คำศัพท์เกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

3 ส.ค. 2561 | อ่านแล้ว 273112 ครั้ง


Gender identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) หมายถึง ความรู้สึกล้ำลึกภายในของบุคคลเกี่ยวกับเพศภาวะ ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือตรงข้ามกับเพศโดยกำเนิดของตน รวมทั้งความรู้สึกทางสรีระ (ซึ่งหากสามารถ เลือกได้อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขลักษณะ และการทำงานทางกายภาพด้วยวิธีทางการแพทย์ การผ่าตัด หรือวิธีอื่นใด) รวมทั้งการแสดงออกทางเพศภาวะ เช่น การแต่งกาย การพูดจา และกิริยาอื่นๆ

นอกจากสองคำนี้ คำว่า “การแสดงออกทางเพศ” เป็นอีกคำหนึ่งที่มักใช้บ่อยในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ

Gender expression (การแสดงออกทางเพศ) หมายถึง การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละบุคคล และการแสดงออกที่รับรู้ในสายตาของผู้อื่น โดยทั่วไป คนเรามักจะมีการแสดงออกทางเพศที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดเป็นเพศใดก็ตาม

คำศัพท์สากล

คำศัพท์ต่อไปนี้เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในการอธิบายถึงบุคคลที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

Gay (เกย์) - ผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน ทางอารมณ์ ทางความสัมพันธ์ทางเพศ หรือทางกาย

Lesbian (เลสเบี้ยน) - ผู้หญิงที่รักผู้หญิงด้วยกัน ทางอารมณ์ ทางความสัมพันธ์ทางเพศหรือทางกาย

Bisexual (คนรักสองเพศ) - บุคคลที่รักได้ทั้งชายและหญิง ทางอารมณ์ ทางความสัมพันธ์ทางเพศ หรือทางกาย

Transgender (คนข้ามเพศ) - ผู้ที่รู้สึกพึงพอใจกับเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามกับเพศ กำเนิดของตน

Intersex (คนที่มีเพศกำกวม) - เป็นคำศัพท์ที่ใช้กับภาวะหลายประการที่บุคคลหนึ่งเกิดมาพร้อมกับสรีระทางเพศหรืออวัยวะสืบพันธุ์ที่กำกวม คืออาจมีลักษณะที่ไม่ตรงกับเพศชายหรือหญิง หรือมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศ

Queer (เควียร์) - ศัพท์วิชาการที่หมายรวมถึงคนที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศหรือไม่ได้มีวิถีเช่นเดียวกับคนรักต่างเพศ แม้ว่า LGBT ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้คำนี้เพราะความหมายแฝงในเชิงลบในอดีต แต่สมาชิก LGBT อีกส่วนหนึ่งก็หันกลับมายอมรับคำๆนี้ในเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง

LGBT (กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) - คำย่อซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เป็นเลสเบี้ยนเกย์ รักสองเพศ และคนข้ามเพศ ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำย่อ GLBT คำย่อ LGBTIหรือ LGBTIQ ซึ่งรวม อักษรย่อสำหรับคนที่มีเพศกำกวมและเควียร์โดยชัดเจนก็ใช้ด้วยเช่นกัน ในที่นี้ LGBT ใช้หมายรวมถึง คนที่มีเพศกำกวมและเควียร์ด้วยเช่นกัน

MSM (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย) - ย่อมาจาก “Men who have Sex with Men” เป็นคำที่ใช้ เรียกประชากรชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีแต่อาจไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชายรักชายหรือชายรักสองเพศ

Sexual Minorities (คนกลุ่มน้อยทางเพศ) - หมายถึง กลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะอัตลักษณ์หรือวิถีทางเพศของตน ได้แก่ เกย์ เลสเบี้ยน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ ในประเพณีดั้งเดิม ในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น hijras, kothis, warias,กะเทย, berdache ฯลฯ

Transsexual (คนที่มีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม) - หมายถึง คนที่เกิดมามีสภาพด้านร่างกายเป็นเพศหนึ่ง แต่มีอารมณ์ จิตใจ และเลือกที่จะใช้ชีวิตในบทบาททางเพศที่เป็นอีกเพศหนึ่ง ไปจนถึงการเลือกที่จะแปลงเพศ

Transvestite/Cross-dresser (ชายแต่งหญิง หรือ หญิงแต่งชาย) - หมายถึง คนที่ชอบแต่งตัวเป็นเพศตรงข้ามเป็นครั้งคราว และมีความรู้สึกเป็นเพศตรงข้ามตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอย่างชัดเจน บางคน อาจได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อเปลี่ยนไปเป็นอีกเพศหนึ่ง และใช้ชีวิตในเพศตรงข้ามอย่างถาวรส่วนบางคนอาจพอใจกับการแต่งกายเป็นเพศตรงข้ามเป็นครั้งคราวไปจนตลอดชีวิต

Transperson/people/man/woman (คนข้ามเพศ) - ป็นคำที่ใช้หมายรวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์ หรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ได้แก่ ชายหรือหญิงที่รู้สึกเหมือนเพศตรงข้าม หรือคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนที่มีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม คนข้ามเพศ ชายแต่งหญิง/หญิงแต่งชาย คนสองเพศ คนหลายเพศ เควียร์ (queer หรือ gender queer) คนไร้เพศ เพศทางเลือก หรืออัตลักษณ์ และการแสดงออกทางเพศอื่นใดก็ตามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความเป็นชายหรือหญิงโดยทั่วไป คนกลุ่มนี้ มักแสดงออกทางเพศภาวะของตนโดยการแต่งกาย บุคลิกภาพ การเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ รวมถึง การผ่าตัดดัดแปลงทางเพศต่างๆ ด้วย

FTM (ชายข้ามเพศ) - ย่อมาจาก Female-To-Male ใช้หมายถึงคนที่ข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย คือ คนที่เกิดมาเป็นเพศหญิงโดยกำเนิดแต่มองว่าตนเป็นชายในภายหลัง เรียกว่าtransman หรือ ชายข้ามเพศ (คำนี้ควรใช้อย่างระมัดระวังเพราะอาจสื่อถึงแนวความคิดที่ว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศเท่านั้น)

MTF (หญิงข้ามเพศ) - ย่อมาจาก Male-To-Female ใช้หมายถึงคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิง คือ คนที่เกิดมาเป็นเพศชายโดยกำเนิดแต่มองว่าตนเป็นหญิงในภายหลัง เรียกว่า transwoman หรือหญิงข้ามเพศ (เช่นเดียวกับ FTM คำนี้ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจสื่อถึงแนวความคิดที่ว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศเท่านั้น)

คำศัพท์ภาษาไทย

ศัพท์ในภาษาอังกฤษบางคำ เช่น gay, lesbian, bisexual, transgender และ intersex ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในภาษาไทย โดยมีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและรายละเอียด ความถูกต้องบางประการคำเหล่านี้ ได้แก่

เกย์ - ในประเทศไทยใช้หมายถึงผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันจะไม่ถูกเรียกว่าเกย์แต่จะเรียกว่า ทอม ดี้ หรือ เลส (เลสเบี้ยน) แทน ขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศของบุคคลผู้นั้น ปัจจุบัน มีคำเฉพาะที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ที่ใช้หมายรวมถึงชายหรือหญิงที่รักเพศเดียวกัน (ดูข้างล่าง)

เลสเบี้ยน - เป็นคำที่มีการใช้บ้างแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากหญิงรักหญิงไทย เนื่องจากความหมายที่ค่อนไปในทางลบว่าหมายถึงหญิงที่ผิดปกติด้านจิตใจ

ไบ - เป็นคำที่ใช้เรียกคนรักสองเพศอย่างไม่เป็นทางการ และใช้ในบริบทเดียวกันกับในภาษาอังกฤษ (bisexual) แม้ว่าจะมีคนไทยน้อยมากที่เปิดเผยตัวคนว่าเป็นคนรักสองเพศ

ทีจี (TG) - มักใช้กันในกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศและสมาชิกของกลุ่มคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงในไทย เพื่อแทนคำว่า transgenderคำว่า หญิงข้ามเพศ และ ชายข้ามเพศ ซึ่งแปลตรงตัวจาก transwoman และ transmanกำลังได้รับความนิยมในกลุ่ม LGBT ของไทย

คำศัพท์ภาษาไทยหลายคำใช้กันอย่างแพร่หลาย และใช้เฉพาะในบริบทความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศของไทยเท่านั้น เช่น

ชายรักชาย, ชรช. - หมายถึง ผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน เป็นคำที่เป็นที่นิยมสำหรับชายที่เป็นเกย์

หญิงรักหญิง, ญรญ. - หมายถึง ผู้หญิงที่รักผู้หญิงด้วยกัน เป็นคำที่นิยมแทนคำว่าเลสเบี้ยน ทอม และดี้

ทอม - มาจาก tomboy ในภาษาอังกฤษ หมายถึงผู้หญิงที่มีลักษณะเหมือนผู้ชายและชอบเพศหญิงที่อาจไม่ใช่คนที่เป็นดี้เสมอไป

ดี้ - มาจาก lady ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ผู้หญิงที่มีลักษณะหรือการแสดงออกที่เป็นหญิงและชอบผู้หญิงด้วยกันซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นทอมเสมอไป

เลส - มาจาก lesbian ในภาษาอังกฤษ หมายถึงผู้หญิงที่มีลักษณะการแสดงออกทางเพศไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไปแต่ชอบเพศหญิงเหมือนกัน

กะเทย - หมายถึง คนที่เกิดมาเป็นชายโดยกำเนิดแต่มีลักษณะภายนอก การแสดงออกและพฤติกรรม ที่เหมือนผู้หญิง คำนี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์และทางการแพทย์ (กะเทยใช้เหมือนคำว่า hermaphrodite ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีความหมายทางการแพทย์ว่าคนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง และแต่เดิมใช้เรียกผู้ที่มีจิตใจเป็นเพศตรงข้าม (transsexual)ทั้งจากชายเป็นหญิงและจากหญิงเป็นชาย แต่ในปัจจุบันใช้เรียกเฉพาะคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงเท่านั้น คนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงบางคน โดยเฉพาะคนที่ต้องการแปลงเพศไม่นิยมคำนี้เท่าใดนัก ในขณะที่คนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงคนอื่นๆ ยอมรับความหมายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่อยู่ระหว่างความเป็นหญิงและชายของคำๆ นี้

สาวประเภทสอง - หมายถึงผู้หญิงประเภทที่สอง ใช้เรียกกะเทยและคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิงที่มีลักษณะการแสดงออกคล้ายกับเพศหญิง

ตุ๊ด - มาจากภาพยนตร์เรื่อง Tootsie นำแสดงโดยดัสติน ฮอฟแมน เป็นคำเรียกที่ใช้เหมือนกับคำว่า fag หรือ faggot ในภาษาอังกฤษ มีความหมายในลักษณะดูถูกเหยียดหยามสำหรับชายที่เป็นเกย์ กะเทย และคนข้ามเพศจากชายเป็นหญิง แต่อาจได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้

เพศที่สาม - หมายถึง คนที่เป็นเพศที่สาม ใช้เรียกคนที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศ ได้แก่ เลสเบี้ยนเกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ คำนี้ไม่เป็นที่นิยมนักในกลุ่ม LGBT เนื่องจากมีนัยสื่อถึงชนชั้นทางเพศ

คนข้ามเพศ - มาจากคำว่า transgender ในภาษาอังกฤษ หญิงข้ามเพศ - มาจากคำว่า transwoman ในภาษาอังกฤษ ใช้เรียกคนข้ามเพศจากหญิงเป็นชายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการแปลงเพศหรือได้แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว

ชายข้ามเพศ - มาจากคำว่า transman ในภาษาอังกฤษ ใช้เรียกคนข้ามเพศจากหญิงเป็นชายที่กำลัง อยู่ในขั้นตอนการแปลงเพศหรือได้แปลงเพศเป็นชายแล้ว

เพศกำกวม - หมายถึงลักษณะการมีสรีระทางเพศหรืออวัยวะสืบพันธุ์ที่กำกวม ไม่ตรงกับลักษณะเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศ (intersexuality) เป็นลักษณะของ คนที่มีเพศกำกวม (intersex)

คนสองเพศ - เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียก Bisexual (คนรักสองเพศ)

 


ที่มา
อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย / บุษกร สุริยสาร ; องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ; โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE). – กรุงเทพฯ : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: