จับตา: การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ต.ค. 2561 | อ่านแล้ว 7361 ครั้ง


ส่วนใหญ่แล้วพบว่า ‘นายหน้าโอนเงินที่ไม่ได้จดทะเบียน’ เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในการส่งเงินกลับไปแรงงานเพื่อนบ้านจากพม่าและกัมพูชา แต่ปัจจุบันการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งทางธนาคาร, บริการของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และแอปพลิเคชั่นต่างๆ ภาพประกอบ: บริการโอนเงินข้ามประเทศของ True Money

ข้อมูลจากรายงาน 'Moving to Electronic Payment in the Thai Fishing Industry' (เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. 2561) โดยวนิก มโนมัยพิบูลย์ ที่ปรึกษาภายนอกของ ILO, ชนนิกานต์ โภชนกิจ และ Jason Judd จากโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอแนะสำหรับการเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบการจ่ายเงินสดเป็นการจ่ายค่าจ้างผ่านทางธนาคารและระบบการจ่ายค่าจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์ในภาคประมง โดยการสัมภาษณ์รวบรวมข้อมูลจากภาครัฐ นายจ้าง คนงาน และผู้ให้บริการทางการเงิน ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (National ITMX) เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทย ได้แก่ ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญ, เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลการคุ้มครองค่าจ้างในภาคการประมงและแปรรูปอาหารทะเล, ผู้ประกอบกิจการเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลในสมุทรสาครและระยอง และคนงานประมงและแปรรูปอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง ได้ระบุถึงประเด็นการส่งเงินกลับประเทศต้นทางไว้ดังนี้

แรงงานข้ามชาติจากพม่าและกัมพูชาในประเทศไทยเคยชินกับการส่งเงินกลับบ้านเป็นเงินสดมากกว่าใช้บริการธนาคารหรือการโอนแบบดิจิตัล ทั้งนี้การเข้าถึงธนาคารที่บ้านและบริบททางสังคมและชุมชนต่างๆ เป็นปัจจัยกำหนดการปฏิบัติเช่นนั้น ชาวพม่าและกัมพูชามักมาทำงานในไทยกันเป็นกลุ่มเพื่อนและคนในครอบครัวจากหมู่บ้านหรือพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงโดยมีการจัดการเรื่องการจ้างงานโดยนายหน้าท้องถิ่นเจ้าเดียวกัน บางครั้งก็ได้งานจากการแนะนำของเพื่อนหรือญาติ ดังนั้นพวกเขาจึงเกาะกลุ่มกันเป็นชุมชนเล็กๆ ที่เชื่อถือไว้วางใจกัน การอาศัยเพื่อน ญาติ และนายหน้าจากหมู่บ้าน/พื้นที่เดียวกันน่าจะยังคงเป็นหนทางหลักที่คนงานใช้ในการส่งเงินให้กับครอบครัวในประเทศบ้านเกิดอยู่ต่อไป

ทั้งนี้พบว่า ‘นายหน้าโอนเงินที่ไม่ได้จดทะเบียน’ เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุดในการส่งเงินกลับไปพม่าและกัมพูชา ค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำและมักแฝงอยู่ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่นายหน้ากำหนดค่าโอนโดยทั่วไปคือ 10-15 บาทต่อ 2,500 บาท นายหน้าให้บริการถึงที่โดยไปรับเงินถึงที่ทำงานหรือที่พัก หรือมีที่ทำการตามตลาดและพื้นที่ชุมชนที่เข้าถึงง่าย และโอนเงินผ่านธนาคาร/ATM ไปยังนายหน้าที่อยู่ใกล้พรมแดนไทย-พม่าหรือกัมพูชา นายหน้าที่รับเงินในประเทศบ้านเกิดของคนงานมักจะนำเงินไปส่งถึงบ้านหรือมีที่ทำการในหมู่บ้านหรือเมืองใกล้เคียง

ส่วน ‘การฝากเงินสดไปกับผู้อื่น’ ก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในการส่งเงินกลับคือให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวถือเงินสดกลับไปส่งให้ครอบครัวที่หมู่บ้านโดยตรงโดยมีค่าจ้างเล็กน้อย เนื่องจากว่าคนงานมาทำงานกันเป็นกลุ่มและมักมาจากหมู่บ้านหรือพื้นที่เดียวกัน คนงานจะผลัดกันกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านและถือเงินกลับไปด้วย วิธีนี้เหมาะกว่าสำหรับพื้นที่ชนบทที่มีความยากลำบากในการเข้าเมืองที่มีธนาคารหรือนายหน้าโอนเงิน

การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันพบว่าเครือข่ายบริการธนาคารทางมือถือมีการใช้กันและได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางในพม่าและกัมพูชา แต่เครือข่ายธนาคารไทยยังไม่มีการเชื่อมต่อดีพอกับเครือข่ายในประเทศต้นทาง ร้อยละ 92 ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมาจากพม่าและกัมพูชา โดยร้อยละ 73 มีอายุ 16-35 ปี รวมแรงงานข้ามชาติส่วนที่อายุน้อยแสดงการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางมือถือมากกว่า สัดส่วนของแรงงานข้ามชาติที่มีสมาร์ทโฟนใช้งานเพิ่มจากเพียงร้อยละ 10 เมื่อ 5 ปีก่อนขึ้นมาเป็นร้อยละ 60 ในปี 2559 การใช้บริการธนาคาร, E-Wallet, ATM และการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นถึง ร้อยละ 76 จากผลการวิจัยเส้นฐานในปี 2561 นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ E-Wallet, E-Banking และการทำธุรกรรมต่างๆ โดยจำนวนแรงงานที่จดทะเบียนกับกรมจัดหางานในเดือน ธ.ค. 2560 นั้นมีจำนวนทั้งหมด 2,062,807 คน (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน)

เครือข่ายบริการธนาคารทางมือถือ ‘True Money’ เป็นหน่วยหนึ่งของ Ascend (และกลุ่มอาลีบาบา) ที่ให้บริการในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนงานสามารถไปหานายหน้า True Money ที่อยู่ตามตลาดใกล้ท่าเรือหรือโรงงาน และโอนเงินให้ผู้รับในพม่าและกัมพูชาผ่านเครือข่ายธนาคารทางมือถือ ผู้รับจะได้รับรหัสและต้องนำเอกสารแสดงตนไปรับเงินกับนายหน้า True Money ตามเมืองใหญ่ๆ ในพม่าและกัมพูชา ปัจจุบันมีนายหน้า 6,000 รายในพม่าและ 5,000 รายในกัมพูชา นอกจากนี้ True Money ยังมีบัตรเติมเงินที่ใช้งานได้แบบบัตร ATM และบัตรเครดิต และสามารถใช้ได้ในหลายพื้นที่และใช้ซื้อสินค้าหรือชำระเงินทางออนไลน์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำและมีพื้นที่บริการจำนวนมาก วิธีการโอนเงินนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่แรงงานข้ามชาติอายุน้อยและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ส่วนธนาคารกสิกรได้จับมือกับ Wing ของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2558 และเจ้าของบัญชีกสิกรสามารถโอนเงินเข้าบัญชี Wing  ในกัมพูชาผ่านบริการทางมือถือและสาขาธนาคารของกสิกร แต่ก็ยังมีคนใช้ไม่มาก เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่อยู่ใกล้พรมแดนไทย-กัมพูชามากกว่าและสะดวกมากกว่าที่จะถอนเงินจากเครื่อง ATM ของไทยแล้วถือข้ามพรมแดนกลับประเทศ พื้นที่ให้บริการที่กว้างขวางขึ้นและเข้าถึงสะดวกมากขึ้นในกัมพูชา ตลอดจนการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ส่งและบันทึกการทำธุรกรรมสามารถทำให้ทางเลือกนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นได้

ส่วนทางเลือกสำหรับการส่งเงินทางมือถือในอนาคตที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาคือ WechatPay, AliPay, และ Deeppocket (ไทย) ที่จับมือกับ City Mart Holding ในพม่า

ผู้ให้บริการโอนเงินบางธนาคารดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการโอนเงินอย่างเช่น Western Union หรือ Moneygram ผู้ให้บริการเหล่านี้จะมีจุดให้บริการตามสถานที่สำคัญๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ตลอดจนใช้สาขาของธนาคารเป็นจุดให้บริการ ในประเทศไทย Western Union มีจุดให้บริการ 6,356 จุดและ Moneygram มี 2,835 จุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีจุดให้บริการที่ตั้งเป็นสาขาเดี่ยวๆ ในสมุทรสาครหรือระยองซึ่งเป็นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานในภาคการประมงอย่างหนาแน่นในพม่า Western Union มีนายหน้าแค่ 491 รายเท่านั้นและมันนี่แกรมเพิ่งขยายไปได้ 12 จุด มีธนาคารไทยอย่างน้อยหนึ่งรายที่มีระบบโอนเงินออนไลน์ร่วมกับ Western Union แต่ทางเลือกเหล่านี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรบแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและดังนั้นจึงแทบไม่มีใครใช้

การโอนผ่านธนาคาร ธนาคารทุกแห่งมีบริการโอนเงินข้ามประเทศผ่านเครือข่ายของตนเองและเครือข่ายระหว่างประเทศเช่น SWIFT โดยมีค่าธรรมเนียมต่างกันไป วิธีนี้มีการดำเนินธุรกรรมน้อยมากเนื่องจากผู้ส่งและผู้รับต้องมีบัญชีไว้อยู่แล้ว โดยทั่วไป วิธีนี้ใช้เวลาและค่อนข้างแพง ธนาคารกสิกรเพิ่งเปิดตัวบัตร Thai-Myanmar Remit Card ที่สามารถโอนเงินจากเครื่อง ATM ของธนาคารกสิกรในไทยไปยังเครื่อง ATM ของธนาคาร Kanbowzaในพม่าได้ ซึ่งจะช่วยลดการต้องใช้เอกสารและการใช้เครื่อง ATM ยังเป็นการง่ายกว่าอีกด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: