กรมสุขภาพจิตชี้ 'ตำรวจ' เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง เหตุเจอคดีสะเทือนขวัญบ่อย

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2515 ครั้ง

กรมสุขภาพจิตชี้ 'ตำรวจ' เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง เหตุเจอคดีสะเทือนขวัญบ่อย

กรมสุขภาพจิตชี้ 'คนแก่' ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงอันดับ 2 ของประเทศ ด้าน 'ตำรวจ' กลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายด้วย พบแนวโน้เพิ่มขึ้นจากปีละ 29 ราย เป็นเฉลี่ย 34 ราย ส่วนใหญ่อายุ 41 - 50 ปี ยศดาบตำรวจ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม เหตุเจอภาวะวิกฤตในชีวิต และเหตุการณ์สะเทือนขวัญบ่อย ที่มาภาพประกอบ: Sanook! News

MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ว่า น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000 คนต่อปี พบเป็นวัยทำงานมากสุด รองลงมาคือ วัยสูงอายุ ทั้งนี้ สาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกคือ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด, โรคเรื้อรังทางกาย และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน ซึ่งการที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุกลุ่มป่วย คือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า 2. ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียง และ 3.ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า รพ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “สบายใจ” เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุก ให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผลดียิ่งขึ้นอยากขอให้สังคมและประชาชนร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยสังเกตผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช กลุ่มสูญเสียหรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ขอให้รีบไปพูดคุย จัดการปัญหาให้เบื้องต้น หากยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของอาชีพตำรวจ ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่าตำรวจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 อันดับ คือ 1. ภาวะวิกฤตในชีวิตและปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการโรคจิตและใช้สารเสพติด และ 2. ตำรวจมีโอกาสพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เช่น อาชญากรรม การฆาตกรรม การฆ่าตัวตายการข่มขืน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนว่า หากไม่ได้รับการบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจได้

“จากการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจในประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2555 มีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 29 นาย ส่วนปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 34 นาย โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 - 50 ปี เป็นยศดาบตำรวจ และรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ส่วนข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่ากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มคนผิวขาว อายุมาก และรับผิดชอบงานด้านอาชญากรรม ซึ่งมีความเครียดสูง ซึ่งการดูแลก็เหมือนบุคคลทั่วไป คือ คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการเตือน เช่น การพูดถึงการตายเชิงสั่งเสีย อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 1. ผู้ที่เกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจากการสูญเสียทั้งด้านการงานหรือคนที่รัก 2. ผู้ที่แยกตัวจากสังคมหรืออยู่คนเดียว 3. ผู้มีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และ 4. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพจิตตำรวจในระบบก็จะมี รพ.ตำรวจ ให้การดูแลและรวมถึง รพ. ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็สามารถขอคำปรึกษาและรับบริการได้” นพ.ปทานนท์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: