แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวแคมเปญ 'Write for Rights' หรือ 'เขียน เปลี่ยน โลก' ประจำปี 2561 เพื่อแสดงพลังสนับสนุนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการปฏิบัติมิชอบ การข่มขู่ และความรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยปีนี้แอมเนสตี้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงผู้กล้าที่กำลังถูกคุกคาม คุมขัง ทรมาน หรือถูกสังหาร เนื่องจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก
เนื่องด้วยวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติที่ตระหนักถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อชีวิตและศักดิ์ศรียิ่งกว่านักปกป้องสิทธิที่เป็นเพศชายหรือรณรงค์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเพศสภาพและการเจริญพันธุ์ โดยเสี่ยงตกเป็นเป้าการละเมิดสิทธิทั้งโดยทางการและประชาชน ด้วยการข่มขู่ทางกายภาพและลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงใช้โอกาสนี้เปิดตัวแคมเปญ 'Write for Rights' หรือ 'เขียน เปลี่ยน โลก' ประจำปี 2561 เพื่อแสดงพลังสนับสนุนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับการปฏิบัติมิชอบ การข่มขู่ และความรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยปีนี้แอมเนสตี้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงผู้กล้าที่กำลังถูกคุกคาม คุมขัง ทรมาน หรือถูกสังหาร เนื่องจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก
17 ปีของมหกรรม “Write for Rights” ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจ ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจำคุกตามกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ให้นำตัวผู้ที่ทำการทรมานผู้อื่นมาลงโทษ และให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น หากลำพังจดหมายฉบับเดียวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากนัก แต่เมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้ร่วมรณรงค์ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิกับแอมเนสตี้มากกว่า 5.5 ล้านครั้งจากทั่วโลก
คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในวันที่ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบ ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะเพศสภาพของตน หรือเพราะคุณลักษณะด้านอื่นๆ รวมทั้งจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน ทว่ายังมีกลุ่มผู้หญิงอีกหลายคนจากทุกมุมโลกที่ไม่ยอมนิ่งเงียบอีกต่อไป และได้เป็นแนวหน้าขับเคลื่อนการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2561
“ผู้หญิงทั่วโลกเป็นแกนนำกลุ่มต่อต้านความอยุติธรรม เราต้องการยกย่องผู้หญิงที่มีบทบาทในการท้าทายอำนาจ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ และเป็นแกนนำเพื่อการเปลี่ยนแปลง พวกเธอเป็นผู้นำที่โลกควรมีมากขึ้น ในช่วงที่โลกกำลังมุ่งสู่แนวทางสุดโต่งมากยิ่งขึ้น การรณรงค์ร่วมกับผู้หญิงเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้เกิดความสมดุลและความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรม”
“เราต้องการสนับสนุนผู้หญิงเหล่านี้และครอบครัวเพื่อเอาชนะความเสี่ยง และปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน เราต้องการเห็นโลกที่ผู้หญิงทุกคนสามารถแสดงความเห็นและยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรมโดยไม่ต้องหวาดกลัว ที่ซึ่งพวกเธอไม่ต้องตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะความเป็นผู้หญิง ถึงเวลาที่จะต้องยืนหยัดร่วมกัน แสวงหาความยุติธรรมและให้กำลังใจกับพวกเธอ หากร่วมมือกันเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้” คูมีกล่าวทิ้งท้าย
ในปีนี้ กิจกรรม Write for Rights ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงสนับสนุนให้คนทั่วโลกเขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากหลายประเทศ ทั้งที่บราซิล อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน เคนยาคีร์กีซสถาน โมร็อกโค แอฟริกาใต้ ยูเครน และเวเนซูเอลา ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ได้แก่
มารีเอลลี ฟรังโก จากประเทศบราซิล
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นในริโอเดอจาเนโร เธอยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้หญิงผิวสี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนหนุ่มสาว พร้อมกับประณามการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ แต่แล้วเธอต้องถูกสังหารเพื่อปิดปาก ความตายของเธอกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในบราซิล โดยในปี 2560 มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 70 คนถูกสังหาร โดยไม่ได้รับความยุติธรรม
กัลซาร์ ดูชีโนวา จากประเทศคีร์กีซสถาน
กัลซาร์ เคยเป็นผู้หญิงที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดา แต่แล้วในปี 2545 เธอกลับต้องเดินไม่ได้เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จากคนเมาแล้วขับ หลังต้องประสบชะตากรรมอันเลวร้ายในฐานะผู้พิการ ส่งผลให้เธอตั้งปณิธานที่จะดูแลให้ผู้พิการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และสามารถเดินทางได้อย่างเสรี แต่กลับทำไห้เธอต้องถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากสังคมคาดหวังให้ผู้หญิงไม่ควรแสดงความเห็น และมีการมองว่าผู้พิการเป็น “บุคคลที่บกพร่อง”
เจราลดีน ชากอน จากประเทศเวเนซูเอลา
เจราลดีน ชากอน เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชนในวัย 24 ปีผู้ที่มักจะปกป้องคนอื่นเสมอ และเธอยังลุกขึ้นมาทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา แต่เธอกลับถูกเพ่งเล็งโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่เธอเพียงแต่ต้องการทำให้ประเทศของตนดีขึ้น พวกเขาคุมขังเธออยู่สี่เดือน ห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ เพียงเพราะการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีกับเธอยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเธออาจถูกจับกุมอีกเมื่อไรก็ได้โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
เสียงของผู้ที่ได้รับจดหมายจากแอมเนสตี้เมื่อปีที่แล้ว
การได้รับจดหมายอาจให้ความหวังกับคนในช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสุด เมื่อปีที่แล้ว ข้อความที่ส่งถึงชากีเลีย แจ็กสันในจาเมกา ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง ชากีเลียยังคงต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับนาเคีย น้องชายของเธอที่ถูกตำรวจสังหารโดยไม่มีเหตุผล โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ส่งผลให้เธอขึ้นเป็นแกนนำต่อต้านการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายของตำรวจในจาเมกา
“การเขียนจดหมายถึงใครบางคน อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นการแสดงถึงความห่วงใยอย่างง่ายๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจใหญ่หลวง” ชากีเลีย กล่าว
“จดหมายเหล่านี้เตือนให้ดิฉันตระหนักถึงความสำคัญของงานสิทธิมนุษยชนที่ทำ ช่วยให้ครอบครัวและชุมชนของดิฉันตระหนักว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้การต่อสู้โดยส่วนตัวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของเรา กลายเป็นการต่อสู้ระดับโลก จดหมายจำนวนมากมายมหาศาลที่ได้รับ ยังทำให้รัฐบาลของเราตระหนักว่า คนทั้งโลกกำลังจ้องมองพวกเขาอยู่ และเฝ้ารอให้เกิดความยุติธรรมขึ้น”
มาร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกันได้ที่ https://goo.gl/VzcNvc
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ