กรมสุขภาพจิตย้ำเตือนผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ อย่าหยุดยาเองเด็ดขาด เสี่ยงอาการกลับเป็นซ้ำรุนแรงขึ้น ทั่วโลกเป็นโรคนี้ประมาณ 60 ล้านคน ปี 2560 มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ทั้งสิ้น 9,452 คน อาการไม่รุนแรงมากรับการบำบัดรักษาตามแพทย์นัดจำนวน 9,029 คน และผู้ป่วยอาการก้าวร้าวรุนแรง มีอาการทางจิตรบกวนคนในครอบครัวและญาติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล 423 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท ที่มาภาพประกอบ: flickr.com/Bill Strain (CC BY 2.0)
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 ว่านาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เนื่องในวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Disorder Day) เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจโรคและผู้ป่วย โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งผู้หญิงผู้ชาย ในอัตราเท่ากัน ๆ ประมาณร้อยละ 1-2 และอาจสูงถึงร้อยละ 5 ของประชากร ประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ 60 ล้านคน สร้างความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศในปี พ.ศ.2560 จำนวน 31,521 คน โรคนี้เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การสังเกตอาการจากผู้ใกล้ชิดจึงเป็นวิธีการที่จะทำให้รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้แม่นยำและดีที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า โรคนี้มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตทั้งการใช้สารเสพติด ภาวะเครียด หรือโรควิตกกังวล ประการสำคัญพบว่าโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน จึงขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคนี้ โดยหมั่นสังเกตลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองหรือคนใกล้ชิด หากพบมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือหลังมือ คือ มีอารมณ์ดี ตื่นตัวมากจนผิดปกติ สลับกับมีภาวะซึมเศร้า ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับวิธีการรักษาที่ได้ผลที่สุดจะใช้ยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น รวมทั้งให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา พบว่าได้ผลดี แต่ที่ผ่านมามักพบปัญหาผู้ป่วยหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าตนเองหายแล้ว ทำให้กินยาไม่ต่อเนื่อง เกิดความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นโรคซ้ำ มีอาการรุนแรงกว่าเดิม ประสิทธิภาพการเรียน การทำงานแย่ลง มีปัญหาการติดสุราหรือยาเสพติด อาจมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ จึงขอเน้นย้ำผู้ป่วยไบโพลาร์ แม้อาการดีขึ้นแล้วจะต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง ห้ามใช้สารเสพติดทุกชนิด เพื่อให้สภาวะอารมณ์คงที่
นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญากล่าวว่าโรคไบโพลาร์เกิดมากจากหลายปัจจัย และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 18, 21, 22 เด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคได้สูงกว่าคนทั่วไปไปสูงถึง 4 เท่าตัว นอกจากนี้ยังเกิดมาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความเครียดต่างๆ การใช้สารเสพติด ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติอารมณ์อย่างชัดเจน 2 แบบ คือ แบบอารมณ์ซึมเศร้า (Depressive stage) และแบบอารมณ์คลุ้มคลั่ง หรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน (Mania) ในช่วงอารมณ์ซึมเศร้าผู้ป่วยจะเศร้าซึม หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร เชื่องช้า ลังเล คิดช้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก มีกำลังวังชา ขยันกว่าปกติ แต่ทำได้ไม่ดี นอนน้อยลง พูดคุยมาก พูดเร็ว มีกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเปลือง เชื่อมั่นตนเองมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิดฉุนเฉียว อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรอบข้างสังเกตเห็นได้ และช่วยกันให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ทั้งสิ้น 9,452 คน แยกเป็นผู้ป่วยนอก คือ อาการไม่รุนแรงมาก รับการบำบัดรักษาตามแพทย์นัดจำนวน 9,029 คน และผู้ป่วยอาการก้าวร้าวรุนแรง มีอาการทางจิตรบกวนคนในครอบครัวและญาติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล จำนวน 423 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท
อนึ่ง ในวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญกับโรคนี้ ในขณะที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศกว่า 30,000 คน พบปัญหาผู้ป่วยมักหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นโรคซ้ำ อาการรุนแรงและหนักไปกว่าเดิม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ