ผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบแนวโน้มการสูบบุหรี่คนไทยลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ร้อยละ 19.1 หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.9 ที่มาภาพประกอบ: sipa (CC0)
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2561 ที่ สวนป่าเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมวิ่งเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. 2561 งาน “NoNo Fun Run 2018: My Heart is Running not Smoking" จัดโดยเครือข่ายทันตแพทย์ไทยต้านภัยยาสูบ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย และ สสส. เพื่อปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบของยาสูบต่อหัวใจและร่างกาย สร้างค่านิยมให้เยาวชน ให้หันมาวิ่งออกกำลังกาย ที่ช่วยให้มีสุขภาพดี และช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ด้วย โดยมีนักวิ่งจากภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ทันตแพทย์ นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ กลุ่มผู้สูบที่เลิกสูบบุหรี่ และประชาชนทั่วไปกว่า 500 คน
โดย ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่าวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ประกาศคำขวัญว่า “Tobacco Break Hearts: Choice Health not Tobacco” หรือ “บุหรี่ร้ายทำลายหัวใจ” ที่ผ่านมาประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ในแง่ของการก่อให้เกิดมะเร็ง แต่บุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคเรื้อรังไม่ต่ำกว่า 25 โรค รวมถึงโรคหัวใจด้วย ทั่วโลกมีคนตายจากโรคหัวใจประมาณ 9 ล้านคน พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากบุหรี่ 1.7 ล้านคน ขณะที่คนไทย 1.5 ล้านคนป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เสียชีวิตจากหัวใจวายในช่วงอายุ 50-60 ปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ บุหรี่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบเกิดภาวะหัวใจวาย หากเจ็บหน้าอกต่อเนื่องนาน 5-30 นาที ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่ต้องไปพบแพทย์ตรวจหาอาการผิดปกติทันที จึงจำเป็นต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ในแง่ของการทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยจากผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่คนไทยลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.9 โดยเป็นผู้สูบประจำ ร้อยละ 16.8 หรือ 9.4 ล้านคน ทั้งนี้ เพศชายสูบบุหรี่ลดลงมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายลดเหลือ ร้อยละ 37.7 จากเดิม ร้อยละ 39.3 เพศหญิงลดลงเหลือ ร้อยละ 1.7 จากเดิม ร้อยละ 1.8 ขณะที่อายุที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี จากเดิม 17.8 ปี ผลสำรวจสะท้อนถึงแนวทางการทำงานควบคุมยาสูบจากหลายภาคส่วน รวมทั้ง สสส. ได้เดินมาถูกทาง โดย สสส. จะเร่งดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนให้เลิกสูบบุหรี่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ