กรมทางหลวง เข้าไปดำเนินการรื้อย้ายทางรถไฟเดิม เพื่อถมคันดินในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ช่วงแรก 3.5 กิโลเมตร ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่านายธานินท์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่าหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ทำพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา 253 กิโลเมตร ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ซึ่งกรมทางหลวง เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างช่วงที่ 1 สถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ขณะนี้กรมทางหลวงได้ดำเนินการรื้อย้ายแนวรางรถไฟเดิมประมาณ 700 เมตร เพื่อดำเนินการปูแผ่นรองพื้น ซึ่งหลังเทศกาลปีใหม่จะดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีความพร้อมทั้งเครื่องจักรและบุคคลากรในการดำเนินโครงการดังกล่าวตามที่ได้รับผิดชอบจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงได้จัดตั้งคณะทำงาน 5 ชุด เพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานพิเศษเฉพาะกิจ โดยรวบรวมบุคลากร 100 คนมาก่อสร้าง โดยคณะทำงานแรกเป็นด้านตรวจสอบวัสดุงานทาง คณะทำงานที่ 2 บริหารก่อสร้างโครงการก่อสร้างพิเศษร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะทำงานที่ 3 ดำเนินการด้านสำรวจและออกแบบ คณะทำงานที่ 4 จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมทางหลวงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะที่ 5 ทำงานด้านการก่อสร้าง
สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับงานก่อสร้างถนนที่กรมทางหลวงดำเนินการ โดยจะเป็นงานถมคันทางสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 12 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 3 ช่องจราจร ตลอดระยะทาง 3.5 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งกรมจะเร่งงานก่อสร้าง เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังเริ่มดำเนินการก่อสร้าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ