เด็กโอลิมปิกวิชาการหายไปไหน?

ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ TCIJ School รุ่นที่ 5 / บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 3 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 27676 ครั้ง

ทุกๆ ปี เราจะเห็นข่าวหนึ่งที่สื่อต่างพากันประโคมว่า “เด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก กวาดเรียบ! เหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ” จำนวนหลายสาขา สาขาละหลายเหรียญ ซึ่งแต่ละครั้งสร้างความภูมิใจให้กับคนในชาติว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่มาภาพประกอบ: แฟ้มภาพ TCIJ

หลังจากฮีโร่ของประเทศกลับมาแล้ว ไม่นานนักพวกเขาจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่จะกำหนดชีวิตของพวกเขาไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรืออาจจะตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือการตัดสินใจรับทุนโอลิมปิก ที่มีให้ตั้งแต่ป.ตรี-ป.เอกและหลังปริญญาเอก จากนั้นก็ต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานที่รัฐกำหนด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากจบการศึกษาแล้ว ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าพวกเขาหายไปไหน กำลังทำอะไรอยู่ ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติแค่ไหน ทำไมไม่มีข่าวคราวของอดีตวีรบุรุษเหล่านี้เลย อีกทั้งอันดับการศึกษาของประเทศไทยมีแนวโน้มจะตกลงทุกวันๆ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาใหม่อีกว่าโครงการนี้คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

ยากแค่ไหนกว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศ

กว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งระดับโลกต้องผ่านด่านมากมาย เริ่มตั้งแต่เฟ้นหาเด็กทั่วประเทศมาสอบแข่งขัน เข้าค่ายส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) ค่ายที่ 1 ตามศูนย์ภูมิภาคต่างๆ และศูนย์ขยายผล ศูนย์ละ 35 คน คัดเลือกกันภายในเหลือ 20 คน มาเข้าค่ายที่ 2 ของ สอวน. คัดเลือกเหลือ 6 คนไปแข่งระดับประเทศ ผู้ที่ทำคะแนนได้อันดับต้นๆ จะได้เข้าค่ายส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ค่ายที่ 1 เป็นระดับประเทศค่ายแรก สุดท้ายเป็นค่าย สสวท.ค่ายที่ 2 จึงจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับโลก ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ปี (ข้อมูลปี 2558)

จากนั้นจึงสามารถเลือกรับทุนได้ มีทุนตั้งแต่ให้ไปเรียนปรับพื้นฐานเตรียมความพร้อมเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ ต่อเนื่องถึงปริญญาเอกและวิจัยหลังจบปริญญาเอก โดยปริญญาโทและเอกสามารถเลือกสาขาประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่รับทุนตอนแรกได้ และสามารถกลับมารับราชการในประเทศไทยเป็นนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐหรือเป็นอาจารย์สอนนิสิต/นักศึกษา อย่างไรก็ตามนางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่านักเรียนที่เคยได้รับรางวัลโอลิมปิกวิชาการประมาณ 40-50% ปฏิเสธรับทุนเรียนต่อในสาขาที่ตนไปแข่ง

ซึ่งการจะเข้าโครงการนี้ได้ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นไว้ว่า เด็กจะต้องมีทีมโค้ชจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) มิเช่นนั้นจะไม่ทราบแนวข้อสอบที่ออก อีกทั้งโรงเรียนปกติก็ไม่มีสอน รวมถึงต้องเปลี่ยนวิธีการคิดให้แตกต่างจากหลักสูตรธรรมดาอีกด้วย แต่ถึงแม้จะไม่สามารถผ่านเข้าไปรอบสุดท้ายได้ ในระหว่างทางก็มีโครงการจากหลายๆ มหาวิทยาลัยเปิดรอบพิเศษ เพื่อดูดเด็กหัวดีเหล่านี้เข้ามหาวิทยาลัยของตนด้วย

หลังจากแข่งขันแล้วเสร็จไม่นาน เด็กกลุ่มนี้ต้องกำหนดอนาคตไม่ต่ำกว่า 10 ปีข้างหน้าของตัวเอง มีผู้วิจารณ์ว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้เด็กรู้ว่าแท้จริงแล้วตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร อยากทำอะไรในอนาคต แต่ต้องรีบตัดสินใจรับทุนก่อน ซึ่งพอเรียนไปแล้วเขาอาจพบว่าตัวเองไม่ชอบหรือไม่ถนัด แต่ต้องทนอยู่กับมันต่อไปจนเรียนจบ เกิดความทุกข์เป็นอย่างมาก หรือการสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จริงๆ ต่างกันคนละเรื่อง นักเรียนอาจชอบวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ แต่พอระดับสูงต้องเบนเข็มเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากขึ้น อาจไม่ได้ชอบเหมือนเดิม อีกทั้งนักเรียนอาจชอบสอนหนังสือ แต่ไม่ได้ชอบทำวิจัย

ชนติ จันทรโชติช่วงชัชวาล เจ้าของเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกปี 2549 ขณะนี้กำลังศึกษาปริญญาเอก ณ Wolfson Centre for Age-Related Diseases, King's College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนว่า “ตอนเลือกมั่นใจมาก วาดภาพสวยว่าจะได้คิดไอเดียใหม่เทพๆ ขณะหาประสบการณ์ทำแล็บตอน ป.ตรี แต่พอมาเรียน ป.ตรีจริงๆ ที่ Harvard ปรากฏว่าชอบวิชาเลขมากกว่า ถึงกับสุดท้ายแล้วเลือกลงเลขไป 8 วิชาตอนอยู่ ป.ตรี แล้วแล็บทางชีววิทยาก็ยาก เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นง่าย ต้องทำหลายรอบ เลยทำให้ใช้เวลาทำแล็บน้อยกว่าที่ควรจะทำ ทั้งๆ ที่อาจารยที่ปรึกษา Paola Arlotta และนักเรียน ป.เอก Simona Lodato ที่คุมสอนแล็บเป็นคนเก่งและดีมากๆ  ยังรู้สึกผิดมาจนทุกวันนี้ เลยทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของแล็บชีววิทยามากขึ้น ว่าไอเดียดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องกล้าทำ กล้าเสี่ยง อึดอดทน ไม่ย่อท้อ และที่สำคัญต้องเปิดใจกว้างรับไอเดียคำแนะนำผู้อื่นได้เสมอ เพราะวิชานี้มันหลากหลาย และเจริญเร็วมาก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ทุกอย่าง จะเก่งทุกอย่าง”

ชนติ จันทรโชติช่วงชัชวาล

พวกเขาหายไปไหน ?

‘สมองไหล’ เป็นปัญหาหลักของประเทศกำลังพัฒนาอยู่เสมอ คือ ภาวะที่ทรัพยากรบุคคลระดับสูงออกไปทำงานนอกประเทศเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยมักเกิดจากปัจจัยด้านค่าตอบแทน ปัจจัยด้านตัวงานที่ทำ และปัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กร

ดร.อุษณีย์ กล่าวโดยสรุปใจความได้ว่า “คนที่สติปัญญาสูง เงินเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือการที่ได้เจอคนสติปัญญาระดับเดียวกัน ทำให้เกิดความท้าทายในการทำงาน” แต่ประเทศไทย หน่วยงานวิจัยของไทยไม่ได้รวมคนระดับนี้ไว้มากขนาดนั้น นักเรียนทุนเหล่านี้มักจะถูกส่งไปวางระบบตามหน่วยงานต่างๆ คนเดียว แล้วคุมคนที่เหลือมากกว่า อีกทั้งทุนก็ไม่มีให้เท่ากับทำวิจัยในต่างประเทศ ทุนที่มีให้ในไทยทั้งปริมาณและจำนวนเงินเองน้อยกว่าต่างประเทศอยู่หลายเท่า บางรายโชคดีหน่อย มีหน่วยงานวิจัยเฉพาะด้านที่จบในประเทศไทย แต่ก็เป็นแค่ส่วนน้อย ที่เหลือต้องไปอยู่ในสถาบันวิจัยของประเทศ อย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งก็ไม่ได้หายไปไหน ยังทำงานพัฒนาประเทศอยู่ ดร.อุษณีย์ยังกล่าวอีกว่า “ประมาณ50%กลับมาเป็นอาจารย์/นักวิจัย แต่ก็คงไม่ท้าทายเหมือนกับไปอยู่นาซ่าหรือไมโครซอฟท์”

“มีเด็กคนหนึ่งเก่งมาก เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่องกระสวยอวกาศ แต่พอกลับมาไทยไม่มีหน่วยงานให้เขาด้านนี้ เขาก็เลยต้องไปอยู่ในหน่วยงานธรรมดาๆ ซึ่งทำให้ความสามารถลดลง เคยตั้งหน่วยพิเศษลักษณะนี้มาแล้ว แต่เอาคนที่ไม่มีความรู้มานั่งเป็นหัวหน้า กินเงินเดือน 3 แสนกว่าบาท สุดท้ายก็ล่มไป” ดร.อุษณีย์กล่าว สุดท้ายแม้จะไม่ได้ย้ายไปทำงานต่างประเทศ แต่ก็ทำงานให้กับบริษัทต่างชาติที่มีสาขาในไทย และมีอีกจำนวนมากที่เริ่มต้นกิจการของตนเอง

อีกทั้งวัฒนธรรมการทำงานในไทย ไม่เอื้อให้คนที่มีฝีมือได้เจริญก้าวหน้า เนื่องจากติดกับดักความอาวุโส ไม่สามารถทำงานเกินหน้าเกินตาผู้ที่อยู่มาก่อนได้ และยังมีระบบราชการที่เชื่องช้า เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน วัฒนธรรมดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางแค่เด็กเก่งเท่านั้น คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่อยากทำงานเป็นข้าราชการเพราะเหตุผลดังกล่าว

สอดคล้องกับที่ Laszlo Bock ประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของ Google เปิดเผยว่ามี 2 สิ่งที่เท่านั้นที่ทำให้คนอยากทำงานต่อ 1.เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีความหมาย 2.คุณภาพของคนที่ทำงานด้วยอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งพนักงาน 100 คนแรกของ Google ก็ยังทำงานอยู่เหมือนเดิม แม้จะได้ส่วนแบ่งมูลค่าหุ้นจำนวนมหาศาลไปแล้ว

วริท วิจิตรวรศาสตร์ เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ สาขาดาราศาสตร์ปี 2559 ได้ให้ความเห็นในอีกแง่มุมว่า “นักเรียนโอลิมปิกวิชาการหรือแม้แต่นักเรียนทุนส่วนใหญ่ ไม่เคยห่างหายไปไหน ยังทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา วิชาการ หน่วยงานของประเทศ แล้วแต่สายงานที่เลือก ส่วนสาเหตุที่สังคมไม่ทราบชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ เพราะสื่อไม่เคยนำเสนอให้สังคมทราบ เหมือนตอนที่รับรางวัลมาใหม่ๆ”เช่นเดียวกับที่ชนติให้สัมภาษณ์ “ไม่เห็นด้วย เพราะว่าเด็กโอลิมปิกหลายคน ไม่ได้เก่งแค่วิชาเดียว มีทางเลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทุนเล่าเรียนหลวง เรียนแพทย์หรือวิศวะ แต่ยังไงทุนก็จะตกมาถึงผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้แทนประเทศตอนนั้น แต่ก็เก่งและก็รักในวิชานั้นๆ ไม่แพ้ผู้แทนในแต่ละปี  สุดท้ายเงินทุนก็ได้สนับสนุนให้เด็กที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนางานวิจัยอยู่ดี และเท่าที่ดูมาส่วนมากก็กลับเป็นนักวิจัย หรืออาจารย์ตามที่โครงการะบุ”

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่มีโครงการนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับชะตากรรมของเด็กหัวกะทิ อำนวย พลสุขเจริญ อดีตเจ้าของเหรียญเงินสาขาฟิสิกส์ เคยให้สัมภาษณ์กับ BBC ไทยไว้ว่า  "ปัญหาของการสอนในโรงเรียนปกติแบบนี้ คือคนที่เรียนช้าก็เรียนไม่ทัน และถูกบังคับให้เรียนตามคนอื่น ในขณะที่คนที่เรียนรู้เร็วกว่า ก็รู้สึกว่าน่าเบื่อ ช้าเกินไป ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นมอดไปด้วย"  ซึ่งถ้าไม่มีโครงการเสริมสมรรถภาพพิเศษนี้ ไทยจะขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นมากกว่าเดิมหรือไม่ แม้บางฝ่ายอาจเห็นว่าสิ้นเปลืองก็ตาม ในประเทศที่การศึกษาเท่าเทียมกันมากอย่างญี่ปุ่น ก็ยังมีโครงการลักษณะนี้อยู่ ในจีนเริ่มติวเข้มตั้งแต่ 10 ขวบ วางแผนไว้หมดเลยว่าจะทำอะไร เช่นอยากได้นักฟิสิกส์ 3 คน ก็เตรียมเด็กได้เลย พอเด็กกลับมาสามารถพัฒนาได้ทันที ถ้าเป็นไปได้เราควรคัดเลือกเด็กตั้งแต่อนุบาลเลยหรือไม่ เพื่อให้เขาเข้ามาอยู่ในการศึกษาที่ดี สามารถบ่มเพาะศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้  รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร ก่อนที่พวกเขาจะหายไปกับระบบ

คุ้มค่าหรือไม่?

ในด้านความคุ้มค่า ดร.ดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสสวท. กล่าวว่า  “ถ้ารับทุนต้องกลับมา เรียกว่าตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน 10 ปี ซึ่ง 10 ปีนี้ก็สร้างนวัตกรรมอะไรได้บ้างพอสมควร และเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆที่เขาเคยศึกษาอยู่ เช่น VCharkarn.com ก็เกิดจากเด็กโอลิมปิกกับเด็กโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) รวมกันสร้างขึ้นมา จนได้รางวัลเว็บไซต์ดีเด่นระดับชาติ”  

รศ.เย็นใจ สมวิเชียร เหรัญญิกและกรรมการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (สอวน.) เคยแสดงทรรศนะไว้ว่า “คุ้มค่านั้นยืนยันว่าคุ้มแน่นอน เพราะสิ่งหนึ่งที่ย้ำมาตลอดว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเพียงหาแค่ตัวแทนประเทศไปแข่งขันเท่านั้น แต่กระบวนการที่ผ่านยังเป็นการมุ่งพัฒนาเยาวชน ครู และระบบการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น แม้จะทำได้เพียงส่วนเดียวก็ตาม เราอบรมครูโรงเรียนขยายผลทั่วประเทศใช้เงินไป 14 ล้านบาท แล้วครูสามารถกลับมาสอนแล้วเข้ามาแข่งกับเด็กในศูนย์ สอวน.ได้ เพราะเราพัฒนาครูไง แล้วครูก็ไปพัฒนาเด็ก เงินแต่ละบาทที่ลงไปจึงคุ้มค่า เช่นเดียวกับตัวเด็กเอง ก็ได้ฝึกการคิด ฝึกวิธีการเรียนรู้ คือเขาได้พัฒนาตัวเอง และที่สำคัญเขายังได้พัฒนาประเทศอีกด้วย ถ้าจะให้เห็นชัดๆต้องใช้เวลา กว่าจะจบปริญญาเอก ฝึกทำวิจัยหลังจบปริญญา จนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้”

รศ.เย็นใจ ยืนยันว่าการแข่งขันยังช่วยกระตุ้นบรรยากาศในการเรียนรู้ นำพานักเรียนที่มีความสนใจเหมือนกันมาเจอกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและเรียนรู้ด้วยกันในระดับสูง เด็กเหล่านี้ถ้าไปไม่ถึงระดับโลก ก็ผ่านการติวเข้มมา สามารถไปสอบทุนอื่นๆเองได้ เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง) ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น และได้นำชื่อเสียงมาสู่ตัวเอง วงตระกูลและโรงเรียนอีกด้วย

ทางด้าน ชนติ กล่าวอีกว่า “โครงการนี้มีบุญคุญคุ้มชีวิตผมมากอยู่ ทำให้ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เครือข่ายนักวิจัย อาจารย์และเพื่อนๆ ได้ความรู้และมุมมองใหม่ๆ ซึ่งคงไม่ได้เห็นหากเรียนที่เมืองไทย แล้วทำให้เห็นว่าควรเสริมงานวิจัยด้านไหนที่เมืองไทยยังค่อนข้างขาดอยู่  ทำให้ได้มีเงินช่วยแม่เพราะครอบครัวมีปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าไม่ได้ทุนนี้ ดีไม่ดีอาจจะไม่มีโอกาสเรียนต่อ และจากเท่าที่ดูเพื่อนๆ มา ทุกคนเก่งมาก มุ่งมั่นที่จะกลับไปพัฒนางานวิจัย เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆรุ่นต่อไป ก็เลยรู้สึกทุนเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง”

แต่ในทางกลับกัน โครงการนี้ก็อาจจะส่งเสริมเฉพาะนักเรียนที่มีต้นทุนทางสมองและมีฐานะทางสังคมดีอยู่แล้วเท่านั้น สังเกตได้ว่านักเรียนส่วนมากของโครงการมาจากโรงเรียนชั้นนำในในกรุงเทพฯ เช่น เตรียมอุดมฯ มหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่ต้องเข้าโครงการนี้ก็ไม่ลำบาก สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ไม่ยาก

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าโครงการพัฒนาเด็กโอลิมปิกวิชาการจะคุ้มค่าหรือไม่ก็ตาม แต่การพัฒนาเด็กเก่งเพียงหยิบมือไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศได้ รัฐบาลควรลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา แม้ผลงานด้านโอลิมปิกวิชาการของเด็กไทยมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ก็สวนทางกับแนวโน้มการศึกษาทั้งประเทศที่ตกลงทุกๆปี สำหรับโครงการนี้ควรมีการเปิดเผยสถิติ ที่มีการการติดตามนักเรียนเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมกันตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นให้ภาครัฐได้มากขึ้น

 

อ้างอิง

1. 40% ปฏิเสธรับทุนเรียนต่อในสาขาที่ตนไปแข่ง 
2. เด็กโอลิมปิกวิชาการไม่ได้หายไปไหน 
3. รายการสยามสาระพา ตอน เด็กโอลิมปิกวิชาการ...โตแล้วไปไหน? 
4. 11 ปีผ่านไป ชีวิตหลังรับเหรียญของนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ
5. เด็ก ‘โอลิมปิกวิชาการ’ หายไปไหน บทพิสูจน์ความคุ้มค่าการลงทุนกับหัวกะทิ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: