สำนักงานกิจการยุติธรรม เร่งเผยแพร่ความรู้กฎหมาย หลังความรุนแรงในครอบครัวช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2561 พุ่ง 83.6% ผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย 5 คนต่อวัน แนะวิธีป้องกัน-เพื่อนบ้านผู้เห็นเหตุการณ์ไม่ควรนิ่งเฉย ต้องแจ้งความระงับเหตุ ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2561 ว่าจากสถานการณ์การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม. จึงได้จัดทำสื่ออินโฟกราฟฟิคเผยแพร่ความรู้ทั่วไปทางกฎหมายให้แก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นเตือนว่า บ้านไม่ใช่เวทีมวย! เราจึงต้องช่วยหยุดความรุนแรง : รู้หรือไม่? "ความรุนแรงในครอบครัว" เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยสถิติในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน
สำหรับความรุนแรงในครอบครัว คือการทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหงให้กระทำความผิด ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพแวดล้อมไม่ดี ติดการพนัน ทะเลาะวิวาท ติดสุรา ยาเสพติด และมีความเครียดทางเศรษฐกิจ โดยบุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกขาย
สำนักงานกิจการยุติธรรม มีข้อแนะนำถึงวิธีการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ไว้ดังนี้ไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความภาคภูมิใจในครอบครัว พูดคุยด้วยความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีต่อกัน และเคารพในสิทธิของความเป็นคน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องพบเจอกับความรุนแรง ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง แจ้งความให้ตำรวจเข้าดำเนินการ ในหลายเหตุการณ์ที่เพื่อนบ้านรู้แต่ไม่กล้าที่จะไปแจ้งความเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของผัวเมียอย่าไปยุ่ง จนทำให้คนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ถูกกระทำ ต้องทนเห็นและอยู่กับความรุนแรงเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาและผู้ถูกกระทำหลายคนไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งพาใครได้บ้าง ดังนั้นผู้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาช่วยเหลือ เข้าห้ามปรามให้หยุดทำความรุนแรง เมื่อพบว่าเหยื่อบาดเจ็บต้องพาไปโรงพยาบาล แนะนำให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงรู้ถึงสิทธิในการขำคำปรึกษาจากแพทย์ หน่วยงานของรัฐ หรือขอรับความคุ้มครองทางสวัสดิภาพ และค่าเสียหายอื่นๆ เป็นธรรมดาของชีวิตคู่มีทะเลาะกันบ้าง แต่ถ้าถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษไว้หลายระดับ ตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้นโดยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 กำหนดให้ผู้กระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บทลงโทษตามกฎหมายไม่ใช่ทางออก การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องปรับจิตสำนึก สร้างความรักความอบอุ่นกับคนในครอบครัว เมื่อมีปัญหาจะต้องหาทางแก้ด้วยเหตุและผล เพราะหากใช้กำลังเมื่อใด ความเจ็บไม่ได้เกิดขึ้นกับร่างกายเท่านั้น แต่ส่งผลกับจิตใจที่เป็นรอยร้าวที่ยากจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมคนรุ่นใหม่ควรใช้สมองมากกว่ากำลัง หยุดความรุนแรงในบ้านและครอบครัว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ