ทั่วโลกถูกงูพิษกัดตาย 1.38 แสนคนต่อปี ไทยซุ่มพัฒนาแยกเพศงูเพื่อการค้า

ทีมข่าว TCIJ : 3 มิ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 11807 ครั้ง

ในแต่ละปีคนทั่วโลกถูกงูพิษกัด 2.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละประมาณ 81,000-138,000 ราย ประเทศยากจนขาดแคลนเซรุ่มหลังบริษัทใหญ่เลิกผลิต ส่วนไทยถูกงูกัด 7.9 ต่อแสนประชากรต่อปี นักวิจัยไทยศึกษากลไกของร่างกายในการจัดการพิษงูแมวเซา หวังพัฒนาเซรุ่มเฉพาะชนิดให้สามารถรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูข้ามสายพันธุ์กัด รวมถึงพัฒนาเครื่องหมาย DNA แยกเพศของงูเพื่อเพาะเลี้ยงงูทางการค้า เตรียมจดสิทธิบัตรและชงแก้กฎหมายส่งออกต่อรัฐบาล ที่มาภาพประกอบ: WHO

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประมาณการว่าในแต่ละปีประชากรทั่วโลกถูกงูกัดประมาณ 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ถูกงูพิษกัดประมาณ 2.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 81,000-138,000 รายต่อปี รวมทั้งมีผู้พิการจำนวนไม่น้อยเนื่องจากต้องถูกตัดอวัยวะในระหว่างการรักษาอีกด้วย คนที่ถูกงูพิษกัดส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ในเอเชียเฉลี่ยแล้วมีผู้ถูกงูพิษกัดประมาณ 2 ล้านรายต่อปี ในแอฟริกามีประมาณ 435,000-580,000 รายที่ถูกงูพิษกัดและควรต้องได้รับการรักษา ภัยจากงูพิษกัดส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก ผู้หญิง และเกษตรกรในชุมชนชนบทที่ยากจนในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ภาระสูงสุดเกิดขึ้นในประเทศที่มีโครงสร้างระบบบริการสาธารณสุขอ่อนแอ เพราะขาดแคลนทั้งทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ จนถึงปัจจุบัน (ณ ก.พ. 2018) องค์การอนามัยโลกระบุว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังพบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนเซรุ่มรักษาพิษงูอีกด้วย [1]

ในปี 2015 องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontieres หรือ MSF) เปิดเผยว่าหลายประเทศในพื้นที่แถบทะเลทรายซาฮาร่าของแอฟริกากำลังขาดแคลนเซรุ่ม Fav-Afrique ซึ่งเป็นเซรุ่มสำคัญที่แก้พิษงูที่พบในพื้นที่ได้ถึง 10 ชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ การขาดแคลนเซรุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากบริษัทซาโนฟี่ ปาสเตอร์ (Sanofi Pasteur) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของโลกเลิกผลิตเซรุ่มชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2014 โดยเซรุ่มชุดสุดท้ายที่มีในคลังหมดไปในราวเดือน มิ.ย.2016 และยังไม่สามารถหาเซรุ่มชนิดอื่นที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาเท่าเทียมกันมาทดแทนได้ เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากการขาดแคลนเซรุ่มดังกล่าวอีกหลายหมื่นคน [2]

ไทยถูกงูพิษกัดปีละ 7.9 ต่อแสนประชากร ไม่ขาดแคลนเซรุ่มเพราะผลิตได้

การรีดพิษงู ที่มาภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

‘อัตราความชุกของการถูกงูพิษกัด’ ในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ เดือน มี.ค. 2560 อ้างตามรายงานระบาดวิทยา กรมความคุมโรค ระบุว่ามีอัตราปีละ 7.9 ต่อแสนประชากร [3] ลดลงจากปี 2549 ที่อัตรา 13.25 ต่อแสนประชากร โดยระหว่างปี 2549-2558 นั้น มีผู้ถูกงูพิษกัดเฉลี่ยปีละ 6,155 ราย และเมื่อพิจารณาสถิติปี 2558 พบรูปแบบการถูกงูพิษกัดของคนไทยส่วนใหญ่ว่าจะถูกกัดในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาว (ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรรม) โดยพบสูงสุดในเดือน ต.ค. ตามมาด้วย พ.ย. และ ธ.ค. กลุ่มอายุที่ถูกงูพิษกัดมากที่สุดอยู่ระหว่าง 55-64 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 65 ปีขึ้นไปตามลำดับ ผู้ที่ถูกงูพิษกัดมากที่สุดคืออาชีพรับจ้าง รองลงมาคือเกษตรกร ภูมิภาคที่คนถูกงูพิษกัดมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามมาด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ผู้ที่ถูกงูพิษกัดมักจะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชนมากที่สุด แต่จะเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) น้อยที่สุด และผู้ที่เข้ารับการรักษาไม่สามารถระบุชนิดของงูพิษได้มีสูงถึง 98.14% ส่วนที่ระบุได้ส่วนใหญ่จะเป็น งูกะปะ งูเห่า งูเขียวหางไหม้ งูทะเล งูแมวเซา และงูสามเหลี่ยม [4]

แม้บริษัทผลิตเซรุ่มรายใหญ่ของโลกเลิกผลิตเซรุ่มแก้พิษงูตั้งแต่ปี 2014 แต่กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย สามารถผลิตเซรุ่มแก้พิษงูใช้เอง โดยสามารถป้องกันพิษงูได้ 7 ชนิดและมีสำรองไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ สำหรับ ‘เซรุ่มแก้พิษงู’ นั้นถือว่าเป็นยาต้านพิษในกลุ่ม ‘ยากำพร้า’ อันเป็นกลุ่มยามีอัตราการใช้ต่ำมากจนส่งผลต่อการผลิตยาและเกิดปัญหาขาดแคลนยา ไม่มียาอื่นนำมาใช้ทดแทนได้ ในอดีตผู้ป่วยได้รับพิษเหล่านี้ต้องเสียชีวิตลง ต่อมาในช่วงปลายปี 2553 สปสช.จึงได้ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ เพื่อการจัดหาและจัดซื้อยาต้านพิษเร่งด่วนที่ควรมีในประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลของศูนย์พิษวิทยาฯ พร้อมจับมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาต้านพิษ อาทิ การจัดระบบคลังยา การกระจายยาเพื่อให้สามารถช่วยผู้ป่วยได้ในเวลาที่จำกัด จนเป็นวัตกรรมบริการจัดการยาต้านพิษ ทั้งนี้ในช่วงดำเนินการเริ่มแรกปี 2553 ได้บรรจุยาต้านพิษในรายการที่จำเป็นต่อการเข้าถึง 6 รายการ และปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 16 รายการ ทั้งครอบคลุมถึงเซรุ่มต้านพิษงู 7 รายการ

จากข้อมูลสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช.ปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงูจำนวน 6,917 ราย โดยในกลุ่มยาต้านพิษมีการเบิกจ่ายยาเมทิลีน บลู (Methylene blue) มากที่สุด 89 ราย, ยาดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) 82 ราย และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) จำนวน 33 ราย เป็นต้น ส่วนกลุ่มเซรุ่มแก้พิษงูนั้นเซรุ่มแก้พิษงูกะปะมีการเบิกจ่ายมากที่สุด คือ 2,687 ราย เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ 1,838 ราย เซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต 1,001 ราย และเซรุ่มแก้พิษงูเห่า 716 ราย เป็นต้น ขณะที่ผลการดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่ละปีได้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้าและกลุ่มยาต้านพิษต่อเนื่อง โดยกลุ่มยาต้านพิษที่ได้เริ่มต้นในปี 2554 -2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับยาต้านพิษจำนวน 1,800 ราย ขณะที่กลุ่มเซรุ่มแก้พิษงูที่ได้เริ่มต้นในปี 2556–2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับเซรุ่มแก้พิษงูจำนวน 25,636 ราย รวมผู้ป่วยที่ได้รับยาภายใต้โครงการการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ มีจำนวนทั้งสิ้น 27,436 ราย

นักวิจัยไทยศึกษาเซรุ่มต้านพิษงูเฉพาะชนิด รักษาผู้ป่วยที่ถูกงูข้ามสายพันธุ์กัด

อาการแสดงของผู้ป่วยที่ถูกงูแมวเซากัด ที่มาภาพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

จากงานวิจัยเรื่อง ‘เภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของพิษต่อกล้ามเนื้อและพิษต่อไตจากงูแมวเซา’ ภายใต้การสนับสนุนระหว่างฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ทีมนักวิจัยได้ศึกษากลไกของร่างกายในการจัดการต่อพิษงูแมวเซาและความสัมพันธ์ของระดับพิษงูในร่างกายต่อการเกิดพิษในระบบกล้ามเนื้อและไต เพื่อที่จะสามารถพยากรณ์การเกิดพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกายหลังถูกงูแต่ละชนิดกัดได้ อันจะนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่ถูกงูกัดแต่ละราย เช่น ระยะเวลาของการฉีดเซรุ่มต้านพิษงูหลังถูกงูกัด การเลือกขนาดของเซรุ่มในการรักษาผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพ้เซรุ่ม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาคุณสมบัติของพิษงูแมวเซาต่อการเกิดพิษต่อกล้ามเนื้อและไตในหนูทดลอง โดยฉีดพิษงูเข้าทางหลอดเลือดดำ และเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อในระยะเวลาที่ต่างกัน เบื้องต้นพบว่าพิษงูแมวเซามีผลเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและไต

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการเครือพัฒนาข่ายวิจัยนานาชาติ สกว. ร่วมกับบริติช เคานซิล และกองทุนนิวตัน ให้เดินทางไปศึกษาวิจัยเรื่อง ‘ฤทธิ์ต้านพิษงูวงศ์เขี้ยวพับที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเซรุ่มต่างชนิด’ ที่ Liverpool School of Tropical Medicine เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเซรุ่มต้านพิษงูที่ผลิตในประเทศไทยต่อการต้านพิษงูวงศ์เขี้ยวพับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะด้านการทดสอบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเซรุ่มต้านพิษงู โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ คือ การนำเซรุ่มต้านพิษงูเฉพาะชนิด (Monovalent antivenom) มารักษาผู้ป่วยที่ถูกงูข้ามสายพันธุ์กัด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกงูกัดให้กับผู้ป่วยที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารทั้งในประเทศไทยและชาติอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต บุคลากรทางการแพทย์ เกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการป้องกันและรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดต่อไป และคาดว่าจะส่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติได้ในปีนี้ รวมถึงมีแผนจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเฉพาะในระดับชุมชน เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่ ผศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายภาณุพงศ์ ทวิชศรี นักศึกษาปริญญาโทโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ของ สกว. ภายใต้ความร่วมมือของสถานเสาวภา และภาคเอกชน กล่าวถึงงานวิจัย ‘การพัฒนาเครื่องหมายดีเอ็นเอแยกเพศของงูด้วยยีนบนโครโมโซม Z และ W เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงงูทางการค้า’ ว่า การระบุเพศของงูด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอ โดยใช้วิธีทางพันธุศาสตร์เพื่อดูความแตกต่างของขนาดดีเอ็นเอของงูเพศผู้และงูเพศเมียเป็นตัวชี้วัด มีประโยชน์คือ มีผลชัดเจน แม่นยำ และรวดเร็ว ส่งเสริมผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงงูในการจับคู่พ่อแม่พันธุ์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงช่วยลดการบาดเจ็บและสูญเสียสุขภาพสัตว์ เพราะวิธีนี้สามารถตรวจสอบได้จากคราบงู ซึ่งคณะนักวิจัยเตรียมจะจดสิทธิบัตรต่อไป

นอกจากนี้ การจำแนกเพศในงูยังสามารถดูได้จากลักษณะภายนอก โดยงูเพศผู้มีโคนหางที่อวบอูม สังเกตได้จากตำแหน่งทวารที่มีลักษณะคอดกิ่วแล้วกว้างออกที่โคนหาง อูมต่อเนื่องช่วงหนึ่งแล้วจึงเรียวไปยังปลายหาง เมื่อกดใต้โคนหางที่อวบๆ จะรู้สึกนิ่ม เนื่องจากภายในนั้นเป็นที่เก็บอวัยวะสืบพันธุ์ของงูเพศผู้ ส่วนเพศเมียนั้นอวัยวะสืบพันธ์อยู่หลังจากตำแหน่งของก้นงู หางมีลักษณะเรียวเล็กลงไปยังปลายหางทันที จึงเห็นรอยคอดบริเวณก้นของงูไม่ชัดเจน เมื่อกดใต้โคนหางที่เรียบแบน หรืออาจเว้าเป็นร่องตื้นๆ จะไม่นิ่มเหมือนเพศผู้

การแยกเพศงูยังสามารถใช้เครื่องมือแท่งโลหะรูปร่างตรงที่เรียกว่า ‘โพรบ’ (probe) สอดเข้าไปในรูทวารบริเวณหาง เฉียงเข้าไปทางซ้ายหรือขวา ถ้าสอดโพรบเข้าไปได้ประมาณ 7 แผ่นเกล็ด (ใต้ท้อง) สันนิษฐานเป็นเพศผู้ และหากได้สั้นกว่านั้นจะสันนิฐานว่าเป็นเพศเมีย นอกจากนี้ยังแยกด้วยการใช้เข็มฉีดยาใส่น้ำฉีดเพื่อดูอวัยวะสืบพันธุ์ของงูเพศผู้ โดยใช้เข็มฉีดน้ำเกลือสะอาดเข้าไปในบริเวณโคนหางด้านล่างของรูทวาร หันเข็มชี้ไปทางด้านหัวของงู เฉียงไปทางซ้ายหรือขวาก่อนเพื่อดันอวัยวะสืบพันธุ์ออกมา ถ้ามีถุงถูกดันออกมาแสดงว่าเป็นเพศผู้ ถ้าไม่มีถุงถูกดันออกมาอาจเป็นเพศเมีย

“การแยกเพศงูด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอนับเป็นเทคนิคใหม่ของโลก มีความแม่นยำกว่าการใช้เทคนิคอื่นๆ จากการทดสอบคราบงูที่แช่เย็นเก็บไว้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ก็ยังสามารถตรวจได้ ส่วนคราบงูตามธรรมชาติที่ผ่านความร้อนและความชื้น แม้จะมีผลต่อคุณภาพของตัวอย่างแต่ก็คาดว่าจะยังพอทดสอบได้อยู่ นอกจากนี้การแยกเพศที่ได้ผลรวดเร็ว ช่วยย่นระยะเวลาการผสมพันธุ์ จึงนับว่าวิธีนี้มีประโยชน์มากต่อการค้าและเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมงูสวยงาม”

ด้าน น.สพ.รัฐนินท์ พัชรกุลวัฒน์ เจ้าของโรงพยาบาลสัตว์ Mind Pets ซึ่งสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับปรุงกฎหมายในการส่งออกงูสวยงามเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงงูสวยงามติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก เพราะมีความแตกต่างทางสภาพภูมิอากาศน้อย ทำให้สามารถพัฒนาพันธุ์ได้เร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายในการห้ามส่งออกงูเป็นทุกชนิด ทำให้สามารถขายงูได้เฉพาะในประเทศ คิดเป็นมูลค่าหลักสิบล้านบาทต่อปี ปัจจุบันไทยมีฟาร์มเลี้ยงงูสวยงามประมาณ 20 แห่ง หากแก้ไขกฎหมายได้คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าทั่วโลกมีความต้องการงูสวยงามจากไทยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย รองลงมาคือ ยุโรป

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
[1] Snakebite envenoming (World Health Organization, ข้อมูล ณ 20/2/2018 เข้าถึงข้อมูล 29/5/2018)
[2] Snakebite antidote is running out (BBC, 8/9/2015)
[3] ตัวเลขนี้อ้างจากเอกสาร 'การจัดการแก้ไขปัญหายาจำเป็นขาดแคลน กลุ่มกำพร้า-ยาต้านพิษ' โดย ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560
[4] สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ประจำปี 2558, งูพิษกัด (สำนักระบาดวิทยา, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 29/5/2561)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การเข้าถึงเซรุ่มต้านพิษงูของคนไทยปี 2556-2560

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: