กรมธุรกิจพลังงานชี้ธุรกิจ 'ปั๊ม LPG-NGV' อนาคตไม่รุ่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 4697 ครั้ง

กรมธุรกิจพลังงานชี้ธุรกิจ 'ปั๊ม LPG-NGV' อนาคตไม่รุ่ง

กรมธุรกิจพลังงานชี้ธุรกิจปั๊มก๊าซ LPG และ NGV อนาคตไม่รุ่ง นับตั้งแต่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลง และประชาชนผู้ใช้รถเปลี่ยนจากก๊าซหันไปใช้น้ำมันแทน และภาครัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนด้านราคาก๊าซภาคขนส่ง โดยปล่อยให้สะท้อนตามกลไกต้นทุนตลาด โดยจำนวนรถติดตั้ง LPG ลดลง 7.7% เหลือ 1.82 ล้านคัน ในขณะที่รถยนติดตั้ง NGV ลดลง 3.1% เหลือ 3.8 แสนคัน ในขณะที่ผู้ประกอบการทะยอยขายกิจการ ที่มาภาพประกอบ: bangchak.co.th

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561 ว่านางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าสถานการณ์ธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และ LPG ภาคขนส่งมีแนวโน้มที่แย่ลงมาโดยตลอด นับตั้งแต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ต่ำสุดที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากที่เคยสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนโยบายรัฐบาลประกาศชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนด้านราคาสำหรับ LPG ภาคขนส่ง โดยปล่อยให้ราคาสะท้อนตามกลไกต้นทุนตลาดโลกทำให้ประชาชนผู้ใช้รถเปลี่ยนจากการติดตั้งก๊าซมาใช้น้ำมันแทนทั้งในกลุ่มเบนซินและดีเซล ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลสถิติที่ปรากฎ

โดยปัจจุบันจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้ง LPG เหลือ 1.82 ล้านคัน ลดลง 7.7% จากช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ส่วนรถยนต์ที่ติดตั้ง NGV เหลืออยู่ 387,792 คัน หรือลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ขณะที่จำนวนปั๊ม LPG ปัจจุบันเหลืออยู่ 2,082 แห่ง ลดลง 11 ปั๊ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสแรกปี 2560 ส่วนปั๊ม NGV ปัจจุบันอยู่ที่ 461 แห่ง ลดลง 1 แห่งจากช่วงเดียวกันของไตรมาสแรกปี 2560

สำหรับภาพรวมการใช้ LPG ไตรมาสแรกของปี 2561 อยู่ที่ 17.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วนยกเว้นภาคขนส่ง โดยภาคขนส่งมีการใช้อยู่ที่ 3.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงถึง 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันไตรมาสแรกของปีก่อน โดยการใช้ NGV ลดลงต่อเนื่องจากรคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ทำให้ประชาชนและกลุ่มรถบรรทุกสินค้าหันมาใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ปั๊ม NGV ทยอยปิดตัวลง ประกอบกับรถยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ใช้ NGV ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับปี 2561

ทั้งนี้ผู้ประกอบการปั๊ม LPG และ NGV ต่างเริ่มทะยอยปรับตัวเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะปั๊มที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองซึ่งที่ดินมีราคาแพงก็มีการขายที่ดินที่เคยเป็นปั๊มพัฒนาเป็นตึกสูงหรือคอนโดมิเนียม ส่วนปั๊มที่เหลืออยู่ก็เป็นการทำธุรกิจเพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้ง LPG และ NGV อยู่แล้ว บางส่วนก็ปรับมาจำหน่ายน้ำมันควบคู่กับก๊าซหรือเพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ เสริมเข้ามา

ส่วนสถานการณ์การใช้น้ำมันของไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.2561) พบว่าการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B7) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67.0 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 3.9% ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.6% (อ้างอิงข้อมูลกรมการขนส่งทางบก) ซึ่งเดือน มี.ค. 2561 เป็นเดือนที่มีการใช้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตรต่อวัน มีปัจจัยหลักมาจากการขนส่งและการเร่งทำงานให้แล้วเสร็จ ก่อนเตรียมตัวหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงขึ้นจากต้นปี 2561 มากนัก

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 30.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 91 โดยน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.4% และแก๊สโซฮอล์ 91 มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 10.4 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นอัตราลดลง 3.8%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: