ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2018) ผ่านช่องทาง Facebook เพจ “Energy Empowerment” ก่อนที่จะมีการเปิดประชาพิจารณ์ในเดือน มิ.ย. 2561 นี้
Energy News Center รายงานถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ที่จะเปลี่ยนมาเป็น PDP2018 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป และสะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติรับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนPDP2018 ไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 ที่ผ่านมานั้น ทางผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) นายทวารัฐ สูตะบุตร ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ PDP2018 ก็ได้แจ้งเชิญชวนให้ประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนผ่านช่องทาง Facebook เพจ “Energy Empowerment” เป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นกต่อสาธารณะในเดือน มิ.ย. 2561 นี้
ทั้งนี้ในหลักการสำคัญของ PDP2018 ที่ กพช.มีมติรับทราบไปนั้นจะเน้นใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า รายพื้นที่ โดยคำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมืองในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง (Fuel Diversification) และมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤตด้านพลังงาน มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG) และรองรับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน มีเพียงพอรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจนถึงปี 2566 ซึ่งจะมีการวางแผนเพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในแต่ละภาคไปพร้อม ๆ กัน
2. ด้านเศรษฐกิจ (Economy) จะคำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า มีการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตาม Merit Order และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในปลายแผนไม่เกิน 0.319 kgCO2/kWh ส่งเสริมระบบไฟฟ้าแบบไมโครกริด (Micro Grid) ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) จะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า และการลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ