Coal: The dirty business @ WTF Gallery & Café (ย่านทองหล่อ)
ภาพถ่ายโดย: Wanit Nantasuk
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีข่าวคราวการรุกรื้อ ไล่ที่ ผู้คนออกจากผืนดินทำกินเดิม ทั้งเรื่องของ ปู่คออี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินอำเภอเทพา การจับจองที่ดินทำกินของผู้คนบนม่านหมอกสูงชัน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการรุกล้ำวิถีชีวิต-วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ รวมถึงข่าวคราวการปลูกสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ กรณีทั้งหลายที่กล่าวมานั้นยังมีนัยยะทางการเมืองแฝงเร้นอยู่ด้วย อาทิการจัดระเบียบชุมชนบนเขา สิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในที่นี้จะกล่าวถึงการรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการหาของป่าบนผืนแผ่นดินเดียวกับบรรพบุรุษเคยพึ่งพิง การออกเรือหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ แน่นอนว่ารวมถึงความเชื่อหลากหลายอย่างที่มีต่อพื้นที่นั้นๆ ในอย่างสุดท้ายนี้จะเห็นได้ชัดในกรณีของหมู่บ้านป่าแหว่ง ที่รัฐบาลเหยียบย่ำความรู้สึกของชาวเชียงใหม่ และอาจเรียกว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของครูบาศรีวิชัยและวิถีธรรมชาติที่ชาวเชียงใหม่เคารพ รัก ทั้งที่พื้นที่นั้นชาวเชียงใหม่ก็มิได้ให้ความสำคัญมากนักตั้งแต่แรก แต่ก็กลับปกป้องไว้ราวกับเป็นบ้านของตน (ไม่แม้แต่เปิดโอกาสให้ผู้คนตามที่สูงชันได้ดำเนินวิถีชีวิตในป่าแห่งนี้ด้วยซ้ำไป)
กระแสงานศิลปะและสิ่งแวดล้อมถูกพัดพามาจากทวีปตะวันตกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 จนสายธารดั่งกล่าวจึงเกยฝั่งสู่ดินแดนประเทศอู่ข้าวนี้ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงปัญหามลพิษเสียง อากาศ ขยะ ความแห้งแล้งของผืนดินทางอีสานทิศ ความสกปรกของสายธารน้ำ และแน่นอนว่าโฟกัสกันแต่เพียงพื้นที่ในเมืองกรุงเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงการนำเสนอต่อเฉพาะกลุ่มชาวกรุงด้วย แต่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมิได้จำกันวงอยู่เพียงแต่อาณาบริเวณของเมืองหลวงหรือในห้อง white cube ตามหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ผลลัพธ์ของการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก แนวคิดศิลปะและสิ่งแวดล้อมผ่านผลงานสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวมา ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในเมืองหลวงซึ่งเป็นที่ฟูมฟักปัญหาอันป่วยไข้ที่ยังคั่งค้าง มิได้ช่วยให้เกิดประโยชน์โภชผลอันใดมากไปกว่าเสียงปรบมือแซ่ซ้องยินดี หรือเม็ดเงินจากธุรกิจศิลปะที่เติบโตขึ้น นี่ก็เป็นกรณีที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การนำผลงานสร้างสรรค์แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาจัดแสดงในพื้นที่ปิดอย่าง Gallery, Museum มิได้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวมากเท่าที่ควร
กลุ่มศิลปินที่จัดการแสดงผลงานสร้างสรรค์ในนิทรรศการ “โลกไร้ถ่านหิน” ได้ตระหนักถึงผลกระทบและภัยร้ายแอบแฝงที่มาพร้อมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งด้วย นอกจากนั้นโรงฟ้าพลังถ่านหินยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมืองและโรงไฟฟ้า ทั้งดิน น้ำ และอากาศที่อยู่ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินต่างก็จะได้รับมลพิษปนเปื้อน อีกทั้งยังปลดปล่อยสารพิษมหาศาลไปในรัศมีไกล ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าต่างได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งทางสุขภาพและวิถี-ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมคือการที่ทำให้ วิถีชีวิต-วัฒนธรรม ของผู้คนในพื้นที่ก็อาจถูกกลืนกิน-ทำลาย และอาจเลือนหายไปในอนาคต เหตุนั้นพวกเขาจึงออกมาเล่าเรื่องราวอันเป็นสิ่งที่น้อยคนจะใส่ใจ ซึ่งเราทุกคนต่างก็หวงแหนวัฒนธรรมของตนกันทุกผู้-นาม กลุ่มศิลปินทั้งสิ้น 7 คน โดยประกอบด้วย จิตติมา ผลเสวก, สมพงษ์ ทวี, ชิตะวา มุนินโท, สาธิต รักษาศรี, วิชชุกร ตั้งไพบูลย์, วิชัย จันทวาโร, จุมพล อภิสุข จะเห็นได้ว่าคือกลุ่มศิลปินที่เป็นผู้บุกเบิกและคลุกคลีในแนวทางของศิลปะการแสดงสดในบ้านเมืองนี้ นอกจากการแสดงผลงานศิลปะจัดวางแล้ว ในวันเปิดการแสดงงานยังสามารถรับชมศิลปะการแสดงสดที่พวกเขาช่ำชอง ผลงานทั้งหลายแหล่ที่มีให้ได้รับชมกัน ณ ทองหล่อนั้น เป็นผลสะท้อนที่ออกมาจากอารมณ์ ความรู้สึกที่ได้ไปสัมผัสผู้คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (หากมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน) โดยกลุ่มศิลปินได้ทำการสืบค้น ลงพื้นที่ พบปะผู้คนอย่างมากหน้าหลายตา รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธ์อูลารักโว้ย ประเด็นเหมืองถ่านหินนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นจากการได้รับข่าวคราวของการชุมนุมประท้วงของผู้คนในชุมชนที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าเนื่องจากก่อทั้งมลพิษ และต้องอพยพย้ายถิ่นพำนักเดิมของตนไปมากกว่า 20,000 ครัวเรือน ในระยะ 5 กิโลเมตรจากตัวโรงงานไฟฟ้า ยังรวมไปถึงปัญหาการจอดเรือที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพหลักของคนในพื้นที่ แน่นอนว่ามีทั้งผู้ที่คัดค้านและผู้ที่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าภูมิภาคตอนใต้ของประเทศไทยนั้นเกิดไฟดับบ่อยครั้ง และมีพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานของผู้คนในภูมิภาคดังกล่าว
นิทรรศการ โลกไร้ถ่านหิน ณ WTF Gallery & Café นั้นเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่มีทั้งผลงานหลากหลายรูปแบบ ศิลปะการจัดวาง (Installation art), วีดีโอบันทึกศิลปะการแสดงสด (Video Performance), บทกวี (Poem), วีดีโออาร์ต (Video Art) ยังมีศิลปะการแสดงสด (Performance) และเวทีเสวนาในหัวข้อเหมืองถ่านหินในวันเปิดนิทรรศการอีกด้วย สามารถพบงานศิลปะการจัดวางได้ตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าขึ้นสู่บันไดขั้นแรกเลยทีเดียว
โดยชิ้นแรกที่พบนั้นเป็นผลงานของ ชิตะวา มุนินโท ที่ได้นำวัสดุตั้งแต่ปลาแห้ง ถุงพลาสติก รองเท้า ก้อนกรวด ขวดเหล้า ซึ่งถูกโยงใยด้วยสายยางจากหน้ากากสำหรับช่วยหายใจ เปรียบดั่งลมหายใจของคนในพื้นที่ที่อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในทุกแง่มุม ตั้งแต่การได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ไปจนถึงการทำนายผลลัพธ์ของการก่อตั้งโรงงานไฟฟ้าเหมืองถ่านหิน มีทั้งการเปรียบแทนแหของชาวเรือเป็นดั่งการกักกุมวิถีชีวิตของผู้คน, ผลงานที่สื่อถึงการถูกแขวนคอและความตาย, เหล่าสัตว์น้ำที่ป่วยไข้ ในช่วงของศิลปะการแสดงสด ศิลปินได้นำข้าวสารมาสาด ปาทั้งตนเองและผลงานอย่างรุนแรง ฉับพลัน รวมถึงการกู่ร้องนอนเล่นดนตรีที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกของศิลปินอย่างโศกเศร้า เลื่อนไหลไปตามพื้นทางเดินของห้องจัดแสดงงานตามแบบฉบับของเขาเองอีกด้วย
ถัดมาจากผลงานศิลปะจัดวางตรงขั้นบันไดแล้ว จะได้พบกับผลงานสร้างสรรค์ของ สมพงษ์ ทวี ซึ่งเป็นบทกวี โดยทำการเขียนบทกวีให้เป็นดั่งผลงานภาพวาดและนำกระจกไปติดตั้งไว้ นอกจากที่ผู้ชมจะได้อ่านบทกวีแล้วยังได้สำรวจตนเองผ่านการจดจ้องอยู่กับกระจกที่เขาเตรียมไว้ และการแสดงสดของเขาในครั้งนี้ยังเป็นการร่ายบทกวีแห่งความรมทมใจ ระคนไปกับเสียงสะอึกสะอื้นและเสียงกู่ก้องโกรธาอย่างเกรี้ยวกราด หนักหน่วงตลอดช่วงเวลาการแสดงสด
ในชั้นเดียวกันนั้นเองยังมีผลงานของ จิตติมา ผลเสวก ที่นำเสาธงเรือหลากสีมาติดตั้งไว้เป็นทรงสามเหลี่ยมซึ่งธงหลายสีนั้นอาจเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ที่นำอยู่ปลายยอด ส่วนเสาที่เหลือนั้นเป็นธงสีดำ อาจสื่อถึงความตายของอาชีพการประมงที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตคนในพื้นที่และกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งมีความยากลำบากในการจอดเรือที่ท่าเทียบแต่เดิม เนื่องจากมีเรือยักษ์มาเบียดบังกลุ่มเรือของชาวประมงท้องถิ่น (เรือใหญ่นั้นจะทำการบรรทุกถ่านหินอีกสองชนิดเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการเผาถ่านหินต่ออีกทีหนึ่ง-ซึ่งสั่งมาจากประเทศในเขตภูมิภาคเอเชีย) รวมไปถึงการหลุดลอดของคราบน้ำมันจากการจอดเรือใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับเหล่าสัตว์น้ำ ก็จะเป็นผลต่อเนื่องทำให้จำนวนสัตว์น้ำนั้นลดลง จนอาจเป็นผลให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีวีดีโอศิลปะการแสดงสดของศิลปินฉายอยู่ที่ผนังห้องอีกชิ้นหนึ่ง
เมื่อขึ้นมาถึงชั้นที่ 2 ของห้องจัดแสดงผลงานศิลปะแล้ว จะได้สัมผัสกับการรับรู้ทางกลิ่นที่แพร่กระจายไปทั่วห้อง จะด้วยเหงื่อของศิลปินเองหรือกลิ่นที่ติดมากับวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานก็มิทราบแน่ชัด แต่ที่แน่ๆมีกลิ่นบางอย่างที่ทำให้รู้สึกถึงการใช้แรงงานคลุ้งไปทั่วห้อง เมื่อขึ้นมาแล้วจะได้พบกับผลงานของวิชัย จันทรวาโร ที่นำถ่านหินสีดำด้านมาวัด-ชั่ง-ตวงกับผลผลิตทางการเกษตร แม้จะมีการชี้นำในด้านการประเมินคุณค่า แต่จนแล้วก็มิได้จำกัดการให้ความหมายว่าสิ่งใดนั้นมีค่ามากกว่ากัน โดยตาชั่งมิได้มีการโอนเอนไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ละตราชั่งมีการโอนเอนไปไม่เท่ากัน และศิลปินยังได้นำเรื่องราวที่ตนประสบพบเจอจากการลงพื้นที่มาบอกเล่าให้ผู้เข้าชมงานได้สดับรับฟังผ่านวิธีการของศิลปะการแสดงสด (Performance art) ด้วย
ในห้องเดียวกันนั้นเองมีผลงานสาธิต รักษาศรี นอกจากผลงานวีดีโอที่บันทึกการแสดงสดของศิลปินในช่วงเวลาที่ฝนเทกระหน่ำมาให้เสพชมกันแล้ว ยังมีผลงานศิลปะการจัดวางที่นำผ้าบางมาขึงไว้ ตรงกลางนั้นเป็นร่างเงาของบุคคลที่ใส่ผ้าคลุมคล้ายการสยายปีกแต่มิได้โผบิน เป็นความกำกวนที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับแสงไฟที่สาดส่องผ่านผ้านั้นอย่างเลือนราง ในช่วงของศิลปะการแสดงสดนั้น ศิลปินได้ทำการเพ่งมองไปยังดวงไฟเทียนไข ทำให้มิอาจเดินไปด้วยความรวดเร็ว เป็นดั่งแสงแห่งความหวังที่จะดับเมื่อไหร่ก็มิอาจทราบได้ โดยศิลปินได้ทำการเปรียบเทียบกับการใช้เทคโนโลยีของไฟฟ้าผ่านการใช้กระบอกไฟฉาย เปิดปิดด้วยความรวดเร็ว ฉับพลัน สาดล่องไปยังผลงานและเครื่องโทรทัศน์ที่แสดงผลงานวีดีโอ เพื่อนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายทางความหมายของพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
มาถึงผลงานสร้างสรรค์ชุดสุดท้ายที่จะแสดงยังบริเวณชั้น 2 เป็นผลงานของ วิชชุกร ตั้งไพบูลย์ ที่อยู่ในรูปแบบของวีดีโออาร์ต และยังมีการแขวนผลงานในรูปแบบของศิลปะจัดวาง นำเสนอเรื่องราวการเดินทางของเหมืองถ่านหิน และการชุมนุมคัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้า โดยพูดถึงการเดินทางเริ่มจากที่ จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่ ข้ามน้ำข้ามทะเล ท้องฟ้าจนมาบรรจบยังจุดเดิม ซึ่งอาจสื่อได้ถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ที่ประเทศไทยเองยังไม่สามารถหลุดออกไปจากวงเวียนของความเป็นเหมืองถ่านหินได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนอย่างจริงแท้ โดยศิลปินได้เสนอประโยคที่ว่า เมื่อผู้คนรวมพลังออกมาประท้วงรัฐบาล นั่นหมายความว่าประเทศกำลังมีปัญหาบางอย่าง ที่รัฐไม่ยอมที่จะรับฟังและแก้ไข ผลงานชุดนี้จึงเป็นเสมือนดั่งการตะแบงเสียงให้กับผู้คนที่แหกปากกันจนคอแทบแตกกันไปหมดแล้ว ก็ยังไม่มีผู้ใดมาเหลียวแล
จุดประสงค์ของการแสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์ และเวทีเสวนาในครั้งนี้มิได้มีเป้าหมายเป็นแรงสนับสนุนแก่ผู้ที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการนำเสนอแง่มุมที่เป็นผลกระทบต่อผู้คนในชุมชนและกลุ่มชาติพันธ์อูรักลาโว้ยแห่งเกาะลันตา รวมถึงเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ทั้งสองแง่มุมอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา เป็นธรรมให้ผู้คนในพื้นที่และอาจรวมถึงผู้ที่สนใจในเมืองกรุงนี้ได้รับทราบ เพื่อที่จะสามารถเป็นหนทางให้ผู้คนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ณ จังหวัดกระบี่ได้เลือกสิ่งที่ตนต้องการและสิ่งที่ตนไม่ต้องการได้อย่างแน่วแน่ มั่นใจ
เมื่อเสพชมผลงานศิลปะอันหลากหลายรูปแบบแล้ว ผู้ชมจะได้รับผลพวงทางอารมณ์ของศิลปินทั้ง 7 ซึ่งหากตีความจากผลงานในภาพรวมแล้วย่อมสามารถตีความว่าเป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน แน่นอนว่าผลงานศิลปะทั้งหลายแหล่ที่จัดแสดงทั่วๆไปนั้นล้วนเป็นชุดข้อมูลที่เป็นดั่งการชี้นำในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจาก concept ของนิทรรศการก็สอดคล้องไปกับการทำงานอันสอดประสานกันระหว่างผลงานศิลปะจัดวางและศิลปะการแสดงสด เพียงแต่ว่าพื้นที่ทองหล่อนั้นมิได้มีไฟดับ และตัวเมืองกรุงเทพที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ก็ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าว (ยกเว้นก็แต่ เมื่อไม่นานมานี้ที่มีเหตุการณ์จากโรงไฟฟ้าที่ลาวมีปัญหา จึงทำให้เกิดไฟฟ้าดับทั่วกรุงเป็นเวลากว่า 30 นาที) ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่ากลุ่มศิลปินควรจะจัดแสดงผลงานทั้งหมดทั้งมวลในพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าจะจัดตั้งอยู่ในใจกลางเมืองที่ไม่ได้มีการประสบปัญหาดังที่ว่ามา นั่นยังไม่รวมถึงเรื่องที่ว่า ศิลปะการแสดงสดควรอยู่ที่สาธารณะมากกว่าการแสดงในห้องสีเหลี่ยมสีขาว
นอกเหนือจากเรื่องของพื้นที่แล้วนั้น ผู้เขียนคิดเห็นว่า งานแสดงนิทรรศการกลับมิสามารถเสนอแนวทางเลือกของพลังงานอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่ต้นทุนต่ำ (แม้จะไม่เสถียรแต่ก็ไม่ต้องแลกด้วยวีถีชีวิต-วัฒนธรรมที่จะต้องสูญหายไป) มีเพียงความหมายของโลกไร้ถ่านหินเท่านั้นที่ยังคงชัดแจ้งซะยิ่งกว่าพลังงานไฟฟ้าที่ไหลเวียนอยู่ในประเทศอู่ข้าวนี้ ความหมายเหล่านั้นก็ยังปฏิบัติหน้าที่ของมันอยู่ในผลงานศิลปะแต่ละชิ้นในนิทรรศการครั้งนี้ งานเสวนาก็มิได้น้อยหน้าไปกว่าการแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งมิได้มีช่วงที่ถาม-ตอบอย่างจริงจัง นั่นทำให้ควรเรียกว่า แถลงการณ์มากกว่าที่จะเรียกว่าการเสวนาที่ทำให้ผู้คนที่เข้าร่วมมีการปฏิสัมพันธ์ แม้ว่าในขณะนั้นเองผู้ถามท่านหนึ่ง (แม้จะเป็นการป่วนหรือไม่ก็ตาม เมื่ออยู่ในพื้นที่ของการเสวนาแล้วก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อถึงเวลา เช่นช่วงถาม-ตอบ) จะมิได้เห็นด้วยกับการที่โลกจะไร้ถ่านหิน แต่ก็มิได้หมายความว่าเขาผู้นั้นไม่ได้มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเพราะเนื่องจากเป็นเวทีเสวนา การณ์นั้นเองจึงอาจเห็นเป็นได้ว่าความหมายทางอารมณ์อาจมีคุณค่ามากกว่าเหตุผลในนิทรรศการนี้ อย่างไรก็แล้วแต่ ผู้เขียนยังคงคิดว่าผลงานนิทรรศการนี้เป็นผลลัพธ์จากทำงานหนักของกลุ่มศิลปิน และเป็นเรื่องน่าสนที่จะนำเอาศิลปะมาเล่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพียงแต่อาจผิดสถานที่เท่านั้นเอง.
ข้อมูลประกอบการเขียน
บทภาษณ์จาก Coal: The dirty business. WTF Gallery & Café
News.thaipbs.or.th/content/265949
En.wikipedia.org/wiki/Environmental_art
meetthinks.com/14944-2
greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52033
greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/coal
thaipost.net/main/detail/10476
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ