เสนอสร้างช่องทางลับให้แรงงานต่างชาติร้องเรียน-จ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์

ทีมข่าว TCIJ: 4 พ.ย. 2561 | อ่านแล้ว 3814 ครั้ง

งานวิจัยร่วมของ ‘โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ’ (UNDP) และ ‘องค์การแรงงานระหว่างประเทศ’ (ILO) เปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ 'แรงงานย้ายถิ่นจดทะเบียนกับไม่ได้จดทะเบียน' พบแรงงานไม่ได้จดทะเบียนลำบากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แรงงานจดทะเบียนส่งเงินกลับบ้านสูงกว่า 2 เท่า แนะควรมีช่องทางที่เป็นความลับให้แรงงานข้ามชาติร้องเรียนได้ ส่วนงานวิจัยอุตสาหกรรมประมงไทยเสนอยกเลิกค่าธรรมเนียมและตั้งตู้ ATM ในบริเวณท่าเรือประมง-เพิ่มภาษาเวียดนามในตู้  ATM-บังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขจัดปัญหาการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม การยึดเงินค่าจ้าง การยึดเอกสาร และการจ่ายเงินล่วงหน้า ที่มาภาพ: UNDP/ILO

จากรายงาน What’s the incentive? Comparing regular and irregular migrant work experiences from Lao People’s Democratic Republic to Thailand เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. 2561 เป็นงานศึกษาวิจัยของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศนอร์เวย์และองค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency) ผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-ACT)  

งานวิจัยฉบับนี้สัมภาษณ์แรงงานลาวย้ายถิ่นจำนวน 259 คน ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. 2558 ที่ประเทศลาว หลังจากที่พวกเขาเดินทางกลับจากการทำงานในประเทศไทย การสัมภาษณ์ประกอบไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการจดทะเบียนและแรงงานข้ามชาติที่ไม่ผ่านการจดทะเบียนในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเอื้อต่อการเปรียบเทียบประสบการณ์การทำงานระหว่างสองกลุ่ม มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

แรงงานจดทะเบียนแฮปปี้กว่า ส่งเงินกลับบ้านมากกว่าทำงานในประเทศ 2 เท่า

ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานทั้งสองกลุ่มในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 6,600-6,900 บาท/เดือน (ตัวเลขเมื่อปี 2558) แรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนจะต้องทำงานหนักเกือบ 4 เท่าของแรงงานจดทะเบียนเพื่อที่จะได้รับค่าแรงที่ไม่ต่างกันมาก เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ทำงานของแรงงานทั้งสองประเภท ปรากฏว่าแรงงานจดทะเบียนมีความสุขกับการทำงานและการใช้ชีวิตในประเทศไทยมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ชั่วโมงการทำงานของแรงงานจดทะเบียนถูกต้องจะต่ำว่าแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานจดทะเบียนจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องทำงานถึงวันละ 9-18 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานแบบไม่มีวันหยุด ที่มา: รายงาน What’s the incentive? Comparing regular and irregular migrant work experiences from Lao People’s Democratic Republic to Thailand

แรงงานที่จดทะเบียนส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศต้นทางมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียน ในกลุ่มของแรงงานจดทะเบียนเอง จำนวนเฉลี่ยของเงินที่ส่งกลับบ้านนั้นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนเงินที่พวกเขาจะได้ ถ้าพวกเขายังทำงานอยู่ที่ประเทศของพวกเขาเองอีกด้วย

แรงงานจดทะเบียนและแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนยอมรับว่า พวกเขาต้องเจอกับความท้าทายหลากหลายในการที่พวกเขามาเป็นแรงงานย้ายถิ่นในประเทศไทย (แต่ในงานศึกษานี้พบแรงงานย้ายถิ่นเกือบทุกคนยกเว้นแรงงานที่จดทะเบียน 2 คน) เช่น โดนนายจ้างยึดเอกสารการเดินทาง อีกทั้ง 1 ใน 3 ของแรงงานระบุว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเอกสารประจำตัวและเอกสารการเดินทางแม้ว่าพวกเขาจะต้องการก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้เมื่ออ้างถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน มากกว่าร้อยละ 10 ของทั้งแรงงานจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนให้ข้อมูลว่าพวกเขาต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่แย่หรือแย่มาก

ปัญหาการเข้าถึงเอกสาร-การทำสัญญาของแรงงานจดทะเบียน

แม้จะมีเอกสารถูกต้อง แต่แรงงานส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำสัญญาการจ้างงานและได้รับสำเนาสัญญาจ้าง ที่มาภาพ: UNDP/ILO

จำนวนร้อยละ 89 ของแรงงานย้ายถิ่นที่ผ่านการจดทะเบียนเปิดเผยว่า พวกเขาได้ทำสัญญาการจ้างงานกับบริษัทจัดหางาน แต่ 2ใน 3 ของแรงงานนั้นไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่เข้าใจในตัวสัญญาดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียงร้อยละ 40 ของแรงงานที่ทำสัญญาการจ้างงานได้รับสำเนาของสัญญาจ้าง และไม่มีแรงงานคนใดได้ลงชื่อทำสัญญากับนายจ้างเมื่อถึงสถานที่ทำงาน นอกจากนี้พบว่าแรงงานจดทะเบียนต้องรอโดยเฉลี่ย 122 วันนับจากวันที่ทำสัญญากับบริษัทจัดหางาน ก่อนที่พวกเขาจะสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้ โดยร้อยละ 20 ของแรงงานต้องรอถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ การต้องรอนานอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การย้ายถิ่นมาเป็นแรงงานจดทะเบียนกลายเป็นช่องทางที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการเดินทางเข้าเมืองแบบไม่ผ่านการจดทะเบียน

รายงานฉบับนี้ยังได้แนะนำให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อการตรวจสอบสภาพการทำงาน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการร้องเรียนและการตรวจสอบแรงงาน โดยผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่จะร้องเรียนนั้นยังมีไม่เพียงพอ การที่จะทำให้สภาพการทำงานดีขึ้นได้นั้น แรงงานย้ายถิ่นต้องมีช่องทางที่เป็นความลับและปลอดภัยในการร้องเรียนการล่วงละเมิดหรือการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งจะทำให้แรงงานไม่ต้องเกรงกลัวต่อผลจากการร้องเรียนเมื่อพวกเขาถูกละเมิดสิทธิต่างๆ

งานวิจัยเจาะลึกการจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แรงงานต่างชาติ

ปัจจุบันพบว่าแรงงานต่างชาติหลายพันคนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเริ่มมีความคุ้นเคยกับระบบการจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารแล้ว โดยค่าจ้างถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวที่มีบัตร ATM ที่มาภาพ: รายงาน 'Moving to Electronic Payment in the Thai Fishing Industry'

ในรายงาน 'Moving to Electronic Payment in the Thai Fishing Industry' เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. 2561 โดยวนิก มโนมัยพิบูลย์ ที่ปรึกษาภายนอกของ ILO, ชนนิกานต์ โภชนกิจ และ Jason Judd จากโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอแนะสำหรับการเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบการจ่ายเงินสด เป็นการจ่ายค่าจ้างผ่านทางธนาคารและระบบการจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ในภาคประมง โดยการสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลจากภาครัฐ นายจ้าง คนงาน และผู้ให้บริการทางการเงิน ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX) เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทย ได้แก่ ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญ, เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลการคุ้มครองค่าจ้างในภาคการประมงและแปรรูปอาหารทะเล, ผู้ประกอบกิจการเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และคนงานประมงและแปรรูปอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง

จากการสัมภาษณ์และบริบททางสังคมของแรงงานข้ามชาติทำให้ทราบว่า ความรู้ทางการเงินและช่องทางเข้าถึงระบบธนาคารมีอยู่ค่อนข้างต่ำในแรงงานพม่าและกัมพูชา และมีความเข้าใจกันทั่วไปว่าธนาคารและนายจ้างเชื่อถือไม่ได้ มีความเชื่อว่าภาครัฐหรือนายจ้างสามารถร่วมมือกับธนาคารยึดเงินที่ฝากในบัญชีได้ หรือว่าเงินฝากสามารถหายไปหรือถูกหักโดยธนาคารโดยไม่ต้องมีคำอธิบายชัดเจน อุปสรรคทางภาษาของผู้ให้บริการของไทยและภาพลักษณ์ของพนักงานธนาคาร อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในระบบการเงิน ด้วยการขาดประสบการณ์ในการใช้บริการธนาคาร คนงานจึงเลือกที่จะรับค่าจ้างเป็นเงินสดและเก็บเงินสดไว้กับตัวเองมากกว่านำไปฝากธนาคาร

การจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดให้กับแรงงานต่างชาติในปัจจุบัน

ในรายงานระบุว่า สำหรับคนงานบนเรือประมง การจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดเป็นแนวปฏิบัติทั่วไป ซึ่งระบบบัญชีที่เจ้าของเรือใช้มีแตกต่างกันไปแต่การบันทึกข้อมูลในบางกรณียังคงใช้กระดาษและจดบันทึกด้วยมือ มีแรงงานประมงส่วนน้อยที่ได้รับเงินค่าจ้างผ่านระบบและได้รับใบเสร็จ รับเงินรายเดือนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดมีการจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้คนงานประมงก่อนล่วงหน้า แรงงานต่างชาติถือเงินสดไว้กับตัวและเจ้าของเรือหรือนายเรือหรือ ‘ซิ้ว’ ควบคุมการแจกจ่ายและการจ่ายค่าจ้างเป็นงวดๆ การปฏิบัติเช่นนี้สามารถนำไปสู่การกักค่าจ้างและแรงงานขัดหนี้ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายไทยและเป็นตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงาน

ปัจจุบัน การออกทะเลเพื่อทำการประมงมีระยะเวลาสั้นเพียง 2-3 วันไปจนถึง 3 สัปดาห์ เรือประมงขนาดเล็ก-กลางที่ทำการประมงในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยตามการสำรวจครั้งนี้ มีจำนวนวันทำงานบนเรือเฉลี่ย 20 วันต่อการออกทะเลหนึ่งครั้ง และค่าจ้างฐานรายเดือน 15,000 บาท (การจ่ายเงินค่าจ้างแก่แรงงานประมงนั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 8,630 ต่อเดือน ก่อนการโดนหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อ้างอิงจากผลวิจัยเส้นฐานในปี 2017 ) การจ่ายค่าจ้างให้กับคนงานประมงที่ออกทะเลระยะสั้นมีบ่อยครั้งขึ้น แต่สามารถสร้างความสับสนหรือการโกงค่าจ้างได้

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของเรือระบุว่าตนจ่ายเงินก้อนร้อยละ 50 ของค่าจ้างสำหรับเดือนนั้นไว้กับนายเรือ นายเรือจะจ่ายค่าจ้างบางส่วนให้คนงานประมงโดยให้ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นหลักฐานของการรับเงิน (เอกสารการจ่าย-รับเงินอาจตรงหรือไม่ตรงตามจริงก็ได้) ที่เหลือร้อยละ 50 จะถูกเก็บไว้และจ่ายเป็นก้อนในภายหลังเป็นเวลา 6-10 เดือน หรืออีกวิธีหนึ่งคือเจ้าของเรือระบุว่าตนจ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 ของแต่ละเดือนให้กับคนงานประมงโดยตรงที่สำนักงานโดยไม่ผ่านนายหน้า ซึ่งในการตรวจแรงงานที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ส่วนใหญ่ไม่มีการสอบทานยืนยันการจ่ายจริงจากแหล่งที่พิสูจน์ยืนยันได้ เช่น เอกสารรายงานของธนาคาร การบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินและการจ้างงานมีการจัดการดูแลโดยบุคคล ใช้เอกสารกระดาษซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้กับการปลอมแปลงเอกสารสำหรับแสดงต่อผู้ตรวจได้

ทั้งนี้ พบว่าการจ่ายเงินสดไม่สามารถทำให้มีความโปร่งใสได้และเป็นอุปสรรคต่อการจ่ายเงินค่าจ้างแรงงานอย่างเป็นธรรม การละเมิดที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การละเมิดค่าจ้างขั้นต่ำ/การโกงค่าจ้าง, การกักค่าจ้าง, แรงงานขัดหนี้, การหักค่าจ้างอย่างผิดกฎหมาย, การฉวยประโยชน์จากภาวะเปราะบางของคนงาน, การหลอกลวง, เอกสารการจ่ายค่าจ้างปลอมและการหลอกลวงเจ้าหน้าที่รัฐ, ไม่มีบันทึกการจ่ายค่าจ้างสำหรับคนงานในภาษาไทยหรือภาษาของคนงาน เป็นต้น

ระบบการจ่ายค่าจ้างอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันพบว่า แรงงานข้ามชาติหลายพันคนในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลมีความคุ้นเคยกับระบบการจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคารแล้ว โดยค่าจ้างถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวที่มีบัตร ATM อย่างไรก็ตามคนงานส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์ในการศึกษานี้ระบุว่า ตนยังคงเบิกถอนเงินออกมาทั้งหมดในวันจ่ายค่าจ้างและใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยทุกอย่าง ช่องทางเข้าถึงระบบการเงินและการเปิดบัญชีธนาคารไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการระบบจ่ายค่าจ้างอิเล็กทรอนิกส์สำหรับคนงานเหล่านี้

ปัจจุบันมีจุดบริการ ATM 85 เครื่องที่ติดตั้งใกล้บริเวณศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ทั่วประเทศ ที่มาภาพ: รายงาน 'Moving to Electronic Payment in the Thai Fishing Industry'

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 ระบุว่า ทั้งประเทศมีเครื่องเบิกจ่ายเงินอัตโนมัติ หรือ  ATM มากกว่า 63,400 เครื่อง กว่า 12,000 เครื่องอยู่ในต่างจังหวัด และมี 85 เครื่องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก 32 แห่ง โดยมีท่าเรือเพียง 6 แห่งที่ไม่มีเครื่อง ATM ใกล้ศูนย์ดังกล่าว นอกจากนี้กว่าร้อยละ 80 ของเครื่อง ATM ของธนาคารหลักมีบริการภาษาต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษและพม่า คนงานประมงสามารถรับการแจ้งเตือนทาง SMS เพื่อทราบความเคลื่อนไหวในบัญชีของตน และตรวจสอบเงินเข้าและยอดเงินในบัญชีได้ ทั้งนี้ ATM เป็นช่องทางสำคัญสำหรับคนทั่วไปในการทำธุรกรรม และฝาก/ถอนเงินเข้า-ออกจากบัญชี ATM มีความสามารถไม่เพียงแต่ถอน/ฝากเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้โอนเงินในประเทศและชำระค่าค่าสาธารณูปโภคบางอย่างได้อีกด้วย

สำหรับการจ่ายค่าจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันพบว่า มีการจ่ายค่าจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคนงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล หลังจากเสร็จสิ้นการจัดทำเอกสารยื่นจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแล้ว บริษัทก็จะให้คนงานเปิดบัญชีธนาคารด้วยตนเองที่สาขาของธนาคารใกล้โรงงานโดยคนงานต้องฝากเงินเริ่มต้น 500-800 บาท ธนาคารบางแห่งเก็บค่าธรรมเนียมในการดูแลรักษาบัญชีและค่าบัตรเอทีเอ็มซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปกติสำหรับลูกค้ารายย่อย บางธนาคารมีบริการถึงที่เพื่อสะดวกต่อการรวบรวมเอกสารและตรวจสอบตัวบุคคลที่เปิดบัญชี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างของบริษัทขนาดใหญ่ จำนวนเงินฝากและค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ต่อรองกันได้โดยขึ้นกับการพิจารณาของธนาคาร

ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการยื่นเอกสารเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร แต่ก็เกือบจะเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ใช้ในการยื่นจดทะเบียนการจ้างงาน มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะประสานงานในเรื่องการจดทะเบียนของกระทรวงแรงงานและการเปิดบัญชีให้สามารถทำได้ในคราวเดียวกันเพื่อช่วยลดการฝืนต้านจากเจ้าของเรือ ซึ่งการจ่ายค่าจ้างนายจ้างจัดทำไฟล์ข้อมูลค่าจ้างและส่งไฟล์ด้วยธัมบ์ไดรฟ์พกพาหรืออัพโหลดผ่านเว็บท่าของธนาคาร 1-2 วันก่อนวันจ่าย นายจ้างจะต้องมีเงินในจำนวนที่พอเพียงสำหรับการจ่ายก่อนถึงวันจ่าย นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันจ่าย

การส่งข้อมูลการจ่ายค่าจ้างสามารถกระทำได้ทุกเมื่อ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนงวดการจ่ายในแต่ละเดือนและสามารถรองรับการจ้างงานเฉพาะกิจหรือการจ่ายพิเศษได้ ระบบสามารถทำการแจ้งเตือนผู้รับเงินได้โดยทันที การสอบทานยอดบัญชีและการจัดการเรื่องภาษีจะใช้เวลาน้อยลงมากเมื่อดำเนินการผ่านระบบดังกล่าว ธนาคารจะประมวลข้อมูลการจ่ายและโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของลูกจ้างตามรายการในวันจ่ายเงิน ค่าจ้างจะถูกโอนเข้าบัญชีของคนงานโดยตรงโดยมีการหักเงินสำหรับการสมทบกองทุนประกันสังคม โดยทั่วไปคนงานจะถอนเงินออกมาทันทีในวันจ่ายด้วยบัตร ATM และเก็บเงินสดไว้กับตัวหรือไม่ก็ส่งไปให้ครอบครัวผ่านนายหน้า

ทั้งนี้ พบว่าค่าธรรมเนียมในการจ่ายค่าจ้างที่มีการโอนเงินภายในธนาคารเดียวกัน (พบมากที่สุด) ต้นทุนของธนาคารคือค่าดำเนินการซึ่งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 10-15 บาทสำหรับนายจ้าง (การจ่ายข้ามธนาคารแพงกว่าและเป็นที่นิยมน้อยกว่าสำหรับนายจ้าง) ถึงแม้ว่าระบบนี้อาจดูมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับการจ่ายเป็นเงินสด แต่กระนั้นระบบการจ่ายค่าจ้างผ่านธนาคารจะช่วยประหยัดเงินจากค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่เกิดจากการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบเงินสดราว 40 บาท ต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง

เสนอบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขจัดปัญหาการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม

ปัจจุบันตู้ ATM ของหลายธนาคารมีทั้งภาษาลาว พม่า และกัมพูชาแล้ว ที่มาภาพ: ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ในการศึกษาครั้งนี้ด้สรุปข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการจ่ายค่าจ้างอิเล็กทรอนิกส์ในภาคการประมง และสามารถนำไปปรับใช้ได้กับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยที่ยังมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสด โดยเสนอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขจัดปัญหาการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม การยึดเงินค่าจ้าง การยึดเอกสาร และการจ่ายเงินล่วงหน้า, ปรับปรุงและแปลแบบสัญญาจ้างสำหรับคนงานประมงเป็นภาษาอังกฤษ พม่า และกัมพูชา โดยมีการจัดเวิร์คช็อปข้างท่าเรือ (ศปมผ. กระทรวงแรงงาน กรมประมง) ให้กับเจ้าของเรือและพนักงานบัญชี/การเงินเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการจ่ายค่าจ้าง, จัดรณรงค์ให้ความรู้แก่คนงานประมง (โดยอิสระและองค์กรแรงงาน) โดยใช้วีดิโอและแผ่นพับเกี่ยวกับบัญชีธนาคารและการใช้เครื่อง ATM, พิจารณาอนุญาตให้ธนาคารเปิดบัญชีใหม่ให้คนงานที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก/กรมประมง/กระทรวงแรงงาน และให้มีการขยายรูปแบบการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมภาคธุรกิจอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้เจ้าของเรือและองค์กรนายจ้างเลือกเตรียมการสมัครใช้บริการจ่ายค่าจ้างอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร เพื่อให้การจ่ายค่าจ้างดำเนินการและโอนทางธนาคาร, จัดการให้คนงานประมงทั้งหมดเปิดบัญชีในชื่อของตัวเอง ธนาคารสามารถสนับสนุนการเปิดบัญชีใหม่ได้ด้วยการส่งเสริมการขายที่เป็นการลดค่าธรรมเนียมและเงินฝากเริ่มต้น ตลอดจนให้บริการเปิดบัญชีใหม่ตามที่ต่างๆ เช่น ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก, มีการรวบรวมและจัดการข้อมูลตามรูปแบบออนไลน์/เอ็กเซล ที่กำหนดโดยธนาคาร ซึ่งอย่างน้อยมีข้อมูลประกอบด้วย หมายเลขอ้างอิงของบริษัทและลูกจ้าง หมายเลขบัญชีของผู้จ่าย ชื่อและหมายเลขบัญชีของผู้รับ จำนวนเงิน และวันที่จ่ายค่าจ้าง

เสนอให้ธนาคารเพิ่มจำนวนเครื่อง ATM เพื่อให้แน่ใจว่าคนงานสามารถเข้าถึงบริการ ATM ได้โดยทันทีในบริเวณศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก จัดการให้บริการเอทีเอ็มและเอกสารธนาคารที่สำคัญมีในภาษาพม่าและกัมพูชาทั่วประเทศไทย มีการเตรียมการสอนและติดตั้งระบบจ่ายค่าจ้างให้กับกิจการขนาดเล็กหลายพันรายในจังหวัดชายฝั่ง เตรียมพนักงานธนาคารสาขาจังหวัดชายฝั่งและศูนย์บริการในการปฏิสัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติ และหาพนักงานที่พูดภาษาพม่าและกัมพูชา รวมทั้งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม ATM และอื่นๆ สำหรับคนงานประมงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจเกิดจากความไม่คุ้นเคยของคนงานประมงกับบัญชีและ ATM และการที่เจ้าของเรือเดินทางไปมาและใช้ท่าเรือหลายที่

ท้ายสุด งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอให้องค์กรแรงงานจัดรณรงค์ให้ความรู้แก่คนงานประมงในเรื่องบัญชีธนาคาร การใช้ ATM และมีการเตรียมเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือคนงานจัดการปัญหาเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร เช่น เรื่องอุปสรรคทางภาษาในการติดต่อกับพนักงานธนาคารด้วย

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: