ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำของไทยกว่า 20 องค์กร จับมือเพื่อหยุดวิกฤตขยะในท้องทะเลไทย พัฒนาโครงการ Sustainable Ocean Ambassador เพื่อสื่อสารการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 12 (SDG 12) ผลิตบริโภคอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 14 (SDG 14) การใช้ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์การสหประชาชาติ (UNESCAP) หลังพบขยะพลาสติกในท้องทะเลไทย มีปริมาณมากกว่า 11.47 ล้านตัน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือ Sustainable Ocean Ambassador และการเสวนาหัวข้อ หนทางอนุรักษ์ทะเลไทย ให้พ้นวิกฤต "ขยะ" เพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน Up-Cycling and Circular Economy
นายไมเคิล บอทท์ ผู้แทนด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม คณะกรรมธิการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ (UN ESCAP) กล่าวว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 12) ผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14) การใช้ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมกับอีก 193 ประเทศทั่วโลก มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีพรมแดนติดกับ 2 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีปริมาณพลาสติก น้ำเสีย และขยะในรูปแบบอื่นๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลกและมีส่วนก่อให้เกิดขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุดของโลก จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษของไทย เผยว่าในปี 2560 มีขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มากถึง 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกประมาณ 340,000 ตัน โดยร้อยละ 10-15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศและระดับของการพัฒนาประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณพลาสติกเพิ่มขึ้น เกิดจากคนไทย ใช้ถุงพลาสติกโดยเฉลี่ยจำนวน 8 ใบต่อวันต่อคน ส่วนใหญ่มาจากการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งผู้จำหน่ายอาหารริมถนน พลาสติกเหล่านี้มีโอกาสที่จะไหลลงสู่ท้องทะเลได้ สำหรับโครงการ Sustainable Ocean Ambassador ในครั้งนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ ที่จะช่วยตรวจสอบย้อนกลับขยะในทะเล จัดทำบันทึก และเก็บกู้ เพื่อพัฒนาแนวทาง ลดปริมาณขยะในท้องทะเลไทย อย่างยั่งยืน จากความตั้งใจ และมุ่งมั่นของผู้ประกอบการเอกชนไทย และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (SDG 8.9)
นายนิวัช รุ่งเรืองกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม Skin Dive Thailand และผู้บริหาร บริษัท ไดฟ์ ดี ดี จำกัด กล่าวว่า สัตว์ทะเลเริ่มเสียชีวิตจากการกินซากถุงพลาสติกมากขึ้นปีละกว่า 100 ตัว โดยเฉพาะลูกโลมา เต่าทะเล วาฬ และพยูน รวมถึงมีสัตว์ทะเลที่อยู่ในกลุ่มอาหารของมนุษย์ก็มีโอกาสบริโภคขยะเหล่านี้เช่นกัน ส่งผลให้ปัญหาที่ตามมา คือ ไมโครพลาสติกที่แตกตัวลงสู่ทะเลและสัตว์ทะเล นำเข้ามาสู่ร่างกายมนุษย์ ผ่านการบริโภคสัตว์ทะเล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดำน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่า 20 องค์กร อาทิ Skin dive Thailand, Diving diary, Sailing Yacht Pattaya and Phuket, DiveDD, Skin dive Ching Mai, Just, A Simple dive, Sea lion SCUBA diving, Aquatic Bare, Do did dive, Koh Talu island resort, Skin dive Hua Hin, BBK Dive Sattahip, Skin dive Sattahip, Amara Water Sport ฯลฯ ได้พัฒนาความร่วมมือโครงการ Sustainable Ocean Ambassador ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทาง และสื่อกลางในการสื่อสารการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้แก่คนไทยทั้งประเทศได้รับทราบ และมีจิตสำนึกร่วมกัน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรความยั่งยืนของมหาสมุทร โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือภาคประชาสังคม และเครือข่ายธุรกิจ สามารถเข้าร่วมเป็นทูตแห่งท้องทะเลได้ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการอบรมการดำน้ำในระยะเวลา 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอบรมในสระ 2 วัน และฝึกทักษะในทะเล 1 วัน และร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นเพื่อเป็นการสื่อสารการอนุรักษ์ท้องทะเล อาทิ กิจกรรม Trash to Treasure, Ocean Waste Mapping การสำรวจขยะที่พบในชายหาดและในทะเล เพื่อรายงานการพบเข้ามาใน Social Media, กิจกรรมคัดแยก แปรรูป เพื่อสร้าง มูลค่า และกิจกรรมสื่อสารการจัดการขยะ และมลพิษในทะเลสู่สาธารณชนในช่องทางต่างๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Sustainable Ocean Ambassador สามารถดูรายละเอียดได้ที่เฟสบุ๊ค sustainable ocean ambassador soa
นอกจากนี้ยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ "หนทางอนุรักษ์ทะเลไทย ให้พ้นวิกฤต "ขยะ" อย่างยั่งยืน" เพื่อเป็นการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางการลดปริมาณขยะในท้องทะเล โดยได้รับเกียรติจากนายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขานุการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และนายอนุชัย สุขขารมย์ ศูนย์อนุรักษ์พิทักษ์ทะเลสัตหีบ เข้าร่วมการเสนวนาในครั้งนี้ด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ