กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา ให้ทบทวนโทษการประพฤติจรรยาบรรณให้ทันยุคดิจิทัล จ่อเพิ่มโทษโพสต์โซเชียลในทางลามก ถ้อยคำหยาบ ชู้สาว สร้างความเสื่อมเสีย หรือหาผลประโยชน์ ชี้ทำผิดโทษตามลำดับและอาจถูกเพิกถอนตั๋วครู
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมว.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือความคืบหน้าการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยในส่วนของกรณีที่สังคมให้ความสนใจ เช่น เรื่องที่เป็นความผิดชัดเจนกรณีอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งใน จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมชู้สาวกับนักเรียนหญิงชั้นม.2 โรงเรียนเดียวกัน โดยมีหลักฐานการแชทคุยทางไลน์ของทั้งคู่ในเชิงชู้สาวนั้นทราบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้นสังกัดลงโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งเจ้าตัวได้ยื่นอุทธรณ์และอยู่ระหว่างการพิจารณา
ดังนั้น ในส่วนของกมว. ก็จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสืบสวนตามขั้นตอน โดยไม่สามารถนำผลการสอบสวนมาใช้ในการพิจารณาเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ เพราะอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง ขณะที่กรณีนายปรีชา ใคร่ครวญ ครูโรงเรียนเทพมงคลรังษี จ.กาญจนบุรี ผู้ต้องหาคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน กรณีสลากกินแบ่งรัฐบาล 30 ล้านบาท หรือหวย 30 ล้านบาท ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาล จากนั้นจึงจะสามารถนำมาพิจารณาได้ว่าผิดจรรยาบรรณในข้อใดบ้าง
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ไปทบทวนจรรยาบรรณวิชาชีพให้มีความทันต่อยุคดิจิตทัล ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผ่านโซเชียลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น โพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพ ข้อความหยาบคาย ด่าทอผู้อื่น ลามก หรือข้อความที่มีนัยเชิงชูสาว หรือกระทั่งข้อความที่เป็นการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีระบุโทษไว้ชัดเจน ดังนั้น ทางกมว. จึงคิดว่า จะเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วย โดยจะระบุจรรยาบรรณทางโซเชียลรวมถึงระบุโทษให้ชัดเจน ซึ่งมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน พักใช้ใบอนุญาตฯ และเพิกถอนใบอนุญาตฯ
“ที่ผ่านมาพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านโซเชียลค่อนข้างมาก แต่ไม่มีการระบุโทษที่ชัดเจนทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพ แต่ไม่เนื่องจากไม่เคยมีการตรวจสอบและระบุโทษ จึงไม่มีการเก็บสถิติและไม่มีการลงโทษ มีเพียงกรณีเดียวคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนแชทคุยทางไลน์กับนักเรียนชั้น ม.2 ซึ่งต่อไปหากครูและบุคลากรทางการศึกษา รายใดที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียทางโซเชียลแล้ว มีผู้ร้องเรียน โดยนำหลักฐาน เช่น ผู้เสียหายแคปหน้าจอมาร้องเรียน ก็อาจถูกลงโทษได้เช่นกัน” รศ.เอกชัย กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ