เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญความรุนแรงในโรงเรียน ไทยปีละกว่า 600,000 ราย

ทีมข่าว TCIJ: 2 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 8957 ครั้ง

UNICEF ระบุว่านักเรียนอายุ 13-15 ปี ประมาณ 150 ล้านคน เคยเผชิญกับความรุนแรงในโรงเรียน นอกจากนี้เด็กวัยเรียนประมาณ 720 ล้านคนอยู่ในประเทศที่สามารถถูกทำโทษทางร่างกายในโรงเรียนได้ ประเทศที่มีภัยสงครามโรงเรียนก็มักจะโดนลูกหลง ประเทศพัฒนาแล้วเหตุกราดยิงในโรงเรียนเป็นสิ่งน่าตื่นตระหนก แม้จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่มมากขึ้น แต่มีงานวิจัยระบุว่าการติดตั้ง CCTV ในตัวอาคารของโรงเรียนกลับทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนเด็กไทยถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน  ที่มาภาพประกอบ: UdeMNouvelles - Université de Montréal

เมื่อเดือนกันยายน 2018 ‘กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ’ หรือ UNICEF ได้เผยแพร่รายงาน 'An Everyday Lesson #ENDviolence in Schools' ระบุว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยแก่การเรียนรู้และเอื้อต่อเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพทำให้โรงเรียนกลายเป็น ‘พื้นที่อันตราย’ สำหรับเด็กหลายล้านคนทั่วโลก

รายงานของ UNICEF ระบุว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนอายุ 13-15 ปีทั่วโลก หรือประมาณ 150 ล้านคน เคยเผชิญกับความรุนแรงในโรงเรียน นอกจากนี้เด็กวัยเรียนประมาณ 720 ล้านคน อยู่ในประเทศที่พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่จากการลงโทษทางร่างกายในโรงเรียน และกลายเป็นว่าครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเป็นคนสร้างบรรยากาศการเรียนที่เต็มไปด้วยความกลัวเสียเอง

ข้อมูลจาก 25 ประเทศยังชี้ว่า เด็กหญิงร้อยละ 20 และเด็กชายร้อยละ 50 เปิดเผยว่าเคยถูกเด็กนักเรียนคนอื่นทำร้ายร่างกายอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ในกรณีที่รุนแรงที่สุดคือ มีเด็กราว 158 ล้านคนอาศัยในประเทศที่มีปัญหาการสู้รบ สำหรับเด็กเหล่านี้แล้วห้องเรียนไม่มีความปลอดภัยเช่นเดียวชุมชนที่อาศัยอยู่ ในปี 2017 โรงเรียนตกเป็นเป้าโจมตีกว่า 500 ครั้งทั่วโลก การโจมตีโรงเรียนได้รับการบันทึกหรือยืนยันว่าเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 396 ครั้ง ซูดานใต้ 26 ครั้ง ซีเรีย 67 ครั้ง และเยเมน 20 ครั้ง ส่วนมากรุนแรงถึงขั้นมีคนเสียชีวิต ขณะเดียวกันเหตุยิงในโรงเรียน (ที่ไม่ใช่การโจมตีจากภัยสงคราม) ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย. 1991 – พ.ย. 2018 มีเหตุยิงในโรงเรียน 70 ครั้ง ใน 14 ประเทศทั่วโลก

สภาพโรงเรียนแห่งหนึ่งในซูดานใต้ที่ถูกเผาเมื่อปี 2016 ที่มาภาพ: Hakim George/UNICEF

นอกจากนี้ UNICEF ยังระบุว่า การรังแกหรือล้อเลียน (bullying) ในโรงเรียนเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุด โดยมีเด็กนักเรียน 1 ใน 3 เจอกับปัญหานี้ ในประเทศอุตสาหกรรม เด็กนักเรียน 17 ล้านคน อายุ 13-19 ปี ยอมรับว่าเคยรังแกหรือล้อเลียนเด็กคนอื่นที่โรงเรียน โดยเฉพาะบรรดาชนกลุ่มน้อย เด็กที่มีความพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศมีโอกาสสูงกว่าปกติที่จะถูกรังแกหรือล้อเลียน

แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วและมีการเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างในอังกฤษก็ยังพบว่าร้อยละ 30-50 ของนักเรียนที่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันเคยถูกเพื่อนรังแก ส่วนการรังแกและล้อเลียนผ่านทางโลกออนไลน์ (cyberbullying) ซึ่งถือเป็นการจงใจทำร้ายจิตใจคนอื่นผ่านการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย การรังแกแบบนี้อาจทำให้เหยื่อหันไปใช้ยาเสพติด ติดสุรา มีปัญหาการเรียนตามมาหรือบางคนอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ UNICEF ได้ประมาณการค่าเสียหายจากผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและเศรษฐกิจของความรุนแรงในโรงเรียนว่าอยู่ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 231.87 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว [1]

งานวิจัยชี้ติดกล้องวงจรปิด กลับสร้างความหวาดระแวงให้เด็ก

เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายโรงเรียนต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่มมากขึ้น ที่มาภาพประกอบ: Eagan Independent

ในงานวิจัยเรื่อง Surveillance or Safekeeping? How School Security Officer and Camera Presence Influence Students’ Perceptions of Safety, Equity, and Support โดย Sarah Lindstrom Johnson, Jessika H. Bottiani, Tracy E. Waasdorp และ Catherine Bradshaw ที่ได้ทำการสำรวจความเห็นนักเรียน 54,350 คน จากโรงเรียน 98 แห่งในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2014 พบว่า การว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำโรงเรียนและการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ภายนอกตัวอาคารของโรงเรียนช่วยให้เด็กนักเรียนรู้สึกปลอดภัยขึ้น แต่ในทางกลับกันพบว่าการติดตั้งกล้องวงจรปิดในตัวอาคารของโรงเรียนกลับทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย

คณะนักวิจัยระบุว่า มีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยทางอารมณ์ของเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งความพยายามปรับปรุงความปลอดภัยทางกายในโรงเรียนของสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก นอกจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนแล้ว ทีมนักวิจัยยังได้ไปตรวจดูมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ของโรงเรียน โดยได้นับดูจำนวนกล้องทั้งภายในและภายนอกอาคารของโรงเรียน รวมถึงการประจำการของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่โรงเรียนด้วย ทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ยิ่งมีกล้องในโรงเรียนมากขึ้นเท่าใด เด็กนักเรียนยิ่งรู้สึกปลอดภัยน้อยลง เพราะนักเรียนรู้สึกว่ากำลังถูกสอดส่อง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงความรู้สึกของนักเรียนต่อเรื่องนี้ ผู้บริหารของโรงเรียนควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าทำไมต้องติดตั้งกล้องภายในโรงเรียน

อย่างไรก็ตามคณะนักวิจัยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามาตรการเหล่านี้ช่วยป้องกันเหตุการณ์ยิงในโรงเรียน และน่าจะดีกว่าหากโรงเรียนจะนำเงินงบประมาณท้องถิ่นที่ใช้ไปกับมาตรการเหล่านี้ไปใช้กับด้านอื่นๆ ที่ส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ของเด็กนักเรียน เพราะมีหลักฐานสนับสนุนว่าการส่งเสริมความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็กนักเรียน ช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียนลง [2] [3]

กรมสุขภาพจิตระบุเด็กไทยถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน

กรณีเด็กหญิงวัย 8 ขวบถูกเพื่อนรุ่นพี่ในโรงเรียนเดียวกันใน จ.พะเยา รุมกลั่นแกล้งและทำร้ายร่างกาย จนทำให้ต้องย้ายโรงเรียนในที่สุด ที่มาภาพ: เดลินิวส์

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ออกมาเมื่อต้นปี 2561 พบว่า ผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดเมื่อปี 2560 พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน การเก็บข้อมูลพบว่าเด็กกลุ่มที่ครอบครัวใช้ความรุนแรงหรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวชมักเป็นกลุ่มผู้รังแก ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงถูกรังแกสูงก็คือ เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า เด็กพิการ กลุ่มที่เป็นเด็กพิเศษ หรือกลุ่มเพศทางเลือก [4]

UNICEF ประเทศไทยยังระบุเมื่อเดือน ก.ย. 2561 ว่า การสำรวจสุขภาพเด็กนักเรียนในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยกรมอนามัย ในปี 2558 ชี้ให้เห็นว่า เด็กนักเรียนอายุระหว่าง 13-15 ปี ร้อยละ 29 บอกว่าถูกข่มเหงรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมาและร้อยละ 26 ได้มีส่วนในการทะเลาะต่อสู้กันในปีที่ผ่านมา

 “พวกเด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนประมาณหนึ่งในสามของวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ เมื่อเด็กเดินผ่านประตูรั้วโรงเรียนในแต่ละวัน ก็เป็นความรับผิดชอบของเราในการที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัย” นายโธมัส ดาวิน ผู้แทน UNICEF ประเทศไทย กล่าว “แต่น่าเศร้าใจที่เรายังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนอยู่เรื่อยๆ บางครั้งด้วยการกระทำของครูซึ่งเป็นผู้ที่เราหวังว่าจะช่วยปกป้องพวกเด็กๆ ด้วยซ้ำ”

ปัจจุบัน UNICEF ประเทศไทยกำลังทำงานร่วมกับสำนักงานเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและบุคลากรด้านการศึกษาในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาข่มเหงรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน

“เราต้องทำให้แน่ใจว่า ทุกโรงเรียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายคุ้มครองเด็ก ซึ่งหมายถึงการเพิ่มมาตรการที่จะช่วยป้องกันความรุนแรง และดำเนินการตอบสนองอย่างเร่งด่วนหากมีเหตุเกิดขึ้น” นายดาวินกล่าวเพิ่มเติม “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง ช่วยกันท้าทายวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนและในชุมชน ทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานของพวกเรา” [5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] UN: Half of Young Teenagers Face Violence or Bullying in School (VOA, 18/9/2018)
[2] Some school security measures make kids feel less safe (Reuters, 28/9/2018)
[3] Surveillance or Safekeeping? How School Security Officer and Camera Presence Influence Students’ Perceptions of Safety, Equity, and Support (ResearchGate, September 2018)
[4] กรณีรังแกเด็ก 8 ขวบ : ไทยมีการรังแกกันในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก (BBC Thai, 12/10/2018)
[5] ครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงภายในรั้วโรงเรียนและรอบๆ (UNICEF ประเทศไทย, 13/9/2018)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การห้ามการลงโทษเด็กทางร่างกายและจิตใจทุกรูปแบบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: