

ไฟเขียวแก้ผังเมืองรับ ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์’ บางละมุง

โมเดลจำลองของ 'ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร' หรือ ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์’ (Senior Complex) บนที่ดินราชพัสดุ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่มาภาพ: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของรัฐที่จะผุดขึ้นในพื้นที่ EEC อีกโครงการที่น่าจับตาคือ 'โครงการสร้างศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร' หรือ 'ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์' (Senior Complex) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยความเป็นมาของโครงการนี้สืบเนื่องมาจากในปีงบประมาณ 2560 กรมธนารักษ์และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีความตกลงร่วมกันที่จะดำเนินโครงการสร้างศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ มีโครงการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยกรมธนารักษ์จะนำร่องดำเนินโครงการดังกล่าวในที่ราชพัสดุ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวมประมาณ 72 ไร่ มูลค่าที่ดินประมาณ 49.48 ล้านบาท

แผนการดำเนินโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ ในที่ราชพัสดุนั้น กรมธนารักษ์จะได้ดำเนินการสร้างใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1.จ.ชลบุรี 2.จ.เชียงใหม่ 3.จ.เชียงราย และ 4.จ.นครนายก โดยกำหนดผลตอบแทนตามหลักประชารัฐ (ค่าเช่าตารางวาละ 1 บาทต่อเดือน ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 2 เท่าของค่าเช่า 1 ปี ยกเว้นเชียงใหม่กำหนดตามระเบียบกระทรวงการคลัง) [7]

ต่อมาเดือนพ.ย. 2560 กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ขนาด 500 หน่วย จำนวน 11 อาคาร มูลค่า 800 ล้านบาท โดยได้บูรณาการร่วมกับสภากาชาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ Nursing Home Zone เพื่อดูแลผู้สูงอายุ และสภากาชาดไทยจะดำเนินการโรงพยาบาลศรีราชาซึ่งเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุแห่งแรก เพื่อเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยสูงอายุที่พักอยู่ในศูนย์ที่พักอาศัยดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ตามแผนกรมธนารักษ์จะดำเนินการก่อสร้างเนียร์คอมเพล็กซ์จำนวน 40,000 หน่วย โดยโครงการที่ จ.ชลบุรี จะให้สิทธิ์ข้าราชการบำนาญอยู่อาศัย หลังจากนั้นจะได้ขยายก่อสร้างไปยัง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.นครนายก ซึ่งประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์อยู่อาศัย แต่จะต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป อัตราค่าเช่า 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน สำหรับ จ.เชียงใหม่ จะเป็นพื้นที่ก่อสร้างเนียร์คอมเพล็กซ์แห่งใหญ่ที่สุดในประเทศ [8] ล่าสุด ณ เดือน ส.ค. 2561 กรมธนารักษ์เปิดเผยว่าจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลพัฒนาโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ อีก 2 จังหวัดเร็วๆ นี้ ได้แก่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.นครนายก ในส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาดเนื้อที่ 11 ไร่ มีห้องพักจำนวน 300 ห้อง การซื้อสิทธิผู้อยู่อาศัยราคา 1-1.5 ล้านบาท [9]

แม้ ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ บางละมุง’ จะเป็นโครงการแรกๆ ที่มีความพยายามผลักดันให้เป็นรูปธรรม แต่ก็พบว่าติดปัญหากฎหมายผังเมือง เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชนแหลมฉบัง จ.ชลบุรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ที่ตั้งโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ บางละมุง อยู่ในเทศบาลนครแหลมฉบัง ซึ่งเทศบาลฯ แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง) โดยร่างกฎกระทรวงฯ นี้ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พ.ศ. 2555 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการบางบริเวณให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการเกี่ยวกับโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ พร้อมกันนี้ยังได้ให้กระทรวงมหาดไทยรับ ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำกับดูแลให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นควบคุมการก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งนำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการเกี่ยวกับโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุภายใต้การควบคุมของรัฐที่ปรับปรุงไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย [10]

ข้อมูลจากรายงานพิเศษของ MGR Online ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาระบุว่า โครงการ ‘ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ บางละมุง’ หรือ โครงการการสร้างศูนย์บริบาลผู้สูงอายุได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยอาคารที่พักอาศัยบนที่ดินราชพัสดุ ขนาดพื้นที่ 48 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา จำนวน 14 อาคาร 632 ยูนิต แบ่งเป็น อาคารสูง 4 ชั้น จำนวน 4 อาคาร (ติดริมทะเล) และอาคารสูง 5 ชั้น จำนวน 10 อาคาร ซึ่งทุกอาคารเปิดมุมมอง ไปยังทะเล ดำเนินงานภายใต้คณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 2) คณะทำงานบริหารโครงการศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร 3) คณะทำงานบริหารงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร และ 4) คณะทำงานด้านการตลาดและการขาย

การดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สภากาชาดไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยแผนปฏิบัติงาน ‘โครงการซีเนียร์ (ผู้สูงอายุ) คอมเพล็กซ์ บางละมุง’ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560- ก.พ. 2561 โดยเริ่มดำเนินการในเรื่อง 1) การเสนอเรื่องขอแก้ไขกฎกระทรวงโดยเพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (พื้นที่สีน้ำเงิน) 2) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ (Feasibility Study : FS) 3) การเสนอแผนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) และการออกแบบอาคาร ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และภูมิสถาปัตยกรรม 4) การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 5) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 6) การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กระทรวง พม. โดย ผส. ร่วมกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สภากาชาดไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 7) การขออนุญาต การก่อสร้างกับหน่วยงานท้องถิ่น 8) การจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ 9) การจัดงาน Pre Sale และ 10) การเริ่มก่อสร้างโครงการ

ปัจจุบันโครงการฯ ดังกล่าวมีการทำ MOU กันระหว่าง กรมบัญชีกลางและกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กรมโยธาธิการและ ผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สภากาชาดไทย และบริษัท แอลพีเอ็นดีแวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) [11]

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กพอ. ครั้งที่ 2/61 รับทราบความก้าวหน้าการลงทุนในพื้นที่เขต EEC ครึ่งปีแรก 61 (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 29/8/2561)
[2] ตลาดบ้าน ฉบับที่ 372 สิงหาคม 2561
[3] 3 อันดับธุรกิจยอดนิยมแห่ตั้งบริษัทใหม่บนพื้นที่อีอีซี (Money Channel, 20/8/2561)
[4] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : ธุรกิจโรงแรม (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 14 ส.ค. 2561)
[5] บิ๊กแบรนด์ถล่มอสังหา EEC ผุด 2 แสนยูนิต ราคาเท่า กทม. (ประชาติธุรกิจ, 26/8/2561)
[6] ทุนยักษ์ใหญ่ไทย-นอกบุกตลาด จุดเปลี่ยนอสังหาฯ ไทยครั้งใหญ่ (MGR Online, 8/8/2561)
[7] ธนารักษ์จับมือรามาฯ สร้างซีเนียคอมเพล็กซ์ (กรุงเทพธุรกิจ, 27/1/2560)
[8] ผุด 'เมกะโปรเจกต์' ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ ปูพรมทั่วประเทศ (สยามธุรกิจ, ฉบับวันที่ 30 ก.ย. - 6 ต.ค. 2560)
[9] ธนารักษ์จ่อเปิดประมูลก่อสร้างบ้านผู้สูงอายุ (ไทยโพสต์, 18/8/2561)
[10] ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2555) (มติคณะรัฐมนตรี, 17/7/2561)
[11] ไฟเขียวแก้ผังเมืองรวมแหลมฉบัง รองรับ คอนโดฯผู้สูงอายุ 600 ยูนิต ริมทะเล - “สภาพัฒน์” หวั่นติดท่าเรือขนถ่ายผลิตภัณฑ์ ปตท. ส่อกระทบต่อผู้สูงอายุ/ผู้อยู่อาศัยโดยรอบ (MGR Online, 20/7/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: